Article in 2021

 

 

HOME   |  Articles - Book - Poem - SongAUTHOR  |  FILM SCHOOL  |  COMMUNICATION ARTS  |  MY BLOG |

บทความ:
ทฤษฏีเดียว อธิบายทุกสรรพสิ่ง - สรรพสิ่งสัมบูรณ์ ด้วยสัตตะธัมมะธาตุ (The 7-Element : Absolute of Everything).

โดย สู่ดิน ชาวหินฟ้า
7 มกราคม 2564.

ทฤษฏีเดียว อธิบาย ทุกสรรพสิ่ง – The Theory explain Everthing.
สรรพสิ่งสัมบูรณ์ ด้วยสัตตะธัมมะธาตุ : สัมพัทธภาพ ของ
ความจริงสมมุติ กับ ความจริงปรมัตถ์
(The 7–Element: Absolute of Everything)

บทความนี้ เป็นการเชื่อมโยงหลักการด้าน วิทยาศาสาตร์ กับพุทธศาสนา ในการอธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ของ ธัมมะธาตุ (mental-data element) หรือสรรพสิ่งในจักรวาล โดยอธิบายถึง ลักษณะ สมบัติ และอาการ ของธัมมะธาตุเหล่านั้น ซึ่งต่างก็มีที่มาจากแหล่งเดียวกัน และเสื่อมสลายไปสู่แหล่งเดียวกัน ได้อย่างไร.

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษา ปัจจัยการเกิด การดำรงอยู่ และการดับสลาย ของสังขารธรรมทั้งหลาย (ปรากฎการณ์ ปรัชญา กาลเวลา สรรพสิ่ง) ซึ่งเป็นต้นกำเนิด ของศาสตร์ทุกแขนง. เพื่อสนับสนุนว่า สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ เรียกว่าสิ่งลี้ลับในเอกภพนั้น แท้จริงแล้ว ไม่ใช่ความลี้ลับสำหรับโลกของจิตวิญญาณ. เพื่อศึกษาว่า ลักษณะ–สมบัติ (distinguishing quality) ทั้ง 7 ประการ ของธัมมะธาตุ (สัตตะธัมมะธาตุ) มีความสอดคล้อง เข้ากันได้หรือไม่ อย่างไร. และเพื่อหาข้อสรุปว่า หลักการทางด้านวิทยาศาสตร์ กับพุทธศาสน์ [1 ] มีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกัน มากน้อยเพียงใด เมื่ออธิบายด้วยมโนทัศน์สัมพัทธภาพ (conceptual relativity).

สัตตะธัมมะธาตุ เป็นทฤษฎีเดียว ที่อธิบายและยืนยันว่า สรรพสิ่ง [2 ] กำเนิดมาจากสิ่งเดียวกัน หรือจากแหล่งเดียวกัน หลังจากนั้น ก็จะถูกหลอมรวม ให้กลับคืนเป็นสิ่งเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง. ยกเว้น คุณสมบัติข้อที่ 7 (วิมุตติ–นิพพาน). วิมุตติ–นิพพาน เป็นธัมมะธาตุเพียงหนึ่งเดียว ที่มีคุณสมบัติแตกต่างจาก ธัมมะธาตุอื่นๆ เกือบจะสิ้นเชิง. แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะ–สมบัติ ของสัตตะธัมมะธาตุ ในบทความนี้ แท้จริงคือ ความเป็นหนึ่งเดียวหรือทั้งหมด (oneness) และเป็นความสัมบูรณ์ของสรรพสิ่ง หากมองด้วยมโนทัศน์สัมพัทธภาพ.


[1] ผู้เขียน ใช้คำว่า พุทธศาสน์ แทน พุทธศาสตร์ เพราะ ทฤษฎีทางด้านพุทธศาสนา ที่นำมาอ้างอิงนั้น เลือกเฉพาะ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เท่านั้น (พุทธวจน หรือ พุทธศาสนีย์) ซึ่งเป็นความจริงแท้ ดั้งเดิม. ส่วน ความเห็น คำพูด ที่สาวก ชั้นอรรถกถา ฎีกา คิด เขียนขึ้นมาใหม่ ผสมลงไปใน พุทธศาสตร์ นั้น จะไม่ถูกนำมาอ้างอิง.

[2] ทฤษฎีสรรพสิ่ง (theory of everything) เสนอโดย สตีเฟ่น ฮอว์กิง. ถ้าสามารถรวมแรงพื้นฐานทั้ง 4 เข้าด้วยกันได้สำเร็จ ก็จะอธิบายการเกิด - ดับของเอกภพได้ครบถ้วนสมบูรณ์ (พิสูจน์ความจริงด้านวัตถุธาตุ ได้ครบ 100% ). ผู้เขียนนำเสนอทฤษฎี สัตตะธัมมะธาตุ (The 7-Absolute of Everything) เพื่อหาข้อสรุปว่า มีอะไรบ้าง ที่เป็นอุปสรรคของ ทฤษฎีนี้.

 

สรรพสิ่งในเอกภพ : องค์รวมชีวิต ภายใต้ทฤษฎีเดียวกัน


เป็นที่ทราบกันดีว่า เอกภพ หรือจักรวาล คือ ที่รวมของสรรพสิ่งที่ใหญ่ที่สุด และไร้ขอบเขต. วิทยาศาสตร์ มุ่งศึกษา ประวัติความเป็นมา เฉพาะส่วนที่เป็นวัตถุธาตุเท่านั้น ในขณะที่ ตถาคต อรหันตสัมพุทธะ มุ่งศึกษา ส่วนที่เป็น จิตธาตุเป็นส่วนมาก และศึกษา ส่วนที่เป็นธาตุสสาร เป็นส่วนน้อย. พระองค์ มองว่า การก่อเกิดและการวิวัฒน์ของเอกภพทั้งมวล อยู่ภายใต้ระบบธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด เรียกว่า สังขตธรรม กับ อสังขตธรรม. สรรพสิ่งที่อยู่ภายใต้สองระบบนี้ เรียกรวมกันว่า “ธัมมะธาตุ.” ผู้เขียนได้จำแนกองค์ประกอบ ทางฟิสิกส์และจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นการรวมเอา ลักษณะ คุณสมบัติ และอาการ ออกเป็น 7 ลักษณะอาการ (สัตตะธัมมะธาตุ) ไว้ดังนี้.

 

(1) มวล–อนุภาค
(mass–particles)

(2) แรง–คลื่น
(force–wave)

(3) อุณหภูมิ–พลังงาน
(temperature–energy)

(4) มิติ กาลอวกาศ–รูปทรง
(dimension and spacetime–form)

(5) วัฎจักร–อนันต์
(cycle–infinity)

(6) นามรูป–วิญญาณ–สังขาร
(mind and matter–conciousness–corporeality)

(7) วิมุตติ–นิพพาน
(integrity liberation | Nibana)

 


สัตตะธัมมะธาตุ คือ ความสัมบูรณ์ของปรากฎการณ์ของสรรพสิ่ง ซึ่งประกอบกันเป็นรูปนาม ที่มีความหลากหลาย ทั้งขนาดและรูปแบบ ตั้งแต่ อนุภาค อะตอม โมเลกุล เซลล์ วัตถุ สิ่งมีชีวิต ไปจนถึง ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ ระบบสุริยะ ดาราจักร จักรวาล (เอกภพ). การศึกษา สัตตะธัมมะธาตุ ก็คือ การศึกษา วัตถุธาตุ และ จิตธาตุ นั่นเอง. วัตถุธาตุ มีคุณสมบัติมูลฐาน ที่ไม่อาจแยกย่อยต่อไปได้อีก 3 ข้อ คือ ขนาด—มิติ, พื้นที่–ความหนาแน่น, ตำแหน่ง–ความเร็ว. ส่วน จิตธาตุ ก็มีคุณสมบัติมูลฐาน 3 ข้อ เช่นกัน คือ ภพ–การอุบัติเกิด, สังขาร, วิมุตติ–นิพพาน.

