กิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Construction Learning)

1. ลักษณะ กิจกรรม

1.1 ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความต้องการที่จะ “เลือก” ว่าจะเรียนรู้เรื่องใดก่อนหลัง และให้อิสระในการใช้เวลาและสถานที่ในการค้นคว้าหาข้อมูล ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ผู้เรียนกำหนดขึ้นเอง

1.2 ผู้สอนและผู้เรียน จะเรียนรู้ร่วมกัน “ผู้สอนไม่จำเป็นจะมีความรู้ไปหมดทุกอย่าง และจะไม่มีผู้เรียนคนใดที่ไม่มีความรู้อะไรเลย” ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ในขณะร่วมกิจกรรม เพราะความรู้เก่าที่ครูสะสมมา อาจจะไม่ทันสมัยเท่าความจริงใหม่ที่มีอยู่ในชุมชน และในแหล่งความรู้ที่ผู้เรียนไปค้นคว้ามาก็ได้

1.3 เป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม หรือการเรียนรู้แบบบูรณาการทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ไว้ด้วยกัน ไม่มีการแยกวัตถุธรรม (Object) กับนามธรรม (Subject) เหมือนการเรียนรู้แบบดั้งเดิม เริ่มตั้งแต่สิ่งที่รู้คือความอยากรู้ (แต่อาจจะไม่จริง) จากความอยากรู้ไปสู่การแสวงหาความจริง ไปจนถึงความรู้กับความจริงเป็นสิ่งอันเดียวกัน (one for all – all for one)

1.4 บทบาทของผู้สอน คือผู้อำนวยความสะดวกในด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ สื่อการเรียนรู้ ให้แก่ผู้เรียน ตลอดจนรู้จักใช้กุศโลบายที่จะให้ผู้เรียนรู้จักคิดในสิ่งใหม่ๆ

1.5 “มาตรา” ในการวัดความรู้ ความสามารถ มิใช่มาจากครูผู้สอนแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่มาจาก ผู้เรียนด้วยกันเอง ผู้ปกครอง ชุมชน ก็มีส่วนรวมในการกำหนดมาตราวัดนั้นด้วย

1.6 ผู้เรียนจะพึ่งพากันเองภายในกลุ่ม ใช้ระบบกลุ่มในการควบคุมพฤติกรรมกันเองในขณะเรียน สมาชิกภายในกลุ่มจะมีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจทั้งของตนเองและของกลุ่มไปพร้อมๆ กัน

1.7 กิจกรรมนี้ไม่จำเป็นต้องมีห้องเรียนก็ได้ ห้องเรียนเป็นเพียงที่ประชุมสัมมนา หรือสถานที่พบปะเพื่อแสดงความคิดเห็นของสมาชิกภายในกลุ่ม และเป็นสถานที่เก็บอุปกรณ์ สื่อการเรียนรู้ที่จำเป็น

1.8 “ครู” ในความหมายใหม่ หมายถึง คน สัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติ พระเจ้า

2. วิธีนำกิจกรรมไปใช้ โดยใช้นวัตกรรมต่อไปนี้

2.1 กิจกรรมการสร้างโครงงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ภาษาโลโก้)

2.2 กิจกรรมโครงงานอินเตอร์เน็ต

2.3 กิจกรรมสร้างคุณภาพจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Q.C.C. : Quality Construct Circle)

2.4 กิจกรรมวิปัสสนาจอแก้ว

2.5 กิจกรรมเครือข่ายคุณธรรม (HolyNet)

กิจกรรมโครงงานอินเตอร์เน็ต

ลักษณะกิจกรรม

1. ผู้เรียนค้นคว้าความรู้ในเวบไซต์ต่างๆ ที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ต แล้วคัดลอกข้อความ ภาพ เสียง มาเป็นข้อมูลที่จะใช้ต่อไป

2. แลกเปลี่ยนข้อมูล ที่เป็นข้อความ ภาพ เสียง ระหว่างสมาชิก หรือสอบถามปัญหา ผ่านบริการไปรษณีย์อิเลกทรอนิกส์ (E-Mail)

3. จัดระเบียบความรู้ (ในรูปของวารสาร สิ่งพิมพ์อิเลกทรอนิกส์ โปรแกรมประเภท Presentation และ CAI) ที่ได้จากข้อ 1 และข้อ 2 แล้วนำเสนอบนอินเตอร์เน็ต

4. ผู้เรียนและผู้สอน บันทึกความเห็น แลกเปลี่ยนกัน

5. ผู้เรียนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ควรผ่านการฝึกอบรมเข้ม (เข้าค่าย) การใช้เครื่องมืออินเตอร์เน็ต

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์ คุ้มค่ากับการลงทุน

2. เพื่อลดช่องระหว่าง “สิ่งที่รู้” กับ “ความอยากรู้” เพราะอินเตอร์เน็ตจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากต่อการเรียนรู้

3. เพื่อให้ผู้เรียนและผู้สอนวางแผนทำงานร่วมกันได้

กิจกรรม
1. ผู้เรียนและผู้สอนจัดทำกำหนดการเรียนรู้ร่วมกัน (ไม่เรียกว่ากำหนดการสอน เพราะผู้เรียนก็มีส่วนร่วมด้วย) ตามที่มีอยู่ในเอกสารหลักสูตร

2. ผู้เรียนและผู้สอนกำหนดเกณฑ์การประเมินผลร่วมกัน (ผู้สอน ตัวผู้เรียนเอง สมาชิกภายในกลุ่ม ผู้ปกครองหรือชุมชน)

3. ผู้เรียนประชุมเลือกหัวเรื่องที่จะจัดกิจกรรมการเรียน ตามข้อ 1.

