igood media
หน้าแรก - ชุมชน คนคิดดีวรรณกรรม - วิชาการ - บทความ เรื่องสั้น ร้อยกรอง เพลงภาพยนตร์ - บทภาพยนตร์ ภาพยนตร์ตัวอย่าง วิดีโอ มิวสิควิดีโอ
นิเทศศาสตร์ - วิชาเรียน บรรยาย ตำรา เอกสารการเรียน สื่อการเรียน ถาม ตอบ

Blog film school

My Media channel

blog

1 หน้าแรก
2
บทความ
หนังสือเล่ม
ร้อยกรอง เพลง
3
บทภาพยนตร์
ภาพยนตร์สั้น
วีดิโอ มิวสิควีดิโอ
4
วิชาเรียน นิเทศศาสตร์
ตำราเอกสาร
สื่อการเรียน
 

 

 

 

บทที่ 1
วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์ :
นวัตกรรมทางปัญญา ของเผ่าพันธุ์มนุษย์

 

 

 

TOPIC

พันธกิจของ วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์

สิ่งที่พุทธศาสน์ ค้นพบ อาจเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ กำลังค้นหา (ความทุกข์ กับ กรรม ในขันธ์-5 เกิดขึ้น เพราะมี ผัสสะ, วัตถุ สสาร เปลี่ยนสถานะ เพราะมี สิ่งอื่นกระทำ, ลักษณะและคุณสมบัติ ของ ความจริงสมมุติ กับ ความจริงแท้)

ความจริงที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ อาจถูกลบล้างได้ตลอดเวลา
แต่ความจริงที่ตถาคตตรัสรู้ เป็นความจริงแท้ตลอดกาล
(ความจริงที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ อาจถูกลบล้างในภายหลัง, ความจริงที่ตถาคตตรัสรู้ เป็นความจริงแท้ตลอดกาล)

 

[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]

 

1.1
พันธกิจของ วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์

 

การศึกษาเรียนรู้สรรพสิ่ง เกี่ยวกับความจริงด้านวัตถุธาตุ และ ความจริงด้านจิตธาตุ ก่อเกิดคำถามมากมาย, สรรพสิ่งเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ดำรงอยู่อย่างไร มีอิทธิพลอะไรบ้าง ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การดับสลาย. มนุษย์เกิดมาได้อย่างไร ตายแล้วจะไปไหน ซึ่งเป็นคำถามที่หาคำอธิบายได้ยาก. แต่ความจริงอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์รับรู้ได้และหลีกหนีไปไม่พ้น คือ เกิด แก่ ตาย และทุกขภาพต่างๆ. ความจริงข้อนี้ เป็นปัญหาใหญ่ของมนุษย์, วิทยาศาสตร์ ได้ยื่นมือเข้าไปช่วยได้ระดับหนึ่ง เช่น การสร้างภูมิคุ้มกันโรค การประดิษฐ์คิดค้นยารักษาโรค ที่จะทำให้มนุษย์ ไม่แก่ ไม่เจ็บป่วย ตลอดจน การประดิษฐ์ วิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆ ตอบสนองความสุข สะดวก สบาย ให้แก่มนุษย์ตลอดเวลา. นั่นคือบทบาทของวิทยาศาสตร์ ที่มีต่อมนุษย์หลังการเกิด. แต่มนุษย์ก็ยังไม่มีความมั่นใจว่า หลังการตาย จะหลีกพ้นจากทุคติต่างๆ ได้อย่างไร, ทำให้ลัทธิ ความเชื่อต่างๆ มีโอกาสเข้าไปจัดการกับชีวิตหลังการตาย เพื่อให้ชีวิตหลังการตาย พบกับสุคติ ไม่ต้องไปสู่นรก เดรัจฉาน เปรต.

มีข้อสังเกตว่า วิทยาศาสตร์ แก้ปัญหาหลังการเกิด ในขณะที่ ลัทธิความเชื่อ แก้ปัญหาหลังการตาย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ. เพราะเมื่อมนุษย์เกิดมา ก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย แล้วไปเกิดอีก วนเวียนเช่นนี้ไม่สิ้นสุด. ศาสนาแนวเทวนิยม ที่มีพระเจ้า บันดาล ช่วยได้แค่ทำให้ชีวิตหลังการตาย หยุดพักชั่วคราว ในภาวะสุขคติ, แต่หลังจากนั้น ก็ต้องไปเกิดอีก ในภพภูมิที่ไม่สามารถเลือกได้ คือ ภพภูมินรก สัตว์เดรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์ เทวดา. มีเพียงศาสนาพุทธเท่านั้น ที่เป็น อเทวนิยม สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้อย่างแท้จริง นั่นคือ ทำอย่างไร มนุษย์ที่เกิดมาแล้ว จะต้องไม่สร้างปัจจัยในการเกิดอีก.

 

“วิทยาศาสตร์ แก้ปัญหาความแก่ ความเจ็บป่วย และทุกขภาพ
ลัทธิ ความเชื่อ แก้ปัญหาการตาย และหลังการตาย
พุทธศาสน์ แก้ปัญหาการเกิด อันเป็นต้นเหตุของ แก่ เจ็บ ตาย”

 

ตถาคต ค้นพบว่า อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป ผัสสะ คือปัจจัยหรือต้นเหตุของการเกิด. พระองค์ จะกล่าวถึง ส่วนที่เป็นรูปวัตถุ ไว้แค่ ภูตรูป – ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น. นอกนั้น จะมุ่งศึกษา คุณสมบัติและอาการ (อาการ ลิงคะ นิมิต อุเทศ ) [01] ของจิตวิญญาณ ในแง่มุมต่างๆ ซึ่งเรียกว่า อุปาทายรูป. พระองค์จะไม่พูดถึงวิทยาการ เทคโนโลยีเลย เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการเกิดแต่อย่างใด.


[01]  “ ... ดูก่อนอานนท์ ! การบัญญัติซึ่งนามรูป ย่อมมีได้โดยอาศัย อาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ ทั้งหลายเป็นหลัก, เมื่ออาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ เหล่านั้น ไม่มีเสียแล้ว, ผัสสะ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”) ...” ตถาคต ตรัสแก่พระอานนท์ ที่กัมมาสทัมมนิคม แค้วนกุรุ ในการขยายความ ปฏิจจสมุปบาท “ผัสสะมี เพราะปัจจัยคือนามรูป”. ดู ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์. [ซอฟต์แวร์]. E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 788. | บาลี - มหานิทานสูตร มหา. ที. 10/67/58.