 

การไม่หยุดนิ่งของเอกภพ ทำให้เอกภพกลายเป็น สิ่งเสมือนมีชีวิต (visual life), ชีวิตเสมือนของเอกภพ ช่วยให้เรามีมุมมองที่ชัดเจน และเข้าใจสรรพสิ่ง ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมองเห็นและเข้าถึงความจริงบางอย่าง ที่มนุษย์สัมผัสไม่ได้ หรือวิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้. กล่าวได้ว่า สิ่งเสมือนมีชีวิต ที่อุบัติขึ้นในเอกภพ ต่างมีสมบัติและอาการพื้นฐานร่วมกัน 3 ประการ คือ (1) มีการเกิด และมีการดับสลาย (2) มีการดำรงอยู่ ในห้วงเวลาหนึ่ง และ มีการเสื่อมปรากฎ ในลำดับถัดมา (3) มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา (ไม่มีสิ่งใดในเอกภพ หยุดนิ่ง ณ จุดเดียว).

 

 

สสาร–พลังงาน, จิต–วิญญาณ, มิติ–กาลอวกาศ

 

คำว่า สรรพสิ่ง (everything) หมายถึง ปรากฎการณ์ของ วัตถุ สสาร อนุภาค คลื่น รังสี แรง พลังงาน กาลอวกาศ ระบบ สิ่งมีชีวิต จิตวิญญาณ และรวมถึงลักษณะ–สมบัติต่างๆ ของสิ่งเหล่านั้นด้วย. สรรพสิ่ง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็น รูปธาตุ และ นามธาตุ หรือ จิตธาตุ. หากเปรียบเทียบสรรพสิ่ง เหมือนข้อความประโยคหนึ่ง, สรรพสิ่ง ก็คือประโยคที่มีประธาน กริยา กรรม เป็นส่วนประกอบหลัก และมีส่วนขยาย เช่น คุณศัพท์ วิเศษณ์ วลี ซึ่งทำให้ประโยคสมบูรณ์ขึ้น. ส่วนที่เป็นประธาน และกรรม ก็คือรูปธาตุ ส่วนที่เป็นกริยาและส่วนขยาย เป็นนามธาตุทั้งหมด. สรรพสิ่ง มีลักษณะ–สมบัติ ร่วมกัน 7 ประการ ซึ่งต่อไปนี้ เรียกว่า สัตตะธัมมะธาตุ.

 

สัตตะธัมมะธาตุ แบ่งเป็น 3 กลุ่มมูลฐาน คือ

(1) ธาตุ สสาร แรง พลังงาน
(2) ชีวะ จิตวิญญาณ
(3) มิติ กาลอวกาศ.

 

ธัมมะธาตุที่จัดอยู่ในกลุ่ม ธาตุ สสาร แรง พลังงาน คือ ปรากฎการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติ ของสสารทุกขนาด ตั้งแต่อะตอม ไปจนถึงดาราจักร. สสารทั้งสองขนาด เล็กหรือใหญ่ เกินกว่าที่มนุษย์จะรับรู้ได้ เช่น อนุภาคมูลฐาน (particle) ของสสาร โมเลกุล เซลล์ ประกอบกันเป็นวัตถุ ธาตุต่างๆ ดวงดาว กาแล็กซี่ และเทห์วัตถุทุกชนิด. โดยที่ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ จะเป็นผู้อธิบาย สรรพสิ่งที่จัดอยู่ในกลุ่ม วัตถุสสาร แรง พลังงานทั้งหมด ด้วยทฤษฎีและวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (physical science).

 

 

หากมอง ธาตุ สสาร แรง พลังงาน ในฝั่งของพุทธศาสน์ สิ่งเหล่านี้ ก็คือ รูปขันธ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ขันธ์-5. ธัมมะธาตุที่จัดอยู่ในกลุ่ม ชีวะ จิตวิญญาณ ก็คือสิ่งมีชีวิตทั้งหมด เช่น จุลินทรีย์ พืช สัตว์ มนุษย์ รวมทั้ง เหตุการณ์ (events) และสิ่งแวดล้อม (environment) ที่เป็นปัจจัยในการดำรงอยู่ของชีวิต (bio–life). ธัมมะธาตุ กลุ่มธาตุ สสาร แรง พลังงาน และกลุ่ม ชีวะ จิตวิญญาณ จะถูกจัดรวมเข้าอยู่ใน มิติ กาลอวกาศ ของเอกภพ. ปรากฎการณ์ของสรรพสิ่ง ในมิติ กาลอวกาศ มักเป็นเรื่องยากแก่การเข้าใจ จึงจำเป็นต้องใช้ หลักการวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (natural science) มาช่วยอธิบาย ความเชื่อมโยงระหว่าง มนุษย์กับปรากฎการณ์ต่างๆ ที่แวดล้อมอยู่.

 

กล่าวโดยสรุป ธัมมะธาตุทั้ง 3 กลุ่มมูลฐานข้างต้น จัดอยู่ในระบบสมมุติ ซึ่งเรียกว่า สังขตธรรม. ส่วนธัมมะธาตุที่จัดอยู่ในระบบ อสังขตธรรม เป็นอีกสิ่งสิ่งหนึ่ง ที่ไม่อาจนำกฎเกณฑ์หรือคำอธิบายของระบบสังขตธรรม มาอธิบายได้เลย.

 

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่า เอกภพ มีขนาดอยู่ขนาดหนึ่ง แต่ไม่มีขอบเขต ตามข้อเสนอของ สตีเฟ่น ฮอว์กิง (Stephen Hawking : 1942 – 2018 A.D.) แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์-ดาราศาสตร์ กำลังได้รับการเปิดเผยตลอดเวลา จากภาพถ่ายดาวเทียม อันทรงพลังและทันสมัย นับสิบดวง และห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์.

 

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ และเชื่อว่า เอกภพ มีอยู่อย่างไร้ขอบเขต นับประมาณไม่ได้นั้น สอดคล้องกับสิ่งที่ ตถาคต ตรัสรู้. สิ่งลี้ลับอย่างไร้ขอบเขต ที่นักวิทยาศาสตร์ ยังไม่รู้จักนั้น มีอยู่ในมิติ กาลอวกาศ ที่ไหนสักแห่ง อาจเป็นสิ่งที่พระองค์ เรียกว่า ภพภูมิเทวดา พรหม อบาย. รวมถึง หน่วยวัดระยะ วัดขนาด ในระดับเอกภพ (ปีแสง) ก็ยังน้อยกว่า หน่วยวัดที่พระองค์ยกขึ้นมาเปรียบเทียบ เช่น หน่วยเวลา – กัป, หน่วยจำนวน – โกฏิ, หน่วยพื้นที่ – จักรวาล หรือ โลกธาตุ.

 

 

กลไกชีวะ (bio-mechanics | bio-physiological)

 

จุลินทรีย์ พืช สัตว์ มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เราเข้าใจกันดี แต่ถ้าจะนิยามความหมายของชีวิต ในขอบเขตที่เล็กระดับอะตอม หรือใหญ่ระดับกาแล็กซี่ ก็คงจะเข้าใจยากขึ้นไปอีก. เราจำเป็นจะต้องนิยามคำว่าชีวิต ให้กว้างกว่านี้.

ชีวิตระดับอะตอมและจักรวาล มีองค์ประกอบของ ธาตุ สสารและพลังงาน ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คือ เกิด เสื่อม ดับสลาย กลายเป็นธาตุอื่น ภายใต้แรงดัน และอุณหภูมิ. การเกิดขึ้น และการเปลี่ยนสถานะของธาตุต่างๆ ก็คือระบบชีวิตอย่างหนึ่ง แต่เป็นชีวิตของสสารและการแลกเปลี่ยนพลังงาน. แนวคิด กลไกชีวิต สอดคล้องกับ ทฤษฎีกายา (Gaia theory). ทฤษฎีนี้กล่าวว่า โลกเป็นองค์รวม สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ภายใต้ระบบกลไกการควบคุมตัวเอง (self-regulating system).[3]


[3] ทฤษฎีนี้ เสนอโดย เจมส์ เลิฟลอค (James Lovelock: 1919 A . C . ) ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของชั้นบรรยากาศ . ดู ณัฐฬส วังวิญญู . (2533) . ทฤษฎีกายา (Gaia Theory) โลกมีชีวิตในตัวเอง . [ออนไลน์] . สุขใจดอทคอม แหล่งสืบค้น http://www . sookjai . com/index . php?PHPSESSID=s 0 keg 42 ltaoq 8 mrik 5 q 7 dmhhi 7 &topic=2988 . 0 สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2561 .

