igoodmedia network
Mountain Bike Tour
- Close

[4 คืน 5 วัน ศีรษะเกษ-พิษณุโลก]
[ศึกษาธรรมชาติ ที่วังดินสอ]



 

4 คืน 5 วัน ศีรษะเกษ - พิษณุโลก

ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2544 ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงาน ปลุกเสกพระแท้ๆ ของพุทธ ครั้งที่ 25 งานอบรมพัฒนาประชาธิปไตย ด้วยการเมืองระบบบุญนิยม ครั้งที่ 2 และงานสัมมนาชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติมั่นคง (สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อสังคม: SIF) ครั้งที่ 2 ทั้งสามงานจัดพร้อมกัน วันที่ 1-7 เมษายน 2544 ที่พุทธสถานศีรษะอโศก ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับชุมชนวัฒนธรรมศีรษะอโศก หมู่ 15 ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีษะเกษ มีเนื้อหาสาระเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต จากที่เคยชินอยู่กับการตามใจตนเอง ไร้ระเบียบ ไม่สนใจปัญหารอบข้าง การเมือง เศรษฐกิจสังคม จะเป็นอย่างไรก็ช่าง ขอให้เราอิ่ม สุข อร่อย ก็พอ มาเป็นคนที่หัดลดละ ลดการตามใจตัวเอง ลดการบริการตัวเองลง เพื่อจะได้มีพลัง แรงงาน แรงปัญญา ไปช่วยเหลือสังคม ที่กำลังเจ็บป่วยอยู่ ที่รอวันแตกสลาย เมื่อสังคมแตกสลาย เราก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ผมมีโอกาส และเป็นโอกาสที่ผมจะต้องแสวงหา งานเขาจัดทุกปีครับ ในช่วงต้นเดือนเมษายน ใครที่สงสัย อยากรู้ อยากลอง ในสิ่งที่ไม่เคยสัมผัสเลยในชีวิต ปีหน้าก็ลองไปดูครับ จะเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งของรสชาดชีวิต ที่ผมรับประกันได้ว่า ในชาตินี้รับรองท่านจะไม่มีวันพบเห็น บรรยากาศ และความซึมซับ ความอบอุ่น ความประทับใจ อย่างนี้มาก่อนเลยในชีวิต....อย่าเพิ่งเชื่อผม จนกว่าท่านจะไปพบเห็นด้วยตัวเอง แต่ปีนี้มันเลยไปแล้ว อยากจะดูภาพบรรยากาศงานก็ลองคลิกไปที่ "งานปลุกเสกพระแท้ๆ ของพุทธ ครั้งที่ 25" ดูซิครับ

สมาชิกท่านใด สนใจ ปีหน้าค่อยมานัดแนะกัน ว่าจะไปกันอย่างไร....ผมน่ะ ต้องไปทุกปีอยู่แล้ว

ผมไปอย่างไร อยู่อย่างไร ไปทำอะไร กลับอย่างไร แล้วได้อะไร

ขาไป ไปพร้อมกับญาติธรรมชาวศาลีอโศก (อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์) นำจักรยานขึ้นรถยนต์ไปด้วย จากพุทธสถานศาลีอโศก อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2544 เวลา 07.00 น. ถึง พุทธสถานศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีษะเกษ เวลา 16.00 น. ถึงแล้วเตรียมหาสถานที่พัก สภาพที่พักจะเป็นป่ามีต้นไม้เล็กๆ ขึ้นเต็มไปหมด ทุกคนที่ไปร่วมงาน จะต้องเตรียมที่นอนไปเอง ทุกคนทราบดีว่า เรามาขัดเกลา มิใช่มาโอ๋ตัวเอง มาฝึกลดละ มิใช่มาฟุ้งเฟ้ออยู่สบายๆ ซึ่งสเปคนี้ สำหรับชาว MTB แล้ว ก็พอทนได้ เลยไม่มีปัญหาอะไร เพราะไปไหน เราก็จะมีเต็นท์ติดไปอยู่แล้ว เรื่องลำบากเราไม่กลัว