 

ปัจจุบัน นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ รู้จักวัตถุธาตุในเอกภพ เพียงร้อยละ 4.6 เท่านั้น อีกกว่าร้อยละ 95 ยังไม่รู้จัก และเรียกมันว่า วัตถุมืด (dark matter). การให้คำนิยามใดๆ แก่สิ่งต่างๆ ที่ค้นพบ ต้องอาศัย ผัสสะ (contact) ตากระทบรูปวัตถุ หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส ผิวกายกระทบวัตถุ ใจกระทบอารมณ์ จึงจะบัญญัตินาม และคุณสมบัติให้แก่สิ่งนั้นๆ ได้. สิ่งที่มีขนาดเล็กมากๆ เช่น อะตอม หรือใหญ่มากๆ เช่น สุริยะ ดาราจักร ไม่อาจใช้ผัสสะดังกล่าวได้. ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ จึงต้องอาศัย “จินตนาการ” ประกอบทฤษฏีของตนเอง ในการเข้าถึงสิ่งที่มีขนาดเล็กระดับอะตอม และสิ่งที่มีขนาดใหญ่ระดับดาราจักร. แต่การเข้าถึงนามธรรม ตถาคต อาศัย “ญาณ” หรือการหยั่งรู้ ในการอธิบายสิ่งต่างๆ โดยพระองค์ เรียกสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักแล้วว่า โลกธาตุ (เอกภพ) วัตถุ จิตวิญญาณ รวมถึงนิพพาน.

พลังการหยั่งรู้ของตถาคต มีความเร็วเหนือกว่าความเร็วแสง แทงทะลุทั่วเอกภพ และไปได้ไกลไร้ขอบเขต ไร้กาลเวลา (จะไปจะกลับเมื่อใดก็ได้). ทำให้พระองค์ รอบรู้สรรพสิ่งทั่วเอกภพ ทั้งคุณสมบัติและอาการของวัตถุธาตุ สัตว์ บุคคล . เรียกพลังแห่งการหยั่งรู้นี้ว่า สัพพัญญุตญาณ หรือ ตถาคตพลญาณ มีลักษณะ 10 ประการ คือ [02]

(1) ฐานาฐานญาณ (หยั่งรู้ฐานะและอฐานะ ว่าสิ่งใดมีได้ เป็นได้ หรือมีไม่ได้ เป็นไม่ได้)

(2) กรรมวิปากญาณ (หยั่งรู้กรรม และวิบาก)

(3) สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (หยั่งรู้การปฏิบัติ ที่จะนำไปสู่คติ ทุคติ)

(4) นานาธาตุญาณ (หยั่งรู้เรื่องราวเกี่ยวกับธาตุต่างๆ)

(5) นานาธิมุตติกญาณ (หยั่งรู้อธิมุติ คือ ฉันทะและอัธยาศัย ของสัตว์ทั้งหลาย)

(6) อินทริยปโรปริยัตตญาณ (หยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ บุคคล ทั้งหลาย)

(7) ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ (หยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ่ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิและสมาบัติทั้งหลาย)

(8) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (หยั่งรู้อดีต ระลึกชาติของตน)

(9) จุตูปปาตญาณ (หยั่งรู้อนาคต การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม)

(10) อาสวักขยญาณ (หยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย)

 


[02] พระองค์ตรัสแก่ พระสารีบุตร ที่ชัฎป่า นอกนครเวสาลี. ดู พุทธประวัติจากพระโอษฐ์. [ซอฟต์แวร์]. E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 135. | บาลี - นิทาน. สํ. 16/33/65., มหาสีหนาทสูตร มู. ม. 1/140/166.

 

บทสรุปทางวิทยาศาสตร์ จะตัองชัดเจน และจับต้องได้. นามธรรม ความเชื่อ ความคิด เป็นสิ่งที่อยู่ระหว่าง จินตนาการกับความจริง จะต้องทำให้ชัดเจน หาตัวชี้วัดให้ได้. วิทยาศาสตร์ ยอมรับจินตนาการอยู่บ้าง, ถ้าสิ่งนั้นซับซ้อนเกินไป หรือยังไม่มีเครื่องมือที่จะพิสูจน์ได้ ก็จะตั้งเป็นสมมุติ-ฐานไว้ก่อน แล้วค่อยพิสูจน์ภายหลัง เช่น สสารมืด อนุภาคพระเจ้า. อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein, 1879-1955 A.D.) นักฟิสิกส์ทฤษฎี ผู้กำเนิดทฤษฎี สัมพัทธภาพพิเศษ และสัมพัทธภาพทั่วไป ยอมรับว่า ทฤษฎีเหล่านั้น มีการใช้จินตนาการมาก่อน และต่อมาได้รับการยืนยัน จนเป็นทฤษฎีอันยิ่งใหญ่.

เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถวัดค่าต่างๆ ของจิตวิญญาณได้, จึงไม่สามารถบอกได้ว่า วิญญาณมีสถานะอย่างไร มีมวลหรือไม่ มีสถานะเป็นอนุภาคหรือพลังงาน มีขอบเขต หรือระยะพิกัดอย่างไร. วิญญาณ เป็นสิ่งละเอียดอ่อน ซับซ้อน ลึกซึ้ง ไม่สามารถอธิบาย หรือพิสูจน์ในเชิงรูปธรรมได้. มีเพียงตถาคตเท่านั้น ที่อธิบายจิตวิญญาณ ไว้ในหลายๆ แง่มุมโดยละเอียด. ถ้านักวิทยาศาสตร์ พยายามเข้าใจ และเข้าถึงวิญญาณ พวกเขาจำเป็นต้องใช้จินตนาการ อย่างลึกซึ้ง เพื่อประดิษฐ์คำนิยาม เกี่ยวกับวิญญาณ ด้วยภาษาวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยากในการพิสูจน์อยู่ดี. การที่นักวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถอธิบายเกี่ยวกับจิตวิญญาณ กลับเป็นข้อดี เพราะนั่นไม่ใช่ขอบเขตของวิทยาศาสตร์, ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพุทธศาสน์ เป็นผู้อธิบายจะถูกต้องมากกว่า. และในทางกลับกัน, พุทธศาสน์ ก็ไม่จำเป็นต้องไปศึกษาด้านฟิสิกส์ หรือเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับ วัตถุธาตุต่างๆ ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนกับงานของนักวิทยาศาสตร์.

ศาสดาของลัทธิอื่นและคนทั่วไป เข้าใจจิตวิญญาณ แตกต่างไปจาก ตถาคต. พระองค์กล่าวถึง วิญญาณ และ นิพพาน ในเชิงนามธรรม ไว้อย่างละเอียดหลายแง่มุม เพื่อให้คนเข้าถึงและสัมผัสได้ ด้วยตนเอง. นี่คือเอกสิทธิ์สำหรับ “ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ” เท่านั้น ที่จะเป็นผู้บัญญัติอธิบาย ทั้งหัวข้อและรายเอียดต่างๆ เกี่ยวกับ วิญญาณและนิพพาน. พระสาวก และผู้อนุปสัมบัน ไม่บังควรไปแก้ไข เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง คำบัญญัติ คำอธิบาย ที่มีในพุทธวจน. เพราะทุกถ้อยคำ มาจากการหยั่งรู้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางภูมิปัญญา ที่มนุษย์คนใดในเอกภพ ไม่สามารถทำได้. สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้น ตั้งอยู่บนหลักความจริงแท้ (ปรมัตถธรรม) คือ จริงในทุกสถานที่ จริงในทุกกาลเวลา จริงกับสัตว์ บุคคล ทุกผู้ ที่เข้าถึงธรรม.