 

 

ชีวิต ในทุกกรอบอ้างอิง จึงเป็นปรากฎการณ์ที่มี “การเคลื่อนไหว” และผูกติดกับเวลาเสมอ. การเคลื่อนไหวดังกล่าว คือสิ่งที่ ตถาคต เรียกว่า สังขตลักษณะ 3 ประการ คือ (1) อุปฺปาโท ปัญฺญายติ – มีการเกิดปรากฎ (2) วโย ปัญฺญายติ – มีการเสื่อมปรากฎ (3) ฐิตสฺส อัญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ – เมื่อตั้งอยู่ มีภาวะอย่างอื่นปรากฎ (มีความแปรปรวน).

 

การเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้ระบบชีวิต มีความหลากหลาย ยากแก่การจำแนก. ผู้เขียน มีคำอธิบายเกี่ยวกับชีวิต ผ่านกรอบอ้างอิงชีวิต 4 ขนาด (Life system 4 references) [4] เพื่อให้ครอบคลุม ทุกขอบเขตของจักรวาล, กรอบอ้างอิงชีวิต 4 ขนาด ได้แก่.


[4] อาจมีการโต้แย้งว่า สิ่งมีชีวิต แตกต่าง กับวัตถุ สสาร ชัดเจนอยู่แล้ว หากนิยาม สิ่งที่ไม่มีชีวิตอื่น ว่ามีชีวิต อาจสร้างความสับสน . ข้อนี้ให้เหตุผลว่า ระบบชีวิตระดับเอกภพ ประกอบด้วย ธาตุ ดวงดาว กาแลกซี่ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวในวงโคจรของตัวเอง เป็นระบบชีวิตในกรอบอ้างอิงขนาดใหญ่ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ในความหมายระดับกรอบอ้างอิงโลก .

 

(1) ชีวิตจักรวาล–ควอนตัม (extra–terresstrial life system) เป็นระบบชีวิตที่มี ขนาด ระยะ และทิศทาง เกินกว่าประสาทสัมผัสรับรู้ ของคนปกติได้, ได้แก่ ระบบชีวิตของ เอกภพ–กาแล็กซี–สุริยะ และระบบชีวิตของ อะตอม–อนุภาค. ชีวิตจักรวาล–ควอนตัม มี แรงโน้มถ่วงควอนตัม และ นิวเคลียส เป็นตัวขับเคลื่อน.

 

 

(2) ชีวิตจักรกล (mechanical life system) ระบบชีวิต ของเครื่องจักรกล หุ่นยนต์ ซึ่งต้องอาศัย อุณหภูมิ อากาศ แรงกล แรงดัน ไฟฟ้า แม่เหล็ก เป็นตัวขับเคลื่อน ได้แก่ เครื่องจักรกล หุ่นยนต์ โปรแกรม.

 

 

(3) ชีวิตแบบโลก (earthly life system) เป็นชีวิตที่ต้องอาศัยธาตุ ที่เอื้อต่อการมีชีวิต คือ ออกซิเจน น้ำ คาร์บอน และธาตุอื่นๆ. ได้แก่ สัตว์โลกทั้งหลาย รวมทั้งมนุษย์. ชีวิตแบบโลก มีปัจจัย 3 ประการ เป็นตัวขับเคลื่อน คือ ความต้องการพื้นฐาน ในการบริโภค เงื่อนไขและการตอบสนอง และ ความสัมพันธ์ของปัจจัยแวดล้อม.

 

 

(4) ชีวิตระบบขันธ์–5 มีองค์ประกอบ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ. เป็นระบบชีวิต ที่ถูกนิยามขึ้นโดยฝั่ง พุทธศาสน์ ได้แก่ สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เปรต และเทวดา. ชีวิตระบบขันธ์–5 มีความสัมพันธ์ ระหว่างกายกับจิตใจ ที่ซับซ้อนมาก เกินกว่าที่ฝั่งวิทยาศาสตร์จะอธิบายได้.

 

 


สรุปว่า ระบบชีวิตทั้ง 4 กรอบอ้างอิงนั้น เป็นกลไก ที่ประกอบด้วย โครงสร้าง ส่วนที่เป็นรูป หรือกายภาพ (physical) กับส่วนที่เป็นอาการ หรือ ปรากฎการณ์. สามารถแบ่ง กลไกชีวิต ออกได้เป็น 2 ประเภท คือ กลไกชีวะ-ฟิสิกส์ และ กลไกชีวะ-ชีวิต.

 

กล่าวได้ว่า กลไกลชีวะ คือคำอธิบาย การอุบัติเกิด การเสื่อมสลาย แปรเปลี่ยน ตลอดเวลา ครอบคลุมทุกสรรพสิ่งในเอกภพ นั่นเอง. แต่อย่างไรก็ตาม ระบบชีวิตของมนุษย์ ย่อมเป็นจุดสนใจในการศึกษาค้นคว้ามากที่สุด อยู่นั่นเอง. นั่นคือ มนุษย์ มีการเกิด แก่ ตาย และวนไปสู่การเกิด ในรอบใหม่ เป็นจำนวนอนันต์รอบ. ปัญหาคือ ทำอย่างไร มนุษย์จึงจะไม่แก่ ไม่เจ็บป่วย และไม่ตาย. มีเพียงบุคคลเดียว คือ ตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ที่ค้นพบว่า ชีวิตอมตะ คือ ชีวิตที่ไม่มีการเกิด เพราะเมื่อมีการเกิด ก็ต้องมีแก่ มีตาย และประสบกับความทุกข์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คนทั่วไป กลับเห็นตรงข้ามว่า อมตะ คือ ไม่ตาย.

 

การค้นพบอันยิ่งใหญ่ ในทางฝั่งพุทธศาสน์ คือ การค้นพบระบบการเกิด และ ระบบการตาย ที่มีความต่อเนื่องกัน ในทันที. ระบบการเกิด จำแนกเป็น 3 แบบ คือ (1) ระบบการเกิด ภูตรูป ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศธาตุ ภายใต้กฎ และ กลไกฟิสิกส์ กลศาสตร์ เช่น ธาตุ สสาร วัตถุ พืช (2) ระบบการเกิด นามรูป หรือ ขันธ์-5 ได้แก่ สัตว์ มนุษย์ เทวดา (อบาย ทุคติ วินิบาต) และ (3) ระบบการเกิด วิญญาณ ซึ่งมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง. ผู้ที่ค้นพบและอธิบาย วิญญาณ ได้ดีที่สุด คือ พระพุทธเจ้า เพียงพระองค์เดียว.

 

 

 

ระบบการตาย อยู่ภายใต้หลักสังขตธรรมทั้งสิ้น กล่าวคือ ระบบการเกิด มาก่อน ระบบการตายเสมอ คือ มีการเกิดปรากฎ (อุปฺปาโท ปญฺญายติ) มีการเสื่อมสลาย (วโย ปัญฺญายติ) และเสื่อมต่อเนื่อง (ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํปญฺญายติ). สังขารธรรม บางประเภท มีห้วงเวลาของการเสื่อมยาวนาน เช่น การเกิดดับของดาวฤกษ์ ดาราจักร หลุมดำ การสลายของสารที่เกิดจากแรงนิวเคลียร์อย่างอ่อน อายุขัยของพรหมในชั้นสุทธาวาส เป็นต้น. แต่บางประเภท มีอายุดำรงอยู่สั้นมาก เช่น การเกิดดับของอนุภาคฮิกส์ การเกิดดับของวิญญาณ และ สัตว์ประเภท โอปปาติกะ เป็นต้น. ทุกระบบการเกิด จะต่อเนื่อง หลังจากการตาย ในทันที.

 

 

มนุษย์กับการค้นพบ ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ศาสนา

 

มนุษย์ค้นพบความจริง ทางธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ และศาสนาได้ โดยมองผ่าน มโนทัศน์ ความสัมพัทธ์ และ ความสัมบูรณ์. คำทั้งสามนี้ จะช่วยให้การเข้าถึงธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ และศาสนา เป็นไปได้โดยไม่ยาก. การศึกษา และการเข้าถึง สัตตะธัมมะธาตุ จำเป็นต้องอาศัยกรอบคิด มโนทัศน์ สัมพัทธ์ และ สัมบูรณ์ เป็นสำคัญ.