อาหารการกินอยู่ ก็กินมื้อเดียว เหมือนกันหมด (เขาทำกันมา 24 ปีแล้ว ไม่มีใครบ่น เพราะเคยชินแล้ว) ทุกคนจะปฏิญญาณตนถือศีลแปด (ศีลแปด ที่ไม่แปดเปื้อน) ตลอดงานเจ็ดวัน กิจกรรมก็นั่งฟังธรรมจากเกจิอาจารย์ นักบวชฝ่ายชาย เรียกว่า สมณะ ฝ่ายหญิง เรียกว่า สิกขมาตุ ในงานนี้ มีพระมาร่วมงานก็หลายรูป มีประชาชนมาร่วมงานประมาณ 2,500 คน ที่นี่อาหารการกิน อุดมสมบูรณ์มาก ข้าวกล้อง เห็ด ถั่ว และผักที่ใช้เลี้ยงคนในงานทุกคน เป็นผักปลูกเองไร้สารพิษทั้งหมด ไม่มีเนื้อสัตว์ ไม่มีการเบียดเบียนใดๆ นับเป็นงานบุญแท้ๆ จริงๆ

กิจกรรมเริ่มจากตื่นตีสามครึ่ง มาสวดมนต์ทำวัตรเช้า จากนั้นฟังธรรม เรื่อง อีคิวโลกุตระ (มีทุกวัน) โดยสมณะโพธิรักษ์ จนสว่าง แล้วใส่บาตรตอนเช้า ก่อนจะขึ้นศาลาฟังธรรมก่อนฉัน ก็มีกิจกรรมอื่นๆ ให้ศึกษา เช่น กสิกรรมไร้สารพิษ ปุ๋ยชีวภาพ สมุนไพรแปรรูป ผลิตภัณฑ์อาหารจากถั่วและเห็ด สนทนาปัญหาเหตุบ้านการเมืองและทางรอด สนทนาธรรมทุกข์ปัญหาชีวิต ประชุมกลุ่มกิจกรรมต่างๆ หลังฟังธรรมก่อนฉัน สักสี่โมงเช้า ก็ตักอาหาร (จะมีถาดอาหารเลื่อนมาให้ตัก โดยที่คนตักไม่ต้องลุกจากที่) เสร็จแล้ว ก็พิจารณาอาหารก่อน จากก็นั่งรับประทานไปจนถึงเที่ยงวันพอดี (ประมาณหนึ่งชั่วโมง) รับประทานพร้อมกันทั้งนักบวชและฆราวาส ตอนล้างจาน ก็มีกิจกรรม "ล้างจาน ล้างใจ" ให้ปฏิบัติกันอีก สนุกครับ ไม่เหมือนกับที่เคยทำ คือ จะใช้ฟองน้ำเช็ดจานให้เอี่ยมก่อน เรียกว่า "ล้างจานชุดเล็ก" แล้วจึงนำไปจุ่มล้างใน กะละมังใหญ่ เรียกว่า "ล้างจานชุดใหญ่" ก็คนตั้งสองพันคน ถ้าจัดการไม่ดี รับรองสกปรกแน่ๆ แต่ที่นี่สะอาดดี สงบดี ไม่มีเสียงเอะอะโวยวายใดๆ

กินอิ่มแล้ว ใครใคร่จะสนทนาธรรม ก็ไป ใครที่ติดภาระประชุมก็ไป ใครมีหน้าที่ทำอะไรก็แยกย้ายกันไปทำหน้าที่ (ทุกคนรู้หน้าที่กันดี ยกเว้นประชาชนที่มาใหม่ ส่วนใหญ่จะไปดูการสาธิตการทำผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน และการปลูกผักไร้สารพิษ หรือไม่ก็ไปสนทนาธรรมกันสมณะเกจิ หรือสิกขมาตุเกจิ)

พอถึงกิจกรรมภาคบ่าย เริ่ม 14.00 น. - 16.00 น. จะมีสมณะขึ้นเทศน์เทศน์โต้ตอบกัน และมีนักวิชาการมาบรรยายเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ ให้ความรู้ด้านการเมืองในระบบบุญนิยม เมื่อหมดเวลาทุกคนก็แยกย้ายกันไปทำกิจ เหมือนตอนกินข้าวเสร็จแล้ว