3.1 กำหนดวัตถุประสงค์ของหัวเรื่อง

3.2 บอกเหตุผลที่เลือกเรียนในหัวเรื่องนั้นๆ

3.3 บอกผลที่คาดว่าจะให้เกิดขึ้นในขณะและหลังกิจกรรมสิ้นสุดลง

3.4 แบ่งหัวเรื่องออกเป็นหัวข้อย่อย แล้วแบ่งงานให้สมาชิกภายในกลุ่มไปค้นคว้าข้อมูล ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา

4. ผู้เรียนออกหาข้อมูลตามข้อ 3.4 ในแหล่งต่างๆ

5. ผู้เรียนประชุมคัดเลือก จัดสรร เรียบเรียง ข้อมูลที่ได้มา เพื่อให้สอดคล้องกับเครื่องมือ (โปรแกรมสร้างวารสารสิ่งพิมพ์อิเลกทรอนิกส์) โดยมีผู้สอนเป็นที่ปรึกษา และคอยให้ความสะดวกต่างๆ

6. ลงมือสร้างโครงงาน และนำเสนอเป็นระยะตามแต่จะตกลงกัน ทุกครั้งที่มีการนำเสนอจะมีการประเมินผลไปพร้อมกันด้วย โดยบันทึกแสดงความเห็นทั้งของผู้นำเสนอ และผู้รับฟัง ดังนี้

6.1 ผู้นำเสนอ

- บอกสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว

- บอกปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น และวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว

- บอกความพึงพอใจกับงานที่ทำไปแล้ว (ผู้เรียนประเมินตัวเอง)

- บอกความต้องการที่จะทำต่อไป (แม้จะยังทำไม่ได้ในตอนนี้)

6.2 ผู้รับฟัง (เพื่อนนักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง ผู้ทรงคุณวุฒิ ฯลฯ)

- ความคิด ความรู้ และประโยชน์ที่ได้จากการดูผลงาน

- บอกความพึงพอใจ หรือข้อควรแก้ไขในผลงาน (ประเมินผู้เรียน)

7. นำเสนอผลงานครั้งสุดท้าย พร้อมกับให้คะแนน

8. เริ่มกิจกรรมที่ข้อ 3 ใหม่

หลักเกณฑ์การประเมินผล

1. เกณฑ์การประเมินมาจาก 3 ส่วน คือ ผู้เรียนประเมินตนเอง ครูผู้สอน และจากเพื่อนนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้ทรงคุณวุฒิจากชุมชน

2. ไม่ควรใช้มาตราที่เป็นคะแนนตายตัว อาจเป็น ร้อยละ หรือระดับ ดีมาก ดี ผ่าน ปรับปรุง เป็นต้น เพราะมาตราวัดผู้เรียนมีสิทธิกำหนดเองได้ ส่วนการลงคะแนนใน ป.02 เป็นส่วนของผู้สอน นักเรียนจะไม่มีส่วนรับรู้

เครื่องมือและแหล่งค้นคว้าหาข้อมูล

1. อินเตอร์เน็ต WWW, E-Mail, CD-ROM

2. กล้องถ่ายภาพ Dijital Camera หรือเครื่อง Scanner

3. ห้องสมุด หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ ใบปลิว

4. วิดีโอ โทรทัศน์

5. คำบอกเล่าจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

6. ที่ประชุมสัมมา

7. งานเทศกาลต่างๆ

โปรแกรมที่ใช้ในการจัดกิจกรรม

1. Internet Explorer

2. Macromedia Firework

3. MicroWorlds Pro

4. Word Processor

การเตรียมตัวของผู้สอน (บทบาท และหน้าที่)

1. เปิดใจให้กว้าง รับเทคโนโลยีใหม่ๆ

2. เรียนรู้ทักษะพื้นฐานคอมพิวเตอร์ และทักษะการใช้โปรแกรมเครื่องมือในระดับที่น่าพอใจ

3. จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์สำหรับผู้เรียน ตลอดจนสื่อต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียนตามอัตภาพ (เท่าที่มีงบประมาณ เวลา และความสามารถ)

บทบาทและหน้าที่ของผู้บริหาร (ผู้บริหาร ผู้ช่วย และหัวหน้างาน)

1. มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

2. ทำตัวให้ว่างๆ เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรม และให้กำลังใจแก่ผู้สอน

3. ติดต่อ แนะนำ หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ในท้องถิ่น ที่พอจะเป็นแหล่งข้อมูลให้ครูผู้สอนพานักเรียนไปจัดกิจกรรมนอกสถานที่ได้

4. ประกาศวิสัยทัศน์ในการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ให้ผู้ปกครอง และชุมชนเข้าใจ และสนับสนุนกิจกรรมนี้

 

-------------------------------------------------------------------------------------------------

 

กิจกรรมการสร้างโครงงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ภาษาโลโก้)

กิจกรรมสร้างคุณภาพจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Q.C.C. : Quality Construct Circle)

กิจกรรมวิปัสสนาจอแก้ว

กิจกรรมเครือข่ายคุณธรรม (HolyNet)

 

ถ้าท่านสนใจกิจกรรมเหล่านี้โปรดขอรายละเอียดได้ที่

อ.สู่ดิน ชาวหินฟ้า โดยจดหมายไปที่ sudin.expert@yahoo.com พร้อมบอกที่อยู่ e-mail ของท่าน จะสะดวกที่สุด