 

 

 

มโนทัศน์ (concept) มีบทบาทสำคัญต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก ต่อการรับรู้ การเรียนรู้ ประสบการณ์ทั้งเก่าและใหม่. มโนทัศน์ เป็นมุมมองของบุคคลคนหนึ่ง ที่กำลังมอง ‘สิ่งหนึ่ง’ แล้วได้ข้อสรุปเกี่ยวกับ สิ่งนั้น ในขณะที่อีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งยืนอยู่อีกสถานที่หนึ่ง มองสิ่งนั้น ในเวลาเดียวกัน แล้วได้ข้อสรุป ในมุมที่ตนได้รับ. สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ความจริง ที่บุคคลทั้งสองได้รับ มีความแตกต่างกัน. ขณะที่ความจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้น มีเพียงความจริงเดียว คือ ความจริงสัมบูรณ์ (absulutely). มุมมองเช่นนี้เรียกว่า มโนทัศน์แบบสัมพัทธภาพ (relativity concept).

 

องค์ประกอบที่จำเป็น ของมโนทัศน์แบบสัมพัทธ คือ ปัจจัยเหตุ ปัจจัยผล และ การสังเกต. เวลา สถานที่-ตำแหน่งพิกัด และ วัตถุ-บุคคล นี่คือปัจจัยเหตุ, เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นี่คือ ปัจจัยผล, และ ผู้สังเกต กับ ผู้ถูกสังเกต ในการรับรู้เหตุการณ์.

 

 

ความสัมบูรณ์ (absolute) เป็นความจริงที่จบในตัวเอง ไม่ต้องเปรียบเทียบกับสิ่งใดๆ ไม่ต้องอธิบายขยายความเพิ่ม ไม่ต้องพิสูจน์การมีอยู่ ตัวตน คุณสมบัติใดๆ อีกแล้ว, มีความถูกต้อง ชัดเจน เป็นฐานที่มั่นคง ไม่อาจทำลาย หรือลบล้างได้. ตถาคต เป็นผู้นิยามคำ สัมบูรณ์ ไว้ดังนี้ คือ เป็นสิ่งที่มีอยู่เช่นนั้นเอง (ตถตา), ไม่ผิดแผกไปจากสิ่งที่เคยเป็น (อวิตถตา), เมื่อเวลาผ่านไป ก็ไม่ผิดเพี้ยนแปรไปเป็นอย่างอื่น (อนัญญถตา), เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นปกติแล้ว ตามธรรมชาติ (ธัมมัฏฐิตตา), เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติ (ธัมมนิยามตา), เป็นสิ่งที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ดับไป (อิทัปปัจจยตา) เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น. การมี มโนทัศน์แบบสัมพัทธภาพ จะทำให้ผู้ศึกษา มองเห็นและเข้าถึง ความจริงสัมบูรณ์ได้ โดยไม่ยาก.

 

มโนทัศน์สัมพัทธภาพ จึงมีความเป็นอิสระ ที่จะไม่ทำให้บุคคลสองฝ่าย ซึ่งมีมุมมองต่อสิ่งเดียวกัน ปรากฎการณ์เดียวกัน ไปตัดสิน ถูก–ผิด ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เพราะเหตุที่มีมุมมองต่างกัน มีข้อสรุปแตกต่างกัน. และมุมมองของทั้งสองฝ่าย ไม่มีอิทธิพล ที่จะทำให้สิ่งนั้น เปลี่ยนแปลงตามมุมมองของตน. ด้วยเหตุนี้ ถ้อยคำที่ว่า “ความจริง คือสิ่งสัมพัทธ์ (truth is relative)” นั้น เท่ากับรับรองว่า ความจริง กับ ความสัมบูรณ์ เป็นสิ่งเดียวกันนั่นเอง.

 

แท้จริงแล้ว สรรพสิ่งในเอกภพ ได้ถูกแบ่งไว้แล้ว 2 ประเภท คือ วัตถุธาตุ ซึ่งเรียกขานได้หลายชื่อ เช่น ธาตุ สสาร วัตถุ ภูตรูป และ จิตธาตุ ซึ่งเรียกขานได้หลายชื่อเช่นกัน เช่น จิต มโน วิญญาณ สังขาร นามรูป เจตนา มนสิการ ทิฏฐิ. เป้าหมายของการนำเสนอ สัตตะธัมมะธาตุ เพื่อชี้ให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์ มองสิ่งเหล่านี้ ด้วยความลุ่มลึกต่างกัน ตามภูมิปัญญาและการพิสูจน์ด้วย นวัตกรรมทางปัญญา ของเผ่าพันธุ์มนุษย์. โดยแบ่งประเด็น ลักษณะและคุณสมบัติที่ศึกษา ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่ม มวลสาร พลังงาน ว่าด้วยคุณสมบัติความเป็น มวล-อนุภาค, แรง–คลื่น, และ อุณหภูมิ–พลังงาน. (2) กลุ่ม มิติ กาลอวกาศ ว่าด้วยคุณสมบัติ มิติ กาลอวกาศ–รูปทรง และ คุณสมบัติ วัฎจักร-อนันต์. (3) กลุ่ม จิตธาตุ ว่าด้วยคุณสมบัติที่เป็น นามรูป–วิญญาณ–สังขาร และ คุณสมบัติ วิมุตติ–นิพพาน.

 

นักวิทยาศาสตร์ พยายามควบคุมธรรมชาติ ด้วยกฎฟิสิกส์, แต่กฎเหล่านั้น กลับมีข้อจำกัด. เนื่องจาก ใช้ได้เฉพาะวัตถุธาตุเท่านั้น ไม่สามารถอธิบายจิตธาตุได้. ในการชี้วัดสถานะต่างๆ ให้แก่สรรพสิ่ง ในสัตตะธัมมะธาตุ จะใช้ กฎมูลฐานของธรรมชาติ เป็นตัวชี้วัด ได้แก่ ความจริงสัมบูรณ์ ของ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ, กฎของเวลา, กฎแห่งนิรันดร์, กฎสมดุล, สัมพัทธภาพ (Relativity), กฎการอนุรักษ์ (Conservation law), และ มาตรวัด กรอบอ้างอิง (measure by reference frame). ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางออกให้แก่กฎทางด้านฟิสิกส์ ที่ยังไม่ลงตัว เช่น กฎการรวมแรงทั้งสี่ของกลศาสตร์ และความไม่แน่นอน ของกลศาสตร์ควอนตัม (หลักความไม่แน่นอน, คุณสมบัติคู่ อนุภาค/คลื่น และ การกระเพื่อมของที่ว่าง การซ้อนทับกันของสองอนุภาค).

 


พันธกิจของ วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์

“วิทยาศาสตร์ แก้ปัญหาความแก่ ความเจ็บป่วย และทุกขภาพ. ลัทธิ ความเชื่อ แก้ปัญหาการตาย และหลังการตาย. พุทธศาสน์ แก้ปัญหาการเกิด อันเป็นต้นเหตุของ แก่ เจ็บ ตาย.”

“ความจริง ที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ อาจถูกลบล้างได้ตลอดเวลา
แต่ความจริง ที่ตถาคตตรัสรู้ เป็นความจริงแท้ตลอดกาล.”

“ระเบียบวิธีวิทยาศาสตร์ มุ่งการพิสูจน์สมมุติฐาน
เพื่อให้ได้ความรู้.
ระเบียบวิธีพุทธศาสน์ คือการอุปมาสิ่งที่ถูกหยั่งรู้
เพื่อให้ได้ความจริง.”

“กฎธรรมชาติ สร้าง สังขตาธาตุ ขึ้นมาในเอกภพ แต่ ตถาคต สร้าง นิพพาน ขึ้นมาในปัจจุบัน”


 

สัตตะธัมมะธาตุ เป็นส่วนผสมของ ‘วิทยาศาสตร์’ และ ‘พุทธศาสน์’ ในการแก้ปัญหา อันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์.

 

การเกิดและการตาย เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์กลัวมากที่สุด. ปัญหาความกลัวตาย (ไม่อยากตาย) กับ ความตาย (แต่ต้องตาย) เหมือนเป็นปัญหาที่ปรากฎอยู่บนด้านทั้งสอง ของเหรียญเดียวกัน, เพราะไม่รู้ว่า ความแก่ ความตาย (ซึ่งมาจากการเกิด) ซึ่งทุกคนหลบเลี่ยงไม่พ้นนั้น จะแก้ไขอย่างไร. สรุปก็คือ มนุษย์ไม่รู้วิธีแก้ปัญหาการตาย พอๆ กับไม่รู้วิธีแก้ปัญหาการเกิด. เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ ยังไม่เข้าใจ ความหมายแท้จริงของ ความจริงสมมุติ กับ ความจริงแท้.