 

นี่คือข้อสรุปว่า การนิยามความจริง ทั้งสองด้าน (สมมุติสัจจะ และ ปรมัตถสัจจะ) เกี่ยวกับจิตวิญญาณ ไม่ใช่หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์. ในทางกลับกัน ความจริงเกี่ยวกับวัตถุมืดและพลังงานมืด ที่ซุกซ่อนอยู่ใน มิติและกาลอวกาศในเอกภพ ก็ไม่ใช่หน้าที่ของพระศาสดาเช่นกัน ที่จะต้องประกาศเปิดเผย แม้ว่าพระองค์ทรงรอบรู้ทั้งหมดแล้ว. พระองค์มองเห็นว่า ความจริงเหล่านั้น ไม่มีประโยชน์ ไม่ตอบโจทก์ที่จะแก้ปัญหาการเกิดของมนุษย์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง. แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ของนักวิทยาศาสตร์ คือ ความอยากรู้ ในสิ่งที่ยังไม่รู้, พวกเขาจึงคิดค้นเครื่องมือ เทคโนโลยี เพื่อมุ่งค้นหา “ทุกสิ่ง” และพิสูจน์การมีอยู่จริงของมัน ภายใต้กฎเกณฑ์และทฤษฎีต่างๆ มากมาย.

 

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

1.2
สิ่งที่พุทธศาสน์ ค้นพบ อาจเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ กำลังค้นหา

 

การสื่อความหมาย หรือการให้คำนิยามแก่สิ่งใดๆ นักวิทยาศาสตร์ต้อง ค้นพบ สิ่งนั้นก่อน ซึ่งตถาคต เรียกว่า ผัสสะ (contact). ถ้าโลกธาตุนี้ (เอกภพ) ไม่มี ผัสสะ ก็ไม่สามารถกำหนด หรือ บัญญัติ สิ่งใดๆ ได้เลย. นักวิทยาศาสตร์ ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ พลังงานและวัตถุธาตุบางอย่าง ที่ซ่อนอยู่ในเอกภพ เช่น อนุภาคคู่แฝดของธาตุต่างๆ ก็คงปล่อยให้เป็น วัตถุมืด หรือ พลังงานมืด ต่อไป. ซึ่งต่างจากพุทธศาสน์, สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเอกภพ ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ เป็นสิ่งที่ ตถาคต รู้แล้ว. พระองค์ ทรงหยั่งรู้ทุกเรื่อง เหมือนใบไม้สีสปาทั้งต้น แต่ที่พระองค์นำมาสอน มีเพียงน้อยนิด แค่ใบไม้ในกำมือเท่านั้น. สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่อยากรู้ เปรียบเหมือน ใบไม้บนต้นสีสปานั่นเอง.

 

•  พุทธวจน – สิ่งที่ตรัสรู้ แต่ไม่ทรงนำมาสอน มีมากกว่า

... ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายเข้าใจว่าอย่างไร, ใบไม้สีสปาที่เรากำขึ้นหน่อยหนึ่งนี้มาก หรือว่าใบไม้สีสปาที่ยังอยู่บนต้นเหล่านั้นมีมาก ?

... ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ธรรมะส่วนที่เรารู้ยิ่ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง แล้วไม่กล่าวสอนนั้น มีมากกว่าส่วนที่นำมาสอน. ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุไรเล่า เราจึงไม่กล่าวสอนธรรมะส่วนนั้นๆ ?

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่า ธรรมะส่วนนั้นๆ ไม่ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความดับ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่เป็นเพื่อความรู้พร้อม ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน, ฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวสอน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมะอะไรเล่า เป็นธรรมะที่เรากล่าวสอน ? ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมะที่เรากล่าวสอน คือข้อที่ว่า ความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ, เหตุเป็นที่เกิดของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ, ความดับสนิทของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ, ข้อปฏิบัติเพื่อถึงความดับสนิทของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุไรเล่า ธรรมะส่วนนี้เราจึงนำมากล่าวสอน ? ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะว่าธรรมะส่วนนี้ ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อความดับ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม เป็นไปเพื่อนิพพาน, เพราะเหตุนั้นแล เราจึงนำมากล่าวสอน.

ที่มา : พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 1. หน้า 39. | บาลี - มหาวาร. สํ. 19/548/1712.

 

1.2.1
ความทุกข์ กับ กรรม ในขันธ์-
5 เกิดขึ้น เพราะมี ผัสสะ
วัตถุ สสาร เปลี่ยนสถานะ เพราะมี สิ่งอื่นกระทำ

 

พุทธศาสน์ กล่าวว่า ชีวิตมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์บนโลก มีองค์ประกอบ 5 ประการ เหมือนกัน คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์-5. การดำเนินชีวิตของมนุษย์ จะขาดขันธ์ใดขันธ์หนึ่งไปไม่ได้ และในบรรดาขันธ์ทั้งห้า, วิญญาณ มีบทบาทมากที่สุด ในการสร้างการเกิด การมีอยู่ การรับรู้ และการกระทำต่างๆ ของมนุษย์. เพราะวิญญาณ คือ ธาตุรู้ เป็นผู้บอกว่า นั่นนี่คือรูป คือเวทนา คือสัญญา คือสังขาร.

สังขารธรรม ประเภทสัตว์ – ตัวตน – บุคคล ย่อมมีเจตนา และมีการกระทำ ซึ่งเรียกว่า “กรรม” เป็นปัจจัยหนึ่งในกระบวนการของ ขันธ์-5. ดังนั้น เจตนา กรรม สุข ทุกข์ เกิดขึ้น เพราะมี ผัสสะ เป็นต้นเหตุ. ส่วนสังขารธรรม ประเภทวัตถุ – สสาร เป็นสิ่งไม่มีชีวิต มีเพียงขันธ์เดียว คือ รูป (สสาร) ซึ่งไม่มีเจตนา ไม่ต้องมีกรรม ไม่ต้องมีสุข-ทุกข์ เหมือนสิ่งมีชีวิต. แต่มันก็ถูก “สิ่งอื่นกระทำ” อยู่ตลอดเวลา เช่น คลื่น แรง พลังงาน อุณหภูมิ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ อาการ รูปลักษณ์ รูปทรง ตำแหน่ง พิกัด ไปจากเดิม, ทำให้มันไม่อาจทนสภาพเดิมได้. หากจะกล่าวว่า ผัสสะ ไม่อาจเกิดขึ้นได้กับ วัตถุ – สสาร ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพียงแต่เปลี่ยนคำว่า ผัสสะ เป็น สิ่งอื่นกระทำ.