ถึงเวลาค่ำ 18.00 - 20.00 น. จะมีรายการพิเศษภาคค่ำ ไม่ใช่การแสดง แต่ก็เป็นการบันเทิงด้วยสาระของจริง โดยเชิญผู้ที่ "ทำได้จริง" ขึ้นไปพูดให้ผู้มาร่วมงานฟัง ถึงสิ่งที่ตนเองทำได้ เป็นได้แล้วจริง ทุกคนที่ขึ้นไปพูด จะถูกคัดเลือกไว้แล้ว เป็นตัวจริง ไม่ใช่นักวิชาการ เราจึงเรียกว่า "ปฏิบัติกร" มิใช่ "วิทยากร" จะถามว่า ไปทำอะไรมาบ้าง เช่น ทำกสิกรรมไร้สารพิษ ทำหัตถกรรมพึ่งตนเอง รายการดำเนินไปจนถึงสองทุ่ม ทุกคนก็แยกย้ายกันไปนอน เพื่อรอเริ่มกิจกรรมในวันใหม่ต่อไป

ผมทำหน้าที่ถ่ายภาพนิ่ง ตลอดงาน และได้นำเสนอภาพเหตุการณ์ขึ้นเวบไซต์ แต่สิ่งที่ผมได้รับ มันมีค่าสำหรับคนไทย เพราะทำให้เราได้รู้ว่า ยังมีพี่น้องชาวไทยอีกมาก ที่ทุกข์ยาก ถูกเอารัดเอาเปรียบจาก นายทุน อย่างอยุติธรรม นี่มิใช่กรรมเก่าของเกษตกรไทย แต่เพราะถูกกระทำจากระบบทุนนิยม เลยทำให้รู้ว่า "คนที่ฉลาดเฉโก หรือ คนที่มีไอคิวสูง แต่ อีคิวต่ำ หรือ 'ความฉลาด' ของคนที่ 'อวิชชา' จะสร้างปัญหาให้แก่ตัวเอง และสังคม ประเทศชาติ ได้อย่างแสบเผ็ดที่สุด ร้ายแรงสุดสุด และคุณสมบัติเลวๆ ร้ายๆ อย่างนี้ มักจะไปอยู่ที่กลุ่มนักการเมือง กลุ่มนายทุน และกลุ่มผู้มีอิทธิพล เกือบทั่วประเทศ นี่คือสิ่งที่เป็นอันตรายไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นอันตรายต่อทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก

ครบเจ็ดวัน วันที่ 7 เมษายน 2544 หลังกินข้าวเสร็จ เตรียมเดินทางไกลด้วยจักรยาน กลับ จ.พิษณุโลก ด้วยเส้นทางที่ไม่เคยผ่านมาก่อน แต่ก็ตั้งใจว่า ถึงอย่างไรก็ต้องกลับให้ถึงบ้าน อุปกรณ์ที่นำติดตัวไป ต้องพร้อมเสมอ ได้แก่ ยางอะหลั่ย สูบ กุญแจหกเหลี่ยมขนาดต่างๆ กุญแจล็อกรถ กระติกใส่น้ำดื่ม ตะแกรงสำหรับผูกกระเป๋า นาฬิกาวัดระยะทาง ไฟฉาย นกหวีด กระดิ่ง กระจกมองหลัง ไฟท้าย หมวก รองเท้าที่ยึดกับบันไดรถจักรยานได้ ถุงมือ เสื้อสะท้อนแสง ส่วนอุปกรณ์เครื่องนอน ก็มีพลาสติกรองพื้นปูนอน พลาสติกปูนอน (แทนเสื่อ) มุ้งกลด ผมใช้แผ่นสำหรับบังแดดรถยนต์ชนิดกลม (สองชิ้น) แล้วนำผ้ามุ้งมาเย็บรอบๆ ทำเป็นกลด เวลาเก็บจะสะดวกมาก มีเชือก สำหรับแขวนมุ้ง เสื้อผ้าไม่เกิน สามชุด สมุดบันทึก และ เสื้อกันฝน น่าเสียดายที่ไม่ได้นำกล้องถ่ายภาพติดตัวไปด้วย

เวลา 12.00 น. ออกเดินทาง จากพุทธสถานศีรษะอโศก ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีษะเกษ ตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 24 ไปจนถึง อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ระยะทาง 82 กม. เนื่องจากเป็นวันแรกของการเดินทาง รู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อต้นขาเล็กน้อย วันนี้อากาศร้อน ท้องฟ้าโปร่งตลอด ในระหว่างทาง พบน้องๆ นักศึกษา จากโคราช ขี่รถจักรยานภูเขาสวนทางมา จะกลับบ้านที่จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างพักได้ทักทายปราศรัยกันพอสมควร และได้ขอดูแผนที่การเดินทาง พร้อมได้แนะนำว่า ถ้าเดินทางด้วยเส้นทางหมายเลข 24 ตรงไปจนถึง อ.สีคิ้ว แล้วเลี้ยวขึ้นเหนือผ่าน อ.ชัยบาดาล จะสะดวกกว่า ก็เลยขอบคุณ แต่ผมต้องการจะเดินด้วยเส้นทางลัดให้มากที่สุด