 

มนุษย์ปุถุชน หันไปพึ่งวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ ค้นหาวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้ชีวิตยั่งยืน ไม่เจ็บป่วย และเสพสุขได้อย่างไม่มีข้อจำกัด. ปัญหาการเกิดของพวกเขา จึงกลายเป็นเรื่องเล็ก แต่ปัญหาความแก่ ความตาย และความเจ็บป่วย กลายเป็นเรื่องใหญ่. แน่นอนว่า วิทยาศาสตร์อาจช่วยหาทางออกให้ได้บ้าง ในการป้องกันความแก่ ความเจ็บป่วย แต่ไม่สามารถป้องกันความตายได้เลย. เมื่อวิทยาศาสตร์ช่วยไม่ได้ พวกเขาจึงต้องพึ่งพา จินตนาการและความเชื่อ ในสิ่งที่เรียกว่ามนต์ดำ (ไสยศาสตร์) เดรัจฉานวิชชา และมิจฉาทิฐิ.

 

ความจริงสมมุติ ถูกปรุงแต่งขึ้นโดย อวิชชา สังขาร วิญญาณ ร่วมกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ในธรรมชาติ แล้วเรียกความจริงสมมุตินั้นว่า ขันธ์-5. นักวิทยาศาสตร์ รู้จักขันธ์-5 ในรูปแบบของ มวล สสาร แรง พลังงาน. ขันธ์-5 ได้กลายเป็นวัตถุสื่อกลาง (mediator) สำหรับการครอบครองและการปรุงแต่งเป็นภพชาติ ของ ‘สัตว์’ ทุกชนิด ทุกประเภท.

 

ความจริงสมมุติ ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ก็คือ สัตตะธัมมะธาตุ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นวัตถุธาตุ (มวล–อนุภาค, แรง–คลื่น, อุณหภูมิ–พลังงาน, มิติ กาลอวกาศ–รูปทรง และวัฏจักร–อนันต์) และส่วนที่เป็นจิตธาตุ (นามรูป–วิญญาณ–สังขาร). นามรูป–วิญญาณ–สังขาร เป็นธัมมะธาตุที่มีความพิเศษ เหมือนเป็น สะพาน หรือ ช่องทาง เพื่อก้าวไปสู่ ลักษณะ–สมบัติสัตตะธัมมะธาตุอันสุดท้าย คือ วิมุตติ–นิพพาน. กล่าวได้ว่า วิมมุติ–นิพพาน คือ ความสัมบูรณ์ของความจริง (ปรมัตถธรรม หรือ อสังขตธรรม) อันสูงสุดของธรรมชาตินั่นเอง.

 

จากประโยคที่ว่า “ถ้านักวิทยาศาสตร์ ‘เข้าถึง’ ในสิ่งที่ตถาคตพูด แม้ 1%, โลกใบนี้ จะเปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือ.” หากเกิดขึ้นจริง 1% ของคำพูดทั้งหมดของพระองค์ (สักบทเดียว) ที่นักวิทยาศาสตร์เข้าถึงได้ จะส่งผลต่อการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงวิทยาการและเทคโนโลยี อย่างใหญ่หลวง แบบพลิกฝ่ามือเลยทีเดียว. ตถาคต มีเป้าหมายเพื่อให้สาวกและผู้ศึกษา รู้วิธีแก้ปัญหาการเกิด (ถ้าไม่เกิด จะได้ไม่ต้องตาย) ส่วนนักวิทยาศาสตร์ มีเป้าหมายเพื่อให้มนุษยชาติ ที่เกิดมาแล้ว ไม่ต้องประสบกับทุกข์ปัญหา.

 

สิ่งที่ ตถาคต หยั่งรู้ คือ ความจริงแท้ แล้ว พระองค์ ก็บัญญัติและพูดออกมา (ศาสนีย์) ด้วยการอธิบาย ความจริงของ ของปลอม ให้เข้าใจเสียก่อน. จากนั้นก็จะอธิบาย สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับ ความจริงของของปลอมนั้น เพื่อให้คนฟัง เข้าใจ เข้าถึง ความจริงแท้ (ปรมัตถสัจจะ) ในภายหลัง. นี่คือ ระเบียบวิธี (revelatory methodology) อันเป็นอุบายและกลยุทธ์ของตถาคต ในการอธิบายนามธรรมที่ลึกซึ้ง ให้มนุษย์ธรรมดาเข้าใจได้.

 

นักวิทยาศาสตร์จะอธิบายปรากฎการณ์ใด หรือสิ่งใด จะสร้างข้อสมมุติฐานขึ้นมาก่อน แล้วอ้างทฤษฎีและสูตรทางคณิตศาสตร์ ขึ้นมารองรับ. หากผู้ฟังคนใดไม่เข้าใจ ก็เป็นหน้าที่ของผู้นั้น ที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจ (ในทฤษฎีที่คนอื่นเขียน) ด้วยตนเอง. อีกประการหนึ่ง ทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น ก็ไม่มีความแน่นอน เมื่อกาลเวลาผ่านไป หรือเมื่อมีข้อพิสูจน์ใหม่ ทฤษฎีนั้นอาจถูกลบล้างไปก็ได้. แต่ต่างกับศาสนีย์ของตถาคต ซึ่งมีความถูกต้อง เที่ยงตรง สมบูรณ์ 100% ทุกกาลเวลา (เป็นอกาลิโก) ไม่ว่าอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต. ตลอดเวลา 45 ปี ที่พระองค์เผยแผ่พุทธศาสนา คำพูดเหล่านั้น ไม่ขัดแย้งกันเลย.

 

การรวมฟิสิกส์ในทฤษฎีเดียว มีความยาก ไม่ต่างจากการรวม เอกภาพของปรัชญา

 

ศาสตราจารย์ สตีเวน ฮอว์กิ้ง (Stephen Hawking) กล่าวไว้ในหนังสือของเขา ชื่อ ประวัติย่อของกาลเวลา (The Illustrated A Brief History of Time) เรื่องการรวมฟิสิกส์เป็นหนึ่งเดียว. เขากล่าวว่า เราได้ก้าวหน้าไปมาก ในการคิดค้นทฤษฎีส่วนย่อยหลายๆ ทฤษฎี ซึ่งแต่ละอัน อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ภายในขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัด. แต่การสร้างทฤษฎีให้เป็นเอกภาพสมบูรณ์ ซึ่งสามารถอธิบาย ทุกสรรพสิ่งในเอกภพได้ เพียงทฤษฎีเดียวนั้น เป็นเรื่องยาก.

 

สัตตะธัมมะธาตุ ปรากฎการณ์สัมบูรณ์ ของสรรพสิ่ง มิใช่แนวคิดหรือทฤษฎี ในการรวมฟิสิกส์เป็นหนึ่งเดียว. แต่เป็นข้อเสนอใหม่ ในการอธิบายปรากฎการณ์ของสรรพสิ่ง (everything) โดยเชื่อมโยง แนวคิดทฤษฎีด้านฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์ ผ่านมโนทัศน์สัมพัทธภาพ. ภายใต้มโนทัศน์สัมพัทธภาพ ได้ข้อสรุปที่เป็นหนึ่งเดียวว่า แท้จริงแล้ว สรรพสิ่งในเอกภพนี้ ไม่อาจรวมเป็นอันเดียวกันได้, แต่จะดำรงอยู่ภายใต้คุณสมบัติพื้นฐานที่สุด ที่แตกต่างกัน 2 ระบบ คือ. สังขตธรรม ระบบที่มีปัจจัยปรุงแต่ง (conditioned to appear) กับ อสังขตธรรม ระบบที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง (characteristics of the unconditioned).

 

ดังนั้น “การรวมฟิสิกส์เป็นหนึ่งเดียว” จึงไม่มีโอกาสสำเร็จได้ง่ายนัก หากละเว้นการศึกษา เรื่องจิตวิญญาณ.