เหตุผลเดียว ที่ตถาคตอุบัติขึ้นมาบนโลกมนุษย์ และตรัสรู้ธรรม คือ ต้องการตัดวงจรการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของมนุษย์และสัตว์โลก ที่จะไม่ต้องวนเวียนเกิดตายอีกต่อไป. หลายชีวิตที่เกิดมา ต่างรักสุขเกลียดทุกข์ ด้วยกันทั้งสิ้น, แต่ความทุกข์ คือ แก่ เจ็บ ตาย ก็เป็นทรัพย์สมบัติประจำกาย. ทุกข์มีเพราะ มีการเกิด, ทำอย่างไร ที่จะไม่ต้องเกิดอีกซ้ำซาก. ทุกขภาพ มีความหมาย 2 นัย, ทุกข์ คือ การที่สัตว์ – ตัวตน – บุคคล วัตถุ – สสาร ตลอดจนธัมมะธาตุทุกประเภท ทนสภาพเดิมไม่ได้ เมื่อกาล เวลาเปลี่ยนไป มันจึงเสื่อมไปเรื่อยๆ ตัวตนที่แท้จริงของมัน จึงไม่มีอยู่จริง. ความหมายอีกนัยหนึ่ง, ทุกข์ คือ อารมณ์ ความรู้สึก (เวทนา) ของ สัตว์ – ตัวตน – บุคคล. เรามักเข้าใจว่า ทุกขภาพ มีลักษณะเป็นลบ คือความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ เพียงด้านเดียว. แท้จริง ทุกขภาพ มีลักษณะเป็นบวกได้ด้วย, ความรู้สึกสุข ก็เป็นความทุกข์แบบหนึ่ง เป็นการเหวี่ยงอารมณ์ที่แปรปรวน ไปฝั่งตรงกันข้ามนั่นเอง.

 

•  พุทธวจน – เหตุเกิดของทุกข์

อานนท์ ! ความทุกข์นั้น เรากล่าวว่า เป็นสิ่งที่อาศัยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเกิดขึ้น (เรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม).

ความทุกข์นั้น อาศัยปัจจัย อะไรเล่า ? ความทุกข์นั้น อาศัยปัจจัย คือ ผัสสะ , ผู้กล่าวอย่างนี้แล ชื่อว่า กล่าวตรงตามที่เรากล่าว ไม่เป็นการกล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง; แต่เป็นการกล่าวโดยถูกต้อง และสหธรรมิกบางคนที่กล่าวตาม ก็จะไม่พลอยกลายเป็นผู้ควรถูกติไปด้วย.

อานนท์ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมทั้งสี่พวกนั้น :

สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ตนทำเอาด้วยตนเอง, แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดได้;

สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ผู้อื่นทำให้, แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิดมีได้;

สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ตนทำเอาด้วยตนเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย, แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิดมีได้;

ถึงแม้สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทำเองหรือใครทำให้ก็เกิดขึ้นได้ ก็ตาม, แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิดมีได้อยู่นั่นเอง.

ที่มา : พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 5. หน้า 152. | บาลี - นิทาน. สํ. 16/40/75.

 

ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสน์ จึงวางพันธกิจหลักสำหรับหน้าที่ของมนุษย์ คือ การตัดสายพานของการเกิด (ปฏิจจสมุปบาท), ซึ่งจะทำให้ผลิตผลของ สายพานการเกิด ซึ่งเรียกว่า ขันธ์-5 นั้น ไม่ต้องกลับมา สู่รอบของการเกิดใหม่อีกต่อไป.

 

“กระบวนการ สังขารทั้งหลาย” กล่าวว่า การเรียนรู้ วิทยาการต่างๆ ก็คือ การสั่งสม สังขารทั้งหลาย ลงไปใน นามรูป โดย วิญญาณ เป็นผู้รับรู้ และมีบทบาทหน้าที่ ตลอดทั้งกระบวนการ

ดังนั้น วิทยาการ หรือ ความรู้ ก็คือ นามรูป ที่เป็น สมมุติสัจจะ . มนุษย์เรียนรู้สมมุติสัจจะ เพื่อแก้ปัญหา สุข ทุกข์ ทางกาย. ส่วน สุข ทุกข์ ทางใจ มนุษย์จะต้องก้าวข้าม นามรูป เพื่อเข้าสู่ ปรมัตถสัจจะ ด้วยการ เรียนรู้ ขันธ์ห้า ซึ่งเป็นผลิตผลของ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้ว ละวาง ขันธ์ห้า ให้ได้. องค์ความรู้ ในการละวางขันธ์ห้านี้ เรียกว่า “ปรมัตถปัจจยการ”

 

1.2.2
ลักษณะและคุณสมบัติ ของ ความจริงสมมุติ กับ ความจริงแท้

 

ความจริง เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่เป็น “ความจริง” สองลักษณะ คือ จริงสมมุติ หรือ สมมุติสัจจะ กับ จริงแท้ หรือ ปรมัตถสัจจะ. ตถาคต เรียกความจริงสมมุตินั้นว่า สังขตธรรม และเรียกความจริงแท้นั้นว่า อสังขตธรรม. นักวิทยาศาสตร์ มุ่งค้นคว้า ความจริงด้านสมมุติเป็นหลัก ขณะที่ นักการศาสนา มุ่งค้นหาความจริงด้านความจริงแท้ เป็นหลัก. ตถาคต มองความจริงทั้งสองฝั่ง เป็นเหตุเป็นปัจจัย อาศัยซึ่งกันและกันเกิด (ตามหลัก อิทัปปัจจยตา). แม้ว่า นักวิทยาศาสตร์ หรือนักการศาสนาอื่น พยายามจะอธิบาย ความจริงแท้ ที่ตนเองรู้จักและค้นพบ แต่ก็เป็นได้แค่ ความจริงสัมพัทธ์. ความจริงสัมพัทธ์ ในทัศนะของนักวิทยาศาสตร์ และรวมถึง นักการศาสนาอื่น มอง “ความจริง” ในความหมายของตนเอง. ตถาคต มอง “ความจริงแท้” ในหลายแง่มุม เพื่อจะบอกว่า นิพพาน คือสุดยอดของความจริงแท้ ที่มีทางปฏิบัติเข้าไปถึงได้ 'โดยรอบ'. พระองค์ใช้คำว่า “สิ่งหนึ่ง” ที่ไม่ปรากฎการเกิด ไม่ปรากฎการเสื่อม และไม่ปรากฏความแปรปรวน หรือใช้คำว่า “ที่สุดโลก” ที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ อธิบายคำว่า นิพพาน คืออย่างไร.

 

•  พุทธวจน – สังขตลักษณะ อสังขตลักษณะ

ภิกษุทั้งหลาย ! สังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม 3 อย่าง เหล่านี้ มีอยู่. 3 อย่างอย่างไรเล่า? 3 อย่างคือ:- 1. มีการเกิดปรากฎ (อุปฺปาโท ปญฺญายติ); 2. มีการเสื่อมปรากฎ (วโย ปญฺญายติ); 3. เมื่อตั้งอยู่ก็มีภาวะอย่างอื่นปรากฎ (ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ). ภิกษุทั้งหลาย ! สามอย่างเหล่านี้แล คือ สังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม.

ภิกษุทั้งหลาย ! อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม สามอย่างเหล่านี้ มีอยู่. สามอย่างอย่างไรเล่า? สามอย่างคือ:- 1. ไม่ปรากฎมีการเกิด (น อุปฺปาโท ปญฺญายติ); 2. ไม่ปรากฎมีการเสื่อม (น วโย ปญฺญายติ); 3. เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่มีภาวะอย่างอื่นปรากฎ (น ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺ ญายติ). ภิกษุทั้งหลาย ! สามอย่างเหล่านี้แล คือ อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม.

ที่มา : พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 9. หน้า 304. | บาลี - ติก. อํ. 20/192/486.