คืนนี้นอนที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง เลยตลาดอำเภอสังขะ ไปเล็กน้อย ขออาบน้ำก่อน ดูเหมือนเจ้าของปั๊ม ไม่ค่อยไว้ใจผมสักเท่าไร ก็เลยแนะว่าให้ไปนอนที่ซุ้มหน้าปั๊ม แต่ผมเห็นว่าใกล้ถนนเกินไป เกรงจะมีเสียงรถรบกวน และไม่ปลอดภัย เลยขอนอนสนามหญ้าท้ายปั๊ม ติดกับห้องน้ำ มีกลิ่นห้องน้ำโชยมาเป็นระยะ แต่ลมแรง ช่วยพัดให้กลิ่นไปทางอื่น ผ่านไปสักสามทุ่ม อากาศจึงได้เย็นลง นอนหลับสบายดี

ใจที่ไม่ผูกติด หรือติดยึดกับความสบายจนเกินไป จะทำให้อยู่ได้ไม่ทุกข์ แม้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่คนปกติธรรมดาทั่วไป รับไม่ได้ นี่เป็นเพราะได้รับการฝึกจิต ปรับใจมาก่อน จึงนอนในสถานที่เช่นนี้ได้

ตื่นตอนตีสี่ครึ่ง กว่าจะเก็บของออกเดินทางก็เวลาตีห้าพอดี ออกเดินทางต่อ ด้วยเส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 2077 มุ่งหน้าตรงไปจังหวัดสุรินทร์ บรรจบกับเส้นทางหมายเลข 226 ที่จังหวัดสุรินทร์ แวะรับประทานอาหารเช้าที่นั่น สั่งผัดผักบุ้งไฟแดงกับข้าวเปล่า ก็อิ่มได้ เพราะปกติผมรับประทานอาหารมังสวิรัติอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาอะไร อย่างดีก็หากล้วยน้ำว้าสักหวีติดตัวไปด้วย หิวเมื่อไรก็กินได้เลย

วันนี้อากาศร้อนพอสมควร ท้องฟ้าโปร่ง ตลอดวัน ผ่านตัวเมืองบุรีรัมย์ แวะซื้อพลาสติกปูนอน ร้านแขกขายผ้า เจ้าของร้านเป็นคนหนุ่มใจดี ซื้อพลาสติกผืนเดียว บริการน้ำเย็นสองแก้ว แนะนำเส้นทาง พร้อมมอบแผนที่เดินทางให้ด้วย และสนทนาถึงเรื่องรถ เพราะกำลังจะซื้อรถจักรยานสักคัน ดูเป็นกันเองดี เรียกว่าถูกคอกัน น่าเสียดายที่ไม่ได้ถามชื่อ แต่ก็จำร้านได้ ออกจากตัวเมืองบุรีรัมย์ ตรงไปยังอำเภอลำปลายมาศ (ทางหลวง 226)

เส้นทางสายนี้ ไม่ค่อยมีรถยนต์วิ่ง เนื่องเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ปั๊มน้ำมันหลายแห่งถูกปิด ระว่างทางอากาศร้อน ก็เลยถือโอกาสแวะ ลงอาบน้ำ ที่สระข้างทาง (ลงจุ่มตัวในสระ) แต่บังเอิญเป็นสระน้ำที่ชาวบ้านหวงห้ามไว้สำหรับดื่ม แต่ผมไม่ทันสังเกต และก็ไม่ได้ขออนุญาต จึงมีคนมาบอกว่าห้ามอาบน้ำในสระ แต่ตัวเราก็เปียกไปแล้ว ก็เลยบอกขอโทษ และขอพักตากผ้าให้แห้งก่อน รับประทานอาหารกลางวันไปด้วย มีชาวบ้านผู้ชายคนหนึ่งมานั่งคุยด้วย คงมาตรวจสอบผมด้วยว่าเป็นใคร มาจากไหน เล่าถึงเรื่องความทุกข์ยากในการทำมาหากิน เรื่องเยาวชนติดยาบ้า นั่งพักนานพอสมควร จนผ้าแห้ง จึงเก็บของเดินทางต่อ