 

ความจริงแล้ว ตถาคต ได้รวมสรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียว (รวมทั้งฟิสิกส์) ไว้แล้ว. จากพุทธวจน ที่ว่า “... ภิกขุทั้งหลาย ! ในกาลก่อนก็ตาม ในกาลบัดนี้ก็ตาม เราบัญญัติสอนแต่เรื่องความทุกข์ และความดับสนิทไม่มีเหลือของความทุกข์เท่านั้น” (บาลี - มู. ม. 12/276/286). คำว่า ‘ทุกข์’ ก็คือ สรรพสิ่ง ซึ่งเป็นที่รวมของ รูป นาม และรวมถึงฟิสิกส์ด้วย.

รูป ก็คือวัตถุธาตุทุกชนิดทุกประเภท ที่มีสภาวะแบบเดียวกันทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า ทุกข์. รู้ทุกข์ ก็รู้ทุกสิ่ง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นรูป หรือนาม หรือทั้งสองอย่าง คือ รู้ว่าสิ่งนั้นมีเกิด มีเสื่อม มีแปรปรวน (เสื่อมต่อเนื่อง) เปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนสถานะ เป็นวงจรต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด. ที่จริง ตถาคต คิดก้าวหน้ากว่านักวิทยาศาสตร์ไปหนึ่งก้าว. นักวิทยาศาสตร์ รู้ที่มาที่ไปของมวล สสาร พลังงาน และการเปลี่ยนแปลงของมันเท่านั้น แต่ตถาคต มองว่ามวล สสาร พลังงาน เป็นแค่รูปขันธ์ แต่ยังมีอีก 4 ขันธ์ ที่สวมรอยอยู่ในร่างของ รูปขันธ์ จนทำให้การรวมกันของขันธ์ทั้ง 5 ส่งผลให้เกิดระบบชีวิตขึ้นมา แล้วสร้างปัญหาสืบเนื่องจากการเกิด ไม่มีวันจบสิ้น. ดังนั้น สิ่งที่ตถาคต ต้องจัดการกับ ขันธ์-5 ย่อมเป็นสิ่งลึกซึ้ง เกินกว่านักวิทยาศาสตร์จะยอมรับได้.

 

มโนทัศน์แบบสัมพัทธภาพ ทะลุทะลวง ความรู้สู่ความจริง

 

 

 

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คิด กับสิ่งที่พระพุทธเจ้ารู้ ต่างกันตรงที่, เหตุผลและตรรกะของนักวิทยาศาสตร์ ยังไม่ถึงที่สุด จะไม่มีสมมุติฐานสุดท้าย สำหรับนักวิทยาศาสตร์. ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คิด เป็นเรื่องของวัตถุธาตุ ที่มีความแปรปรวนตลอดเวลา. แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้ารู้ เป็นความจริงสัมบูรณ์ ทะลุทะลวงวัตถุธาตุ ไปจนถึงจิตธาตุ, มีถึงที่สุด มีจุดจบ เป็นสภาวะที่ไม่ปรากฎการเกิด ไม่ปรากฎการเสื่อม และไม่ปรากฎความแปรปรวนใดๆ.

 


การคาดการณ์ล่วงหน้า (ความรู้-ความจริง ในปัจจุบัน) = จินตนาการ (ความรู้-ความจริง ในอนาคต) + ประสบการณ์ (ความรู้-ความจริง ในอดีต).


 

การแสวงหาความจริง ของเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ของธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับ มวล สสาร แรง พลังงาน ย่อมต้องอาศัยกฎเกณฑ์ทางด้านฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ มาอธิบาย. แต่ก็ไม่ถูกต้องเสมอไปทุกครั้ง บางเหตุการณ์ อาจมีสภาพแวดล้อมที่สุดแสนประหลาด ไม่อาจนำหลักการทางฟิสิกส์แบบเดียวกัน มาอธิบายได้. เช่น ในบริเวณพื้นที่แคบๆ ของอะตอม กับ บริเวณพื้นที่ไร้ขอบเขต ของเอกภพ.

 

เหตุนี้ จึงต้องใช้ “มาตรฐาน” ในคำอธิบาย มากกว่าหนึ่งมาตรฐาน. มาตรฐานในคำอธิบาย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กรอบอ้างอิง. กรอบอ้างอิง ถูกนำมาใช้เป็นมโนทัศน์ ในการให้คำนิยามแก่เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ ของมวล สสาร แรง พลังงาน ในทุกขนาด ทุกมิติ. หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า กรอบอ้างอิง คือ บริเวณของมุมมอง ที่มองสิ่งเดียวกัน (วัตถุ เหตุการณ์) ของผู้สังเกต มากกว่าหนึ่งคน และแต่ละคน มีพิกัดตำแหน่ง มีหมุดเวลา และมีความเร็วในการเคลื่อนที่ ที่แตกต่างกัน, ย่อมทำให้ผลลัพธ์หรือข้อสรุป ที่เกิดจากการมองนั้น แตกต่างกันไปด้วย. จึงสรุปได้ว่า ไม่มีมุมมองของใครผิด.

 

โดยเฉพาะ การอธิบายเกี่ยวกับจิตวิญญาณ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันเลยกับ มวล สสาร แรง พลังงาน. จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องใช้มโนทัศน์สัมพัทธภาพ และกรอบอ้างอิงจินตภาพ มาประกอบคำอธิบาย ในสิ่งที่มนุษย์เข้าใจยาก ให้เข้าใจได้ถูกต้อง. เช่น ภพชาติของมนุษย์ เทวดา นรก ภาวะวิมุตติ นิพพาน เป็นต้น.

 

ที่จริงแล้ว กฎธรรมชาติทั้งหลาย ย่อมสอดคล้องกันเสมอ. สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ กับสิ่งที่ตถาคตตรัสรู้ ต่างก็อิงกฎธรรมชาติเหมือนกัน เพียงแต่ว่า “วัตถุ” ที่นำมาอธิบาย มีคุณสมบัติต่างกันมาก, สิ่งหนึ่งเป็นวัตถุธาตุ อีกสิ่งหนึ่งเป็นจิตธาตุ. ดังนั้น ความสอดคล้องกันของกฎธรรมชาติ ของนักวิทยาศาสตร์ กับ กฎธรรมชาติของตถาคต ย่อมมีส่วนเหลื่อมที่เหมือนกัน และส่วนที่ต่างกัน. ส่วนเหลื่อมที่เหมือนกัน จะใช้อธิบายสิ่งที่เป็นวัตถุธาตุ หรือรูปธาตุ เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ ก็คือ มวล สสาร แรง พลังงาน, สามารถใช้กฎฟิสิกส์มาอธิบายร่วมกันได้. แต่ในส่วนจิตธาตุ หรือ จิตวิญญาณ ตถาคต มีกฎของตนเอง (อิทัปปัจจยตา–ปฏิจจสมุปบาท–อริยสัจสี่) ที่จะนำมาใช้ และกฎที่พระองค์บัญญัติขึ้น ทันสมัยในทุกกาลเวลา มีความเสถียร ถูกต้อง ตรงจริงเสมอ.

 

นับว่าเป็นการสมควรแล้ว ที่นักวิทยาศาสตร์ มีขอบเขตศึกษาแค่เรื่องของวัตถุธาตุ. ถ้านักวิทยาศาสตรคนใดคนหนึ่ง ออกมาประกาศว่า ตนเองตรัสรู้ธรรมอันวิเศษ หรือ ค้นพบอนุภาคพระเจ้าแล้ว. ก็ไม่ทราบว่า จะวางพระพุทธเจ้า และพระเจ้าองค์อื่นๆ ไว้ตรงไหน. ขณะเดียวกัน ถ้าพระพุทธเจ้า ประกาศทฤษฎีสัมพัทธภาพ แทนไอน์สไตน์ และทฤษฎีบิกแบง ก็ไม่ทราบว่า จะมีนักวิทยาศาสตร์ไว้ทำไม เช่นกัน.