 

ความจริงสมมุติ ความจริงแท้ ถูกจัดรวมกันไว้ใน สัตตะธัมมะธาตุ ทฤษฎีเดียว ที่สามารถอธิบายทุกสรรพสิ่งได้ ในจักรวาล ภายใต้ กฎมูลฐานของธรรมชาติ 7 ข้อ ดังที่อธิบายไว้ใน บทที่ 6.

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

1.3
ความจริงที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ อาจถูกลบล้างได้ตลอดเวลา
แต่ความจริงที่ตถาคตตรัสรู้ เป็นความจริงแท้ตลอดกาล

 

การค้นหาความจริง ถึงต้นกำเนิดและที่สุดของธรรมชาติ เป็นพันธกิจของวิทยาศาสตร์ ที่กระทำติดต่อกันมาแต่อดีต และจะทำต่อไปในอนาคต จนกว่าจะบรรลุความพอใจ ในความอยากรู้ของมนุษย์. การค้นพบ “ศาสตร์” ใหม่ๆ ทำให้กฎเกณฑ์เดิมของนักวิทยาศาสตร์ ถูกลบล้างด้วยกฎเกณฑ์ใหม่ ที่ทันสมัยกว่า ซึ่งต่างจาก สิ่งที่ตถาคตตรัสรู้. “ศาสน์” (ศาสนีย์) คือ ระเบียบของถ้อยคำ ที่กล่าวถึงความจริงแท้ ที่พระองค์พูดออกมาจากการหยั่งรู้ และเป็นความรู้ ความจริง ที่นักวิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึง.

 

1.3.1
ความจริงที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ อาจถูกลบล้างในภายหลัง

 

ความจริงที่ท้าทายนักวิทยาศาสตร์ คือ การค้นหาต้นกำเนิดของทุกๆ สิ่ง. เอกภพ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? มนุษย์ มีวิวัฒนาการมาอย่างไร? ปัจจุบัน เอกภพเป็นอยู่อย่างไร และจะดำเนินไปอย่างไรในอนาคต? การกำเนิดของจักรวาล ถูกเสนอด้วยทฤษฎีมากมาย แต่ก็ยังให้คำตอบไม่ชัดเจน เช่น ทฤษฎีการระเบิดใหญ่ หรือ บิ๊กแบง (Big Bang). บิ๊กแบง ถูกเสนอขึ้น จากการสังเกตของนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และได้ข้อสรุปแตกต่างกัน 3 แนวทางว่า การขยายตัวของจักรวาลหลังบิ๊กแบง ขยายออกไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด หรือ ขยายไปแล้วก็จะรักษาสภาพคงที่ตลอดไป ด้วยอำนาจความโน้มถ่วง หรือ เอกภพจะถูกอำนาจความโน้มถ่วงดึงดูดไป สู่จุดจบแบบหายวับไปในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเรียกว่า บิ๊กครันช์ (big crunch).

เมื่อ 13,800 ล้านปีมาแล้ว การเกิดขึ้นของบิ๊กแบง ใช้เวลาเพียง 10 -32(ยกกำลัง -32) วินาที ก่อเกิดเอกภพอันกว้างใหญ่ ในทันที หลังการระเบิดครั้งใหญ่ จักรวาลเย็นตัวลง แต่ยังไม่มีอนุภาค ไม่มีมวล ไม่มีแสง ใดๆ. จนกระทั่ง เวลาผ่านไป 380,000 ปี ธาตุต่างๆ เพิ่งจะรวมตัวกันเป็น อะตอม และ 300 ล้านปี ผ่านไป ฝุ่นก๊าซอะตอม จะถูกความโน้มถ่วงดึงดูดรวมตัว เกิดเป็นดาวฤกษ์ และ วัตถุหนักจะถูกกดดัน ให้กลายเป็นดาวเคราะห์ร้อน เป็นบริวารโคจรรอบดาวฤกษ์ กำเนิดเป็นระบบสุริยะขึ้น เต็มเอกภพ ระบบสุริยะหลายระบบ จะถูกความโน้มถ่วง ดึงดูดให้รวมกันเป็นดาราจักร. เมื่อกาลเวลาผ่านไป เมื่อดาวฤกษ์ และดาราจักรสิ้นอายุขัย มันก็จะกลายสภาพเป็นหลุมดำ. เมื่อดาวเคราะห์เย็นตัวลง ก๊าซร้อนระเหยไป ก๊าซออกซิเจนและสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการมีชีวิต ก็พัฒนาขึ้นพร้อมๆ กัน เกิดเป็นพืช สัตว์ มนุษย์.

นักวิทยาศาสตร์เกิดข้อสงสัยต่อไปว่า อะไรทำให้ธาตุต่างๆ ทำปฏิกิริยาต่อกันแล้ว มีมวล มีพลังงาน รวมกันเป็นธาตุต่างๆ ขึ้นมาได้. พวกเขาเสนอ ทฤษฎีอนุภาคมูลฐานขึ้นมา ทฤษฎีนี้ได้สร้าง แบบจำลองมาตรฐาน (standard model) ขึ้นมา เพื่ออธิบายปรากฎการณ์เหล่านั้น.

สสารทุกชนิดในเอกภพ ประกอบด้วยอนุภาคมูลฐาน 2 ชนิด คือ ควาร์ก (quarks) และ เลปตอน (lepton). อนุภาคเหล่านี้มีแรง 4 ชนิด มากระทำ คือ แรงโน้มถ่วง แรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงนิวเคลียร์อย่างเข้ม และ แรงนิวเคลียร์อย่างอ่อน. แรงแต่ละชนิด จะมีพาหะของแรง เป็นของตนเอง. แต่แรงพาหะดังกล่าว ก็ยังไม่ได้ถูกค้นพบ จนกระทั่ง องค์กรวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (European Organization for Nuclear Research) หรือ เซิร์น (CERN : Conseil Europ?en pour la Recherche Nucl?aire) ได้สร้างเครื่องชนอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่ (LHC : Large Hadron Collider) ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก. จากการทำงานของเครื่อง LHC เมื่อปี 2012 นักวิทยาศาสตร์ พบอนุภาคชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอนุภาคสื่อแรงที่พวกเขากำลังค้นหาอยู่ เรียกอนุภาคใหม่นี้ว่า ฮิกส์ โบซอน (Higgs boson).

การทดลองด้านฟิสิกส์ มิเคยหยุดยั้ง, นักฟิสิกส์ตั้งข้อสังเกตว่า อนุภาคทุกตัวจะมีคู่ปฏิอนุภาค (อนุภาคแฝด) ของตัวเอง ซ่อนอยู่. ปฏิอนุภาคเหล่านั้น มีมวลและสมบัติเหมือนกันทุกประการ แต่มีประจุไฟฟ้าตรงกันข้าม. อนุภาคใดๆ ที่ซ่อนอยู่ในเอกภพ พวกเขาจะเรียกมันว่า สสารมืด. การค้นหาสสารมืด จึงเป็นภารกิจอีกยาวไกล เหมือนการค้นหาชิ้นส่วนที่หายไป กลับคืนมาให้แก่ ทฤษฎีสรรพสิ่ง (theory of everything)[03]. ทฤษฎีนี้ จะรวมแรงทั้ง 4 ชนิดที่ถูกค้นพบแล้วไว้ด้วยกัน แต่ แบบจำลองมาตรฐาน ยังไม่สามารถอธิบาย ชิ้นส่วนที่หายไปนี้ ได้ชัดเจน, นักฟิสิกส์จึงเพิ่มอนุภาคมืดเข้าไป เพื่อให้สมการของ แบบจำลองมาตรฐานเป็นจริง.