ขี่รถไปเรื่อยๆ จนใกล้ค่ำ ได้ที่พักเป็นวัด เขากำลังมีพิธีสวดอภิธรรมศพ เจ้าของงานก็เลยต้อนรับด้วยน้ำดื่มอย่างดี ก็เลยแนะนำตัวเองว่าเป็นใคร มาจากไหน จะไปไหน มีตอนหนึ่งเขาถามถึงราคารถ ผมก็ไม่กล้าบอกราคาจริง จึงบอกไปว่าหมื่นกว่าบาท จากนั้น ก็ขออนุญาตพระ ขอพักค้างคืนหนึ่ง ไม่มีปัญหาอะไร พอมืดก็อาบน้ำ กางกลดนอนที่พื้นดินใต้โคนไม้ ห่างจากศาลาสวดศพ สัก 80 เมตร ไม่มีใครรบกวนดี เนื่องจากเป็นเส้นทางระหว่างอำเภอ จึงไม่ค่อยมีรถวิ่งผ่าน วันนี้เดินทางมาได้ 145 กม. เนื่องจากพักบ่อย และพักนาน จึงได้ระยะทางต่ำกว่าเป้าหมาย (เป้าหมาย จะต้องให้ได้ระยะทางไม่ต่ำกว่า 150 กม. ต่อวัน) คืนนี้นอนหลับสบายดี

ตีห้าสิบนาที ออกเดินทางต่อ (ทางหลวง 226) ตรงไปยัง อำเภอห้วยแถลง เข้าเขตจังหวัดนครราชสีมา ถึงอำเภอจักราช แล้วตรงไปโคราช แต่ไม่ถึง ถามตำรวจป้อมยามให้บอกเส้นทางลัดไป ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เพื่อไปอำเภอโนนไทย ถึงตอนนี้ ใช้เส้นทางลัด คดเคี้ยวพอสมควร ผ่านลาดยางผสมทางดินเล็กน้อย ผ่านวัดพนมวัน ไปบรรจบเส้นทางหมายเลข 205 (ห่างจากตัวจังหวัดโคราช 7 กม.) แยกไปอำเภอโนนไทย บ่ายวันนี้อากาศร้อนมาก บ่ายสามโมง มีลมและฝนตกลงมาแบบไม่รู้ตัว เปียกนิดหน่อย เพราะใส่เสื้อกันฝนไม่ทัน เพียงครู่เดียวฝนก็หยุด แต่แดดยังจัดอยู่ ก็ขี่รถไปเรื่อยๆ จนถึงสี่แยกหนองบัวโคก เสื้อผ้าก็แห้งพอดี ออกจากสี่แยกหนองบัวโคก แยกไปจังหวัดชัยภูมิ ปรากฏว่าไปผิดทาง เลยไปตั้ง 2 กม. ต้องเสียเวลาย้อนกลับไปที่สี่แยกเหมือนเดิม แต่คราวนี้เปลี่ยนเส้นทางไปทางอำเภอชัยบาดาล (ตามป้ายบอก) เข้าเขตอำเภอบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ได้สักหน่อยก็มืดพอดี ไม่รู้ว่าจะนอนตรงไหนดี ก็เลยแวะวัดข้างทาง สังเกตประตูโบสถ์ ประตูศาลา ถูกปิดลั่นกุญแจ ทุกบาน พอเข้าไปขออนุญาตจากเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสก็ออกตัวว่า ที่วัดนี่ไม่เหมาะ ขโมยเยอะ กลัวเราจะเป็นเป็นอันตราย ให้ไปขอนอนที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน แต่ผมคิดในใจว่า พระท่านคงกลัวเราจะเป็นคนร้ายแอบแฝงมา เพราะที่วัดนี่มีพระอยู่รูปเดียว