 

ภารกิจร่วมระหว่างวิทยาศาสตร์–พุทธศาสน์ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างสันติ. บทสรุปแห่งทฤษฎี สรรพสิ่งสัมบูรณ์ ด้วยสัตตะธัมมะธาตุ กับมโนทัศน์สัมพัทธภาพ ได้อุบัติเกิดดุจด้านทั้งสอง ของเหรียญเดียวกัน. และได้แสดงให้เห็นว่า มุมมองแบบวิทยาศาสตร์ กับแบบพุทธศาสน์ ต่างก็ใช้ระเบียบวิธี มโนทัศน์สัมพัทธภาพ เช่นเดียวกัน ในการศึกษาธรรมชาติ อันนำไปสู่แนวทาง ในการพิสูจน์ความจริง พิสูจน์เหตุการณ์ ที่มีความแตกต่างกัน ในด้านขนาด พื้นที่ ระยะเวลา และวัตถุ-บุคคล. มโนทัศน์สัมพัทธภาพ จึงเป็นเครื่องมือที่มีคุณูปการ ต่อการศึกษาค้นคว้า วิทยาการ ทุกแขนง ตลอดจน การสื่อสารมวลชน และการสืบสวนสอบสวน.


 

บรรณานุกรม

(ก) หนังสือ

ธอร์น, คิป เอส. (2554). ประวัติย่อของหลุมดำ Black Holes & Time Warps. แปลโดย ดนัย วิโรจน์อุไรเรือง, รศ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: มติชน.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). (2559). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 34. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพพระธรรมปิฎก.

ฮอว์กิ้ง, สตีเฟน. (2554). ประวัติย่อของกาลเวลา ฉบับภาพประกอบ. แปลโดย ปิยบุตร บุรีคำ, ดร. และ อรรถกฤต ฉัตรภูติ, ดร. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: มติชน.

SCIENCE ILUSTRATED Journal, Volume No. 67/2017. Post International Media. Co., Ltd. กรุงเทพมหานคร : ทรินิตี้ พับลิชชิ่ง.

(ข) โปรแกรมคอมพิวเตอร์

พุทธวจนสถาบัน. (2555–2560). พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 1 – 16. ปทุมธานี: มูลนิธิพุทธโฆษณ์. [ซอฟต์แวร์]. แหล่งดาวน์โหลด http://watnapp.com/book

สุธี สุดประเสริฐ. (2553). โปรแกรมตรวจหาและเทียบเคียง พุทธวจนจากพระไตรปิฎก (E-Tipitaka v3.0.6 – v3.0.7). [ซอฟต์แวร์]. แหล่งดาวโหลด http://etipitaka.com-#download

[กลับไปหน้าสารบัญ บทความ หนังสือเล่ม ร้อยกรอง บทเพลง]


 


บทความ:
ทุกข์ปัญหา มีทางออกด้วย สมการของเหตุการณ์ และ สมการของจักรวาล.

 

โดย สู่ดิน ชาวหินฟ้า
1 กุมภาพันธ์ 2564.

 

 

มนุษย์ทุกคน ย่อมเผชิญกับความกลัว และความทุกข์ยาก ลำบาก ในการดำรงชีพ ในขณะเดียวกัน ก็ปรารถนา และแสวงหาความสุข ความมั่นคง ในการดำรงชีพ. ความกลัว ความทุกข์ เป็นเหตุการณ์ในปัจจุบัน ความสุข ความมั่นคง เป็นเหตุการณ์ ในอนาคต.

 

การแก้ปัญหา หรือ การหาวิถีทาง ที่จะได้มาซึ่ง ความสุข ล้วนแต่ เป็นสิ่งที่ มนุษย์ ต่างคาดการณ์ ว่ามันควรจะ มันน่าจะ เป็นเช่นนั้น เช่นนี้. ทำให้ การคาดการณ์ กลายเป็นเครื่องมือ และเป็นสิ่งจำเป็น ในปัจจุบัน ที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ ต้องมี.

 

โดยเฉพาะ การคาดการณ์ ในสิ่งที่ประสาทสัมผัสมนุษย์ เข้าไม่ถึง. และมักเรียก สิ่งเหล่านั้นว่า “สิ่งลึกลับ” (ความไม่รู้ ในสิ่งที่ไม่รู้) แน่นอนว่า มนุษย์ย่อมไม่ท้อถอย ย่อมไม่ละเว้น ที่จะทำ ที่จะต้องรู้ สิ่งลึกลับนั้น ให้ได้. และ สิ่งลึกลับ เหล่านั้น อาจคือ ต้นเหตุ ของปัญหาทุกข์ยาก ลำบาก ของพวกเขาก็ได้. การค้นหา การเข้าให้ถึง สิ่งลึกลับ เหล่านั้น ไม่อาจกระทำด้วยวิธีอื่น นอกจาก การคาดการณ์ ด้วยจินตนาการ และความรู้เดิม ที่ตนมี.

 

มนุษย์สามารถกำจัด ทุกข์ปัญญา และสร้างความสุข ความมั่นคง ในขณะเดียวกันได้. ด้วย 2 สมการนี้ คือ สมการของเหตุการณ์ และ สมการของจักรวาล. สมการทั้งสอง จะถูกใช้เป็นเครื่องมือ ในการแก้ปัญหา ความทุกข์ยาก ลำบาก, การแสวงหาความสุข ความมั่นคงในชีวิต ตลอดจน ปัญหาที่มนุษย์ ไม่ควรรู้ แต่ (เสือก) อยากรู้ ซึ่งมักเรียกให้ สุภาพ สวยหรูว่า ปัญหาทางปรัชญา เช่น จักรวาล อวกาศ ดวงชะตา วิบากกรรม เป็นต้น.

 

(1)
สมการของเหตุการณ์:

 

การคาดการณ์ล่วงหน้า (ความรู้-ความจริง หรือ เหตุการณ์ ในปัจจุบัน) = จินตนาการ  (ความรู้-ความจริง หรือ เหตุการณ์ ในอนาคต) + ประสบการณ์  (ความรู้-ความจริง หรือ เหตุการณ์ ในอดีต)

 

pre = im + ex

เมื่อ pre คือ predict-การคาดการณ์ล่วงหน้า (เหตุการณ์ในปัจจุบัน), im คือ imagination-จินตนาการ (เหตุการณ์ในอนาคต), ex คือ experiance-ประสบการณ์ (เหตุการณ์ในอดีต).

 

การคาดการณ์ สิ่งที่จะเกิดขึ้น ในอนาคต ในขณะที่เรา ยังอยู่ ณ เวลาปัจจุบัน มีความจำเป็น ถูกนำไปใช้ อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ ในชีวิตประจำวัน, วิชาชีพโหราศาสตร์ หมอดู นักวิพากษ์-วิจารณ์ นักข่าวสืบสวนสอบสวน นักสืบ. การตั้งข้อสมมุติฐาน ของนักวิจัย ก็ใช้การคาดการณ์ เช่นกัน.

 

การคาดการณ์ เพื่อให้ได้ความจริงมากที่สุด จะมีประสิทธิภาพขนาดใด ขึ้นอยู่กับ ประสบการณ์ ความรอบรู้ และ จินตนาการ ภายใต้ตรรกะ และหลักเหตุผล ของผู้คาดการณ์. ไม่มีการคาดการณ์ใด จะได้ผลลัพธ์ เต็ม 100% เพราะเหตุปัจจัยแวดล้อม เปลี่ยนแปลง ตลอดเวลา แม้การคาดการณ์นั้น จะได้มาจาก มุมมองที่เป็นสัมพัทธ์ (มโนทัศน์สัมพัทธภาพ) ก็ตาม.

 

(2)
สมการของจักรวาล:

 

 

จักรวาล (universe) ดำรงอยู่ได้ตลอดนิรันดร์ (infinity) เพราะ ผลรวมของ พลังงาน คูณกับ เวลา (พลังงาน และ เวลา คือ องค์ประกอบของ จักรวาล).

 

ในที่นี้ พลังงาน จะรวมถึง มวลของสสาร ด้วย (energy & mass-matter). สูตรสมการ การกำเนิดของจักรวาล เป็นดังนี้ -

 

อนันต์ (infinity) = ผลรวมของ พลังงาน (energy) x เวลา (time)

 

แต่ ตามหลักการของ ระบบสังขตธรรม (ระบบมูลฐานของธรรมชาติ หรือ “ต้นธาตุ ต้นธรรม”) กล่าวไว้ว่า เมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งนั้น ย่อมเสื่อม และดับสลาย แปรเปลี่ยน เป็นอย่างอื่น. จักรวาล ก็ตกอยู่ภายใต้ ระบบสังขตธรรม ด้วยเช่นกัน. จักรวาลจะสูญหายไปทั้งหมด ก็ต่อเมื่อ เกิดการหักล้างกันเอง ของ พลังงาน และ เวลา ไปจนหมดสิ้น.