 


[03] ทฤษฎีสรรพสิ่ง (theory of everything) เสนอโดย สตีเฟ่น ฮอว์กิง. ถ้าสามารถรวมแรงพื้นฐานทั้ง 4 เข้าด้วยกันได้สำเร็จ ก็จะอธิบายการเกิด – ดับของเอกภพได้ครบถ้วนสมบูรณ์ (พิสูจน์ความจริงด้านวัตถุธาตุ ได้ครบ 100%). ผู้เขียนนำเสนอทฤษฎี สัตตะธัมมะธาตุ (The 7-Absolute of Everything) เพื่อหาข้อสรุปว่า มีอะไรบ้าง ที่เป็นอุปสรรคของ ทฤษฎีนี้.

 

เป็นเวลากว่า 30 ปี นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า แรงพื้นฐานทั้ง 4 ชนิด เป็นตัวควบคุมเอกภพ. จนกระทั่งปี ค.ศ. 2012 คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวฮังการี ค้นพบอนุภาค ที่มีมวลมากกว่า อิเล็กตรอน 34 เท่า ซึ่งไม่เคยปรากฎใน แบบจำลองมาตรฐาน พวกเขาเรียกว่า โฟตอนมืด นั่นหมายถึงว่า มีแรงชนิดที่ 5 ซึ่งเป็นแรงที่นักวิทยาศาสตร์ ไม่เคยรู้จักมาก่อน แฝงตัวอยู่ในเอกภพ.

ทางด้านดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ ต่างระดมกันสร้างเครื่องมืออุปกรณ์ ทั้งยานอวกาศ ดาวเทียม ห้องปฏิบัติการอวกาศ กล้องโทรทรรศน์ ในการสำรวจสิ่งที่อยู่นอกโลก และระบบสุริยะอย่าง ต่อเนื่อง เช่น ยานไพโอเนียร์ 10 (1973) ยานไพโอเนียร์ 11 (1974) ยานวอยเอเจอร์ 1 – 2 (1977) ยานยูลิซีส (1992) ยานกาลิเลโอ (1995) ยานแคสสินี-ฮอยเกนส์ (2000) ยานนิวฮอไรซันส์ (2007) ยานจูโน (2016), โดยที่ยานทั้ง 8 ลำ เคยผ่านไปเยือนดาวพฤหัสบดีมาแล้ว. เครื่องมือสำคัญ ในการสำรวจอวกาศ อีกประเภทหนึ่งคือ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ใช้สำรวจ ดาวเคราะห์อันห่างไกล ดาราจักร และวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ที่ช่วยให้มนุษย ์ทำความเข้าใจจักรวาลได้ดีขึ้น เช่น กล้องถ่ายภาพอวกาศ ฮับเบิล (Hubble Space Telescope - 1990) กล้องรังสีแกมมา คอมพ์ตัน (Compton Gamma-ray Observatory - 1991) กล้องรังสีอินฟาเรด สปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope - 2003) กล้องรังสีเอกซ์ จันทรา (Chandra X-ray Observatory) กล้องแสงเลเซอร์ เจมินี กล้องอวกาศเจมส์เวบ กล้องโทรทรรศน์วิทยุอะเรซิโบ (Arecibo Telescope). กล้องโทรทรรศน์ใหม่ๆ ในอนาคต จะเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น และมีความละเอียดเพิ่มขึ้น เพื่อค้นหาสิ่งลี้ลับอันห่างไกลออกไป เช่น เคปเลอร์ (2016) จะทำหน้าที่ค้นหา ดาวเคราะห์เพื่อนบ้าน เพื่อค้นหาเบาะแส ของสัญญาณชีวิตนอกระบบ. กล้องอื่นๆ ที่มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันออกไปใน อนาคต เช่น กล้องจูเนียร์ (2017) กล้องคีออปส์ (2017) กล้องเทสส์ (2017) กล้องเจมส์เว็บ (2018) กล้องเพลโต้ (2024) กล้องแอตลาสต์ (2025) เป็นต้น.

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ตัวใหม่ ชื่อ ยูคลิด (Euclid space telescope) จะถูกปล่อยขึ้นไป ในปี ค.ศ. 2020 เพื่อทำภารกิจนาน 6 ปี ในการมองย้อนเวลากลับไป 10,000 ล้านไป และร่างแผนที่ของดาราจักร อีก 2,000 ล้านดาราจักร. คาดว่าจะมีการค้นพบพลังงานมืด ที่ส่งผลต่อช่วงอายุของเอกภพ ในระยะ 13,800 ล้านปี ที่ผ่านมา. ดาวเทียม TESS (Transisting Exoplanet Survey Sattellite) ส่งออกไปเมื่อปี ค.ศ. 2017 เพื่อสำรวจดาวเคราะห์ ที่โคจรรอบดาวฤกษ์อื่น อย่างน้อย 200,000 ดวง ที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ ในระบบสุริยะของเรา.

นอกจากนี้ อนาคตอันใกล้ องค์การนาซา มีแผนจะปล่อยดาวเทียม CHIPSAT ซึ่งมีขนาดเล็ก เท่าดวงตราไปรษณีย์ เพื่อสำรวจวงแหวนรอบดาวเสาร์ และชั้นเมฆของดาวศุกร์.

กล้องอื่นๆ ต่างทยอยกันออกมาค้นหาสิ่งใหม่ๆ ในเอกภพมากขึ้นทุกวัน เพื่อตอบคำถามว่า สสารมืด เกิดจากอะไร อะไรอยู่ภายในหลุมดำ กระจุกดาราศาสตร์ กำเนิดขึ้นได้อย่างไร อะไรดึงดูดให้ดวงดาวยังโคจรอยู่ในวงแหวนกาแลกซี่ ซึ่งมีแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง มหาศาล ทำไมเอกภพจึงขยายตัว.

 