จึงอยากบอกเพื่อนร่วมเดินทางว่า ไม่ทุกวัดนะครับที่จะพักได้ ก็ขอให้เผื่อไว้บ้าง ผมก็เลยจำยอมไปขอนอนที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ทราบชื่อภายหลังว่า ผู้ใหญ่บุญ สัญจรโคกสูง เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.หัวทะเล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ผมแนะนำตัวเอง ผู้ใหญ่ขอดูบัตรประจำตัว ความจริงผมน่าจะแนะนำตัวพร้อมยื่นบัตรประจำให้ดูด้วย ถือเป็นมารยาทที่ดีในการขอพักอาศัย กับคนที่ไม่รู้จักเรา ดังนั้น เพื่อนชาวจักรยานทุกคน ถ้าคิดจะไปพักบ้านใคร ขอให้แนะนำตัวพร้อมยื่นบัตรประจำตัวให้เจ้าของสถานที่ดูด้วย

ผู้ใหญ่บ้านต้อนรับผมเป็นอย่างดี อาบน้ำเสร็จ เลี้ยงข้าวเย็นอีกมื้อ จะปฏิเสธก็กะไรอยู่ เพราะท่านเล่นยกสำรับข้าวมาวางไว้ข้างที่นอน ผมก็เลยเลือกกินที่เป็นน้ำพริก (ที่ผมนำติดตัวไปตั้งแต่วันออกเดินทางวันแรก) กับผัก ตามวิธีการของนักมังสวิรัติ รวมระยะทางวันที่สามของการเดินทาง 166 กม. ไม่ค่อยได้พัก และทำเวลาชดเชยเมื่อวันก่อน

ผมรู้สึกขอบคุณน้ำใจของผู้ใหญ่บ้านบุญ ที่ให้การต้อนรับอย่างดี โอกาสหน้าถ้าผ่านไปอีกจะแวะขอบคุณอีกครั้ง รุ่งเช้าอำลาผู้ใหญ่บ้าน เดินทางต่อตอนตีห้าเศษๆ มุ่งหน้าไปตามเส้นทางเดิม (ทางหลวง 226) ถึงทางแยกไปอำเภอบำเหน็จณรงค์ แวะกินข้าวเช้า สายๆ ขี่ตรงไปทางอำเภอบำเหน็จณรงค์ ตามทางหลวงหมายเลข 2069 ไปจนถึงตลาดบ้านนายางกลัก แล้วเลี้ยวซ้ายไปบ้านซับใหญ่ ตามทางลาดยาง ที่ไม่มีหลักกิโลเมตรบอก ถึงทางแยกบ้านซับใหญ่เลี้ยวขวาไปทางอำเภอภักดีชุมพล จะไปบรรจบกับถนนสาย 226 (ภักดีชุมพล-ชัยภูมิ) ตอนนี้ขึ้นเขาเล็กๆ เปลี่ยนบรรยากาศ สดชื่นเล็กน้อย เพราะผ่านป่าและเขา แต่อากาศก็ร้อนขึ้นกว่าเมื่อวาน

ก่อนถึงตลาดอำเภอภักดีชุมพล ก็เหนื่อยนิดหนึ่งกับการปีนเขา แต่ก็ไม่สูงชันมากนัก จนถึงยอดเขาพังเหย แวะชมทิวทัศน์เมืองภักดีชุมพล ทักทายกับคนอิสาน เป็นที่สบายใจ ต่อจากนี้จะเป็นทางลงเขาตลอด ไม่ได้วัดระยะทางไว้จึงไม่ทราบว่ายาวเท่าไร แต่ลงไปจนสุดถึงตลาดอำเภอภักดีชุมพล สนุกและสดชื่นกว่าทุกวันมาก เพราะได้ขี่รถลงเขาตลอด แวะกินข้าวที่ตลาด แล้วออกเดินทางต่อไปได้สักชั่วโมง ฝนตกหนักมาก จึงแวะพักหลบฝนที่ปั๊มน้ำมันเล็กๆ พอฝนหยุดก็เกือบมืดพอดี ไม่รู้เหมือนกันว่าจะนอนตรงไหน พอดีในขณะพักหลบฝน ก็มีรถปิกอัพบรรทุกพระสามเณร จะไปเพชรบูรณ์ ก็เลยขอติดรถไปด้วย (10 กม.) ขอลงตรงทางแยกถนนหมายเลข 2275 (เพชรบูรณ์ - วิเชียรบุรี) มืดพอดี เลยขอแวะพักที่วัดข้างทาง วัดนี้เจ้าอาวาสใจดี ดูไม่ค่อยสนใจผมเท่าไร พอขออนุญาตนอนพักค้าง ก็อนุญาตทันที แล้วท่านก็ดูทีวีต่อ แล้วก็ไม่สนใจผมอีกเลย คืนนี้อากาศร้อนมาก นอนไม่ค่อยหลับ วันนี้ขี่ได้ระยะทางรวม 128 กม. (เสียเวลาตอนขึ้นเขา แต่ก็ได้เส้นทางลัด)