 

 

นี่คือ สูตรสมการ การดับสลายของจักรวาล -

 

ศูนย์สัมบูรณ์ (|O|) = et/infinity

 

แค่ดูเหมือนว่า สูตรสมการ การดับสลายของจักรวาล จะขัดแย้งกันเอง, กล่าวคือ ศูนย์สัมบูรณ์ หรือ การหายไปของจักรวาล ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง. เพราะ (1) พลังงาน เปลี่ยนสถานะได้ (การเปลี่ยนสถานะ ไม่ใช่ การสูญหาย). (2) เวลา เป็นธรรมชาติ ที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว มีอยู่ในปัจจุบัน และจะมีอยู่ตลอดกาล.

 

พลังงาน และ เวลา ถือเป็น ต้นธาตุ ต้นธรรม โดยแท้ และเป็นองค์ประกอบส่วนแรก ของ “อวิชชา” อวิชชา มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็น วัตถุธาตุ กับส่วนที่เป็น จิตธาตุ.

 

โดยเนื้อแท้แล้ว อวิชชา “มันไม่รู้เรื่อง อะไร.” ความไม่รู้เรื่องอะไร ของอวิชชา จึงเป็น (โทษ) สมบัติติดตัว ของอวิชชา ตามธรรมชาติของมันเอง.

 

ก็ในเมื่อ พลังงาน และ เวลา ไม่มีวันสูญหายไปจากจักรวาลแล้ว เราจะไปถึง ศูนย์สัมบูรณ์ ได้อย่างไร. ข้อนี้ ยังคงเป็นปัญหาตลอดกาล ของนักฟิสิกส์ นักดาราศาสตร์ ที่พวกเขา พยายามจะค้นหา ความจริงของ การกำเนิด และการสิ้นสุด ของจักรวาล. เพราะเหตุที่ จักรวาล ประกอบด้วย วัตถุธาตุ และ จิตธาตุ นั่นเอง. ขณะที่ นักวิทยาศาตร์ มุ่งศึกษา เฉพาะด้านวัตถุธาตุ เท่านั้น.

 

ผู้ที่ตอบปัญหานี้ได้ดีที่สุด คือ พระพุทธเจ้า. พระองค์ ได้ทำการแยก สมบัติด้านจิตธาตุ และ สมบัติด้านวัตถุธาตุ ของอวิชชา ออกจากกัน. ตามหลักอิทัปปัจจยตา ที่ว่า เพราะอวิชชามี สังขารจึงมี เพราะสังขารมี วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณมี นามรูปจึงมี. นั่นเท่ากับว่า อวิชชา ได้ส่งต่อ สมบัติทั้งสองด้าน (วัตถุธาตุ จิตธาตุ) ไปยัง สังขาร และ นามรูป โดยมี วิญญาณ เป็นผู้รู้ คอยชี้บอก (ชี้เบาะแส) ว่า นี่ นั่น โน่น คือ นามรูป. ดังนั้น นามรูป ย่อมประกอบด้วย วัตถุธาตุ-จิตธาตุ เสมอ.

 

กล่าวโดยสรุป สรรพสิ่ง ล้วนเป็นสิ่งสมมุติ ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา โดยธรรมชาติ, ให้เป็นสิ่งที่มีอยู่ เช่นนั้นๆ เอง ในจักรวาล (ธัมมัฏฐิตตา, ตถตา) สิ่งที่มีอยู่แล้วนั้น มันคือกฏตายตัวของธรรมชาติ (ธัมมนิยามตา) มันจะไม่ผิดไปจาก ความเป็นอย่างนั้น (อวิตถตา) มันจะไม่เป็นไปโดยประการอื่น จากความเป็นจริงอย่างนั้น (อนัญญถตา) และ การเกิด การดำรงอยู่ (อุปปาโท ปัญญายติ) การเสื่อม (วโย ปัญญายติ) การแปรปรวน (ฐิตัสส อัญญถัตตัง ปัญญายติ, อนิจจตา, ทุกขตา) เหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่ย่อมเป็นไปตามเหตุ, เมื่อมีสิ่งนี้ เป็นปัจจัยแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ จึงเกิดขึ้น (อิทัปปัจจยตา). [บาลี - ติก. อํ. 20/192/486., นิทาน. สํ. 16/30/61. และ 16/58/159., สฬา. สํ. 18/179/245.]

 

สสาร พลังงาน เวลา ความโน้มถ่วง แสง แรง มิติ อวกาศ วิญญาณ ตัณหา ภพ ชาติ ชรา มรณะ เหล่านี้ ย่อมเป็นไป ดำเนินไป เกิด ดับ สลับ สถานะ วนไป ในจักรวาล ตลอดกาล, ไม่มีสิ่งใด ไปห้ามมันได้เลย.

 

มีเพียง พระตถาคต เท่านั้น ที่สามารถแยก “สิ่งหนึ่ง” ซึ่งเป็นธรรมชาติ ที่ไม่มีการเกิด ไม่มีการเสื่อม ไม่มีการตาย ออกจาก จักรวาล ได้สำเร็จ และเรียก สิ่งนั้นว่า สุญญตา หรือ เรียกอีกอย่างว่า “ที่สุดโลก” ซึ่งก็คือ วิมุตติ หรือ นิพพาน นั่นเอง.

 

การแยก สิ่งหนึ่ง ออกจาก ระบบสังขตธรรม (การปรุงแต่ง) พระตถาคต เรียกว่า ระบบอสังขตธรรม. พระองค์ เริ่มต้นแยก สลาย วัตถุธาตุ ออกจาก จิตธาตุ ตั้งแต่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ ไล่ไป จนถึง นามรูป ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ, ดังนั้น สถานะวัตถุธาตุ ที่มีใน พลังงาน และ เวลา พระองค์ ไม่ได้ไปแตะต้องมันเลย.

 

เหตุนี้ จึงได้ข้อสรุป เป็นที่ยุติว่า การทำลาย ตัดขาด เส้นทางการเกิด ของสิ่งที่เป็น จิตธาตุ ที่มีในพลังงาน เวลา, (ปฏิจจสมุปบาท สายเกิด) เท่ากับ เป็นการตัดสถานะอนันต์ (วัฏจักร | วัฏสงสาร | สังสารวัฏ | infinity) เฉพาะในส่วน จิตธาตุ เท่านั้น. ทำให้สมการ ศูนย์สัมบูรณ์ กลายเป็น สุญญตา ไปในที่สุด.

 

เมื่อจิตธาตุ ถูกเปลี่ยนเป็น สุญญตา แล้ว, ก็ไม่ได้ไปมีปฏิกิริยาอย่างใด กับ วัตถุธาตุ, แม้จะอยู่ร่วม “ร่าง” (body) เดียวกัน. คงปล่อยให้ พลังงาน และเวลา มันเกิด ดำเนินไป ตามธรรมชาติ ของมัน ในสถานะ วัตถุธาตุ. ข้อนี้ เป็นหลักยืนยันว่า พระอรหันต์ ย่อมยังสามารถ มีชีวิตตามปกติได้ ถ้าร่างกายยังไม่ตาย. เรียกสภาวะของผู้นั้นว่า สอุปาทิเสสนิพพาน.

 


 

บรรณานุกรม

สู่ดิน ชาวหินฟ้า. (2563). สรรพสิ่งสัมบูรณ์ ด้วยสัตตะธัมมะธาตุ: สัมพัทธภาพ ของ ความจริงสมมุติ กับ ความจริงปรมัตถ์ (The 7-Element: Absolute of Everything). [ออนไลน์]. แหล่งดาวน์โหลด http://www.igoodmedia.net/author/index.html?#the-7-element

พระไตรปิฏก ฉลับบาลีสยามรัฐ. ติก. อํ. 20/192/486., นิทาน. สํ. 16/30/61. และ 16/58/159., สฬา. สํ. 18/179/24

 

[กลับไปหน้าสารบัญ บทความ หนังสือเล่ม ร้อยกรอง บทเพลง]


thinking focus new idea today
คำคม คำคิด แง่คิด ชีวิตดี

 


igood media copyright
 
SUDIN CHAOHINFA, igoodmedia.net : Administration and Producer
Copyright © 2010-2021 intelligence good media homeschool.
All rights reserved. me@igoodmedia.net