แบบจำลองฟรีดแมน (เสนอโดย อเล็กซานเดอร์ ฟรีดแมน – Alexander Friedman : 1888 – 1925 A.D.) อธิบายการเกิดขึ้นและการวิวัฒนาการของเอกภพ ไว้ว่า มีความเป็นไปได้ ที่เอกภพหลังบิ๊กแบง กำลังขยายตัวไปเรื่อยๆ ชั่วนิรันดร์ (เอกภพแบบเปิด) และก็มีความเป็นไปได้ ที่เอกภพขยายตัวในขนาดหนึ่ง แต่ความโน้มถ่วงจะเป็นตัวฉุดให้วัตถุสารทุกชนิดในเอกภพ รวมกันอีกครั้ง จนกระทั่งยุบตัวลงไปสู่ภาวะเอกฐาน (singularity) เกิดเป็น big crunch (เอกภพแบบปิด) จากนั้น ก็เกิดบิ๊กแบง ในรอบถัดไป (ซึ่งใช้เวลายาวนานมาก จนไม่อาจระบุจำนวนได้). หรืออีกกรณีหนึ่ง หากแรงที่เกิดจากความโน้มถ่วง ไปหักล้างการเคลื่อนที่ของบรรดากาแลกซี่ได้พอดี เอกภพก็จะคงตัวไปเช่นนั้นชั่วนิรันดร์ แม้ว่าเอกภพจะเคลื่อนที่ช้าลง แต่มันก็ไม่มีวันหยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์ (เอกภพแบบแบน – flat). แนวคิดทั้ง 3 แบบนี้ สตีเวน ฮอว์กิ้ง ยอมรับว่า ถ้ารวมเอา ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เข้ากับ หลักความไม่แน่นอนของกลศาสตร์ควอนตัม, เป็นไปได้ที่ทั้ง ‘อวกาศและเวลา จะมีขนาดจำกัดโดยไม่มีขอบเขต'. และเขายังกล่าวอีกว่า เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ ทฤษฎีทุกทฤษฎี กาลเวลาทุกวินาที ที่เกิดก่อนบิ๊กแบง จะถูกทลายลง เสมือนว่า เป็นจุดอวสานต์ของทุกสรรพสิ่ง แม้กระทั่งเวลา แล้วก็เริ่มนับใหม่ หลังเกิดบิ๊กแบง.

 

แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ ที่อธิบายการเกิดและการวิวัฒน์ของเอกภพ ดังที่กล่าวข้างต้นนี้. มีส่วนสอดคล้องกับแนวคิดแบบพุทธศาสน์ ที่ตถาคตกล่าวไว้ในหลัก สังขตธรรม, สรรพสิ่ง มีการเกิดปรากฎ มีการเสื่อมปรากฎ และมีการเสื่อมต่อเนื่อง แต่ไม่ได้บอกว่าการเสื่อมนั้นจะยุติลง ณ เวลาใด หรือ ที่ใด. ทำให้ได้ข้อยุติที่ว่า เอกภพ มีการเกิดครั้งเดียว โดยเฉพาะสิ่งที่เป็น ธาตุ สสาร (อุปปาโท ปัญญายติ). จากนั้นก็จะวิวัฒน์ไปสู่ความเสื่อม (วโย ปัญญายติ) คือ การขยายตัว หรือหดตัวก็ได้ ขึ้นอยู่กับภาวะความโน้มถ่วงที่มากระทำต่อมัน. แต่เพราะภาวะความโน้มถ่วง มันหักล้างกับการขยายตัวของเอกภพ โดยเฉลี่ย (คือบางคราวความโน้มถ่วงชนะ บางคราวการขยายตัวชนะ สลับกันไป) ทำให้การดำรงอยู่ของเอกภพ มีอยู่เช่นนั้นชั่วนิรันดร์ คือ เสื่อมเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ว่าการเสื่อมต่อเนื่องนั้น จะสิ้นสุด ณ เวลาใด หรือ ที่ใด. มีเพียงสิ่งเดียวในเอกภพ ที่มีการเกิดหลายครั้งนับจำนวนอนันต์ สิ่งนั้นเรียกว่า สัตว์ (สัตว์ มนุษย์ เทวดา). สิ่งที่เกิด สิ่งที่ตาย ควบคู่ไปกับสัตว์เหล่านั้น คือ วิญญาณ สังขาร.

 

เมื่อมองเอกภพ ผ่านหลักสังขตธรรม จะได้ข้อสรุปว่า เอกภพที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ เป็นเอกภพแบบแบน ตามแบบจำลองของฟรีดแมน. แต่นักวิทยาศาสตร์ ยังไม่พอใจกับคำตอบเหล่านี้ จึงมีการศึกษาวิจัยต่อไปไม่สิ้นสุด. แต่การตรัสรู้ของตถาคต พบว่า อวิชชา สังขาร วิญญาณ คือต้นเหตุหลัก ของการก่อเกิดจักรวาล ธาตุ สสาร วัตถุ สิ่งที่มีชีวิต.

นักวิทยาศาสตร์ ต่างพากันทยอยกันนำเสนอหลักการ ทฤษฎีต่างๆ เพื่ออธิบายสิ่งลี้ลับทุกขนาด ทุกกาลเวลา และทุกตำแหน่งในเอกภพ. เช่น กฎอนุรักษ์ (conservation law) หลักสัมพัทธภาพ (principle of relativity) หลักสมดุล (principle of equivalence) แบบจำลอง (paradigm) กรอบอ้างอิงเฉื่อย (inertial reference frame) กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตัน (Newton' law of gravity) กลศาสตร์ควันตัม (quantum mechanics) กฎแม่เหล็กไฟฟ้าของแม็กซ์เวลล์ (maxewll's laws of electromagnetism) เป็นต้น. ก่อเกิดการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมากมาย เช่น ในปี ค.ศ. 2015 เครื่องเร่งอนุภาค LHC ค้นพบอนุภาคชนิดใหม่ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นอนุภาคสสาร หรืออนุภาคสื่อแรงกันแน่. มันมีมวล 750 GeV/c 2(ยกกำลัง 2) ซึ่งใหญ่กว่าอนุภาค ตาม แบบจำลองมาตรฐาน [04] และเครื่องตรวจจับคลื่น ของโครงการไลโก (LIGO) ค้นพบคลื่นแรงโน้มถ่วง (gravitational waves) เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2015. ในรอบศตวรรษ นักวิทยาศาสตร์ พบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ตลอดจนการกลายพันธุ์ของไวรัส แบคทีเรีย สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคชนิดใหม่.

 


[04]  Essen Schouboe. (2017). Technology | New particles. SCIENCE ILLUSTRATED No. 67/2017, January 2017. ทรินิตี้ พับลิชชิ่ง : กรุงเทพมหานคร. p.48 - 53.

 

วิทยาศาสตร์ ค้นพบ และให้คำนิยาม สิ่งใดๆ ตาม “หลักฐาน” ที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว

พุทธศาสน์ ค้นพบ และให้คำนิยาม สิ่งใดๆ ตาม “ผัสสะ” ที่ผ่านการรับรู้ของ วิญญาณ และ วิมุตติญาณทัสสนะ

 

1.3.2
ความจริงที่ตถาคตตรัสรู้ เป็นความจริงแท้ตลอดกาล

 

สิ่งซึ่งพระองค์ตรัสรู้ คือความจริงแท้ ครอบคลุมทั้งด้านรูปธาตุ และจิตธาตุ ซึ่งเปรียบเสมือน ต้นธาตุต้นธรรม ของธรรมชาติโดยแท้ ซึ่งไม่มีมนุษย์ผู้ใดเคยรู้มาก่อน. พระองค์ได้บัญญัติ ความจริง ความจริงแท้ และความจริงสมมุติ ไว้เป็นทฤษฎีเบ็ดเสร็จ สมบูรณ์ แม้แต่หลักการทางวิทยาศาสตร์ ก็ไม่อาจค้านแย้งได้. พุทธศาสน์ จึงมีความสมบูรณ์จริงแท้ตลอดกาล ไม่ต้องการบัญญัติเพิ่มเติม ตัดต่อ แก้ไขใดๆ อีก แม้กาลเวลา จะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม.