อย่างไรเสียวันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายของการเดินทางไกล หรือเป็นวันปัดเศษ เหลือระยะทางเท่าไรก็เหมาหมด ออกเดินทางก่อนตีสี่เล็กน้อย วันนี้ยังไม่เมื่อยล้า แต่เจ็บบริเวณก้นเล็กน้อย สำหรับคนเดินทางไกล ก้นถือว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นส่วนที่สัมผัสกับอานอยู่ตลอดเวลา ต้องรักษาไว้ให้ดี โดยเฉพาะอย่าให้เปียกน้ำเด็ดขาด ถ้าก้นถลอกเมื่อไรก็จบกัน แต่ผมไม่มีปัญหาอะไร (จะเรียกว่า ก้นหนา แต่หน้าบาง ก็ได้)

พอใกล้ถึงบ้านก็ยิ่งมีกำลังใจ กิเลสก็เริ่มอ้อนหนัก ตรงที่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็โทร.ให้คนไปรับระหว่างทางก็ได้ ถ้าทำอย่างนั้น ก็เสียศักดิ์ศรีของนักปั่นทางไกลแน่ๆ มันแว๊บๆ เข้ามาเหมือนกัน แต่ถ้ามุ่งมั่นก็ชนะมันได้ ขี่ไปเรื่อยๆ ผ่านสี่แยกอำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ ถึงตลาดอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ตอนสายๆ ช่วงนี้ไม่ได้พักเลย ก็เลยถือโอกาสแวะกินข้าวเช้า

คราวนี้ถึงถิ่นเราแล้ว ขี่ตรงขึ้นเหนืออย่างเดียว ผ่านตลาดเขาทราย วังทรายพูน สากเหล็ก ก่อนถึงอำเภอวังทอง แวะทางลัดผ่านตำบลแม่ระกา บ้านวังน้ำใส บึงพระ เข้าสู่ตัวเมืองพิษณุโลก ถึงร้านอาหารคุณเอื้อง ข้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่) เวลาทุ่มตรงพอดี ถึงตรงนี้อยากจะบอกเพื่อนนักเดินทางลัดว่า ทางลัดเข้าทางตำบลแม่ระกาเข้าตัวเมืองพิษณุโลก โดยไม่ผ่านอำเภอวังทอง ย่นระยะทางให้เพียง 3 กม. เท่านั้นเอง ทางก็ไม่ดี สู่อ้อมเข้าวังทอง จะดีกว่าครับ ทางดีกว่ากันเยอะเลย

วันสุดท้ายขี่ได้ 193 กม. (เป็นสถิติใหม่ที่ผมทำได้ เดิม 180 กม.) รวมระยะทางจากอำเภอกันทรลักษ์ ถึง อำเภอเมืองพิษณุโลก 720 กม. ใช้เวลาเดินทาง สี่วันครึ่ง

ผมตัดสินใจลงทุนซื้อจักรยานดีๆ สักคัน เมื่อราวเดือนสิงหาคม 2542 ตอนนั้นค่าเงินบาทยังแพงอยู่ ซื้อรถดีๆ ได้ก็ต้องควักกระเป๋าไป 45,000 บาท (ตอนนั้น จักรยานยนต์ Honda รุ่น Tena RS 42,000 บาท) กะว่าจะใช้มันไปตลอดชีวิต และก็ได้รถคันนี้นี่แหละเป็นพาหนะคู่ชีพ ขี่ไปทำงานทุกวัน สุขภาพแข็งแรงดี ไม่เคยมีอุบัติเหตุ

ผมเคยขี่ทางไกล เริ่มแรกจาก เด่นชัย ถึง ลำปาง 100 กม. วันเดียวเต็มๆ เมื่อสองปีก่อน และ แพร่ ถึง พิษณุโลก 180 กม. สองเที่ยว เมื่อปีที่แล้ว และเมื่อปีใหม่ 2543 จากขอนแก่น ถึง อุบลราชธานี 310 กม. ใช้เวลาเดินทาง 2 วัน และคราวนี้ ห้าวัน 720 กม. ก็ได้ประสบการณ์ ผจญภัยเล็กน้อย ได้ต่อสู้กับอากาศที่ร้อน ความเมื่อยล้า ส่วนความหิว ผมไม่มีปัญหา เพราะได้อานิสงส์ของการกินมังสวิรัติ ใครที่เป็นนักมังสวิรัติที่เกิน 7 ปีไปแล้ว น้ำย่อยจะเปลี่ยนสภาพเป็นด่าง ไม่กัดกะเพาะ เมื่อยามหิว จึงรู้สึกไม่รุนแรงเหมือนคนทานเนื้อสัตว์ ผมว่านะ นักปั่นจักรยานควรหันมาทานมังสวิรัติ จะทำให้อดทนยิ่งขึ้นกว่าเดิม 20% อีกอย่าง ผมไม่เครียดในขณะเดินทาง โดยเฉพาะตอนขึ้นเขา และตอนอากาศร้อน ผมจะตั้งสติให้ดี ค่อยๆ ปั่น สายตามองไปข้างหน้าแค่ 3-4 เมตร ไม่เร่ง แต่ขี่ไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลา มันก็จะถึงเป้าหมายเอง ไม่ต้องกังวล ว่าจะนอนที่ไหนดี จะมีร้านขายอาหารที่เราชอบหรือไม่ เมื่อถึงเวลา มันก็จะมีให้กินเอง มืดที่ไหนก็นอนที่นั่น ที่นอนเราก็เตรียมพร้อมอยู่แล้ว

ความรู้สึกต่างๆ ในขณะเดินทาง จึงเป็นเรื่องสำคัญ ได้ฝึกหัด ได้บทเรียน โดยเฉพาะได้เรียนรู้จิตใจของตัวเอง ได้ฝึกฝนความอดทน ได้ทดสอบความทนทาน แข็งแกร่ง ของร่างกาย เพื่อว่าในอนาคตถ้าลำบากกว่านี้ เราจะอยู่ได้ไหม จะทนได้ไหม ได้พิสูจน์ว่า "ยืนหยัด" นั้น ต่างกับ "ดื้อรั้น" ตรงที่ ถ้าขี่ไม่ไหวจริงๆ อย่าฝืนร่างกาย จำต้องยอมลดศักดิ์ศรี ให้คนเอารถมารับ จะดีกว่าฝืนขี่ไปทั้งๆ ที่ร่างกายแย่แล้ว ถ้าอย่างนั้น เท่ากับทำร้ายตัวเอง และทำความลำบากใจ รบกวน คนอื่นมากกว่า แต่ถ้ายังไหว พึงมีสติหยั่งให้รู้ใจตัวเองว่า กิเลสมันอ้อนหรือเปล่า อย่างนี้ต้องยืนหยัด เพราะร่างกายยังทนได้อยู่ เพียงแต่จิตเท่านั้นที่มันอ้อนอยากพัก อยากสบาย อันนี้ต้องใช้ปัญญาพิเคราะห์ให้ดี

และที่สำคัญ ได้สร้างบารมี ความเพียร ความอดทน ให้แก่ชีวิต คุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้จะติดตัวเราไปทุกภพชาติ เป็นสมบัติแท้ๆ ของเรา นับว่าคุ้มค่าสำหรับชีวิตการเดินทางไกลของผมในคราวนี้.

สู่ดิน ชาวหินฟ้า

หมายเหตุ

รถจักรยาน คันดังกล่าว ถูกขโมยไปแล้ว ตอนที่อยู่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2550 เลยเอาคันเก่า จาก พิษณุโลก (คุณเล็ก จัดให้ ในราคา 8,000 บาท) ไปใช้ชั่วคราว ต่อมาอีก ไม่ถึงปี ก็คงจะเป็นขโมยคนเดิม ขอยืมไปใช้อีก โดยไม่บอกเรา จนทุกวันนี้ ก็ยังไม่รู้เลยว่า ใครเป็นคนเอาไป เลยตัดสินใจ รวบรวมเงินอีกก้อน เอาไปผ่อนมาอีก ในราคา 78,000 บาท (ก็คุณเล็ก อีกนั่นแหละ จัดให้) ทุกวันนี้ ก็ยังใช้อยู่

my bike

10 มิ.ย.2555

[กลับไปหน้าสารบัญ portfolio]