พระองค์ กล่าวรับรองว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ มีความลึกซึ้ง (คมฺภีรา) เห็นตามได้ยาก (ทุทฺทสา) บรรลุรู้ตามได้ยาก (ทุรนุโพธา) สงบยิ่ง ท่ามกลางความวุ่นวาย (สนฺตา) ประณีต ละเอียด ลุ่มลึก ไปตามลำดับ (ปณีตา) ไม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตรรกศาสตร์ หรือ คาดคะเนด้นเดามิได้ (อตกฺกาวจรา) ละเอียดลึก ถึงขั้นนิพพาน (นิปุณา) รู้ได้เฉพาะผู้เป็นบัณฑิต (ปณฺฑิตเวทนียา).[05]

 


[05]  บาลีว่า “อตฺถิ ภิกฺขเว อญฺเญ ว ธมฺมา คมฺภีรา ทุทฺทสา ทุรนุโพธา สนฺตา ปณีตา อตกฺกาวจรา นิปุณา ปณฺฑิตเวทนียา เย ตถาคโต สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทติ. ... ” ดู พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ (ภาษาบาลี) เล่มที่ 9. [ซอฟต์แวร์]. E-Tiptaka v3.0.7, หน้า 16 ข้อ 26.

 

(1) แต่ละคําพูด เป็นอกาลิโก คือ ถูกต้องตรงจริง ไม่จํากัดกาลเวลา.

“ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย เป็นผู้ที่เรานําไปแล้วด้วยธรรมนี้ อันเป็นธรรมที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง (สนฺทิฏิโก), เป็นธรรมให้ผลไม่จํากัดกาล (อกาลิโก), เป็นธรรมที่ควรเรียกกันมาดู (เอหิปสฺสิโก), ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว (โอปนยิโก), อันวิญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน (ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญู หิ).”

(บาลี มู. . 12/485/451.)

 

(2) หลักการต่างๆ นับตั้งแต่วันตรัสรู้ สอดรับกัน ไม่ขัดแย้งกัน และถูกต้องเสมอ ไม่ว่ายุคกาล จะเปลี่ยนแปลงไป (อกาลิโก) คำของพระองค์ ตรงเป็นอันเดียวกันหมดทุกถ้อยคำ.

“ภิกษุทั้งหลาย ! นับตั้งแต่ราตรี ที่ตถาคตได้ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จนกระทั่งถึงราตรี ที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ, ตลอดเวลาระหว่างนั้น ตถาคตได้กล่าวสอน พร่ำสอน แสดงออกซึ่งถ้อยคำใด; ถ้อยคำเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเข้ากันได้โดยประการเดียวทั้งสิ้น ไม่แย้งกันเป็นประการอื่นเลย. ภิกษุทั้งหลาย ! (อนึ่ง) ตถาคตกล่าวอย่างใด ทำอย่างนั้น, ทำอย่างใด กล่าวอย่างนั้น.”

(บาลี - อิติวุ. ขุ. 25/321/293.)

 

(3) ทรงห้ามบัญญัติเพิ่ม หรือตัดทอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว.

“ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ จักไม่เพิกถอน สิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว, จักสมาทานศึกษา ในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้ว อย่างเคร่งครัด อยู่เพียงใด, ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.”

(บาลี - มหา. ที. 10/90/70.)

 

(4) คำสอนที่ทรงสั่งสอนบ่อย พูดบ่อย คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน ของ ขันธ์-5.

“ ... อนุสาสนีของเรา ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก มีส่วนแห่งการจำแนกอย่างนี้ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย ! รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง. ภิกษุทั้งหลาย ! รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน. สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน' ดังนี้.”

(บาลี - มู. ม. 12/423/396.)

 

(5) ทรงกําชับให้ศึกษาและปฏิบัติ เฉพาะจากคําของพระองค์ (ศาสนีย์) เท่านั้น. เพื่อป้องกันมิให้ เนื้อแท้แห่งคำสอนของพระองค์ อันตรธานหายไป เมื่อกาลเวลาล่วงไป.

“ ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้น มากล่าวอยู่ ; เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน . ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้น มากล่าวอยู่ ; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.”

(บาลี- ทุก. อํ. 20/92/292.)

 

[อ่านต่อ] บทที่ 2 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : มวลสาร พลังงาน

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

บทนำ – สัตตะธัมมะธาตุ : องค์รวมชีวิต ภายใต้ทฤษฎีเดียวกัน

บทที่ 1 วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์ : นวัตกรรมทางปัญญา ของเผ่าพันธุ์มนุษย์

1.1 พันธกิจของ วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์
1.2 สิ่งที่พุทธศาสน์ ค้นพบ อาจเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ กำลังค้นหา
1.3 ความจริงที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ อาจถูกลบล้างได้ตลอดเวลา
แต่ความจริงที่พระตถาคตตรัสรู้ เป็นความจริงแท้ตลอดกาล

บทที่ 2 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : มวลสาร พลังงาน 

2.1 มวล – อนุภาค
2.2 แรง – คลื่น
2.3 อุณหภูมิ – พลังงาน

บทที่ 3 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : มิติ กาลอวกาศ

3.1 มิติ กาลอวกาศ – รูปทรง
3.2 วัฎจักร – อนันต์

บทที่ 4 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : จิตธาตุ

4.1 นามรูป – วิญญาณ – สังขาร
4.2 วิมุตติ – นิพพาน

บทที่ 5 ฟิสิกส์แห่งจิตวิญญาณ

5.1 กายภาพของจิตวิญญาณ
5.2 กระบวนการปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย
5.3 การหลุดพ้น การบรรลุธรรม

บทที่ 6 กฎมูลฐานของธรรมชาติ

6.1 ความจริงสัมบูรณ์ ของ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
6.2 กฎของเวลา
6.3 กฎแห่งนิรันดร์
6.4 กฎสมดุล
6.5 สัมพัทธภาพ (Relativity)
6.6 กฎการอนุรักษ์ (Conservation law)
6.7 มาตรวัด กรอบอ้างอิง

บทที่ 7 ปรากฏการณ์สัมบูรณ์ของสรรพสิ่ง

7.1 ปรากฏการณ์ร่วม วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์
7.2 สัมพัทธภาพของ วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์

บทสรุป – สัตตะธัมมะธาตุ : ทฤษฎีเดียว อธิบายทุกสรรพสิ่ง

ประมวลศัพท์และคำสำคัญ

บทความ (สรุปจากหนังสือทั้งเล่ม)

 

 

  thinking focus new idea today
คำคม คำคิด แง่คิด ชีวิตดี
igood media
หน้าแรก - ชุมชน คนคิดดีวรรณกรรม - วิชาการ - บทความ เรื่องสั้น ร้อยกรอง เพลงภาพยนตร์ - บทภาพยนตร์ ภาพยนตร์ตัวอย่าง วิดีโอ มิวสิควิดีโอ
นิเทศศาสตร์ - วิชาเรียน บรรยาย ตำรา เอกสารการเรียน สื่อการเรียน ถาม ตอบ
 


igood media copyright
 
SUDIN CHAOHINFA, igoodmedia.net : Administration and Producer
Copyright © 2010-2021 intelligence good media homeschool.
All rights reserved. me@igoodmedia.net