igood media
หน้าแรก - ชุมชน คนคิดดีวรรณกรรม - วิชาการ - บทความ เรื่องสั้น ร้อยกรอง เพลงภาพยนตร์ - บทภาพยนตร์ ภาพยนตร์ตัวอย่าง วิดีโอ มิวสิควิดีโอ
นิเทศศาสตร์ - วิชาเรียน บรรยาย ตำรา เอกสารการเรียน สื่อการเรียน ถาม ตอบ

Blog film school

My Media channel

blog

1 หน้าแรก
2
บทความ
หนังสือเล่ม
ร้อยกรอง เพลง
3
บทภาพยนตร์
ภาพยนตร์สั้น
วีดิโอ มิวสิควีดิโอ
4
วิชาเรียน นิเทศศาสตร์
ตำราเอกสาร
สื่อการเรียน
 

 

 

 

บทที่ 5
ฟิสิกส์แห่งจิตวิญญาณ

 

 

TOPIC

กายภาพของจิตวิญญาณ (ฟิสิกส์ของแสง ฟิสิกส์ของจิต, กระบวนการ “จิต มโน วิญญาณ”, วิญญาณ ย่อมก่อภพให้แก่สัตว์ทั้งหลาย)

กระบวนการปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย (อวิชชา สังขาร วิญญาณ, ขันธ์-5 กับ ภพ ชาติ ชรามรณะ เป็นธรรมที่อาศัยกันแล้วเกิด)

การหลุดพ้น การบรรลุธรรม (ลำดับการบรรลุธรรม, สัตตา – วิมุตติญาณทัสสนะ)

ข้อสรุป และข้อโต้แย้งบางประการ เกี่ยวกับฟิสิกส์แห่งจิตวิญญาณ

[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]

 

ฟิสิกส์ (Physics) เป็นวิทยาศาสตร์สาขาธรรมชาติ ที่ศึกษาเกี่ยวกับ ลักษณะสมบัติและ อาการของ สสาร แรง คลื่น พลังงาน อุณหภูมิ เช่น มวล กาล-อวกาศ การเคลื่อนที่ สนาม เหตุการณ์ เป็นต้น. ฟิสิกส์ มีขอบเขตการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ กำเนิดจักรวาล ไปจนถึงสิ่งเล็กๆ ระดับอะตอม ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์. ทำให้ฟิสิกส์ กลายเป็นแก่นแท้ของวิทยาศาสตร์ เพราะการศึกษาวัตถุธาตุทุกชนิด เป็นรากกำเนิดของวิทยาศาสตร์สาขาอื่น เช่น ชีววิทยา เคมี.

ยังไม่อาจกล่าวได้ว่า ฟิสิกส์ เป็นปรัชญาธรรมชาติ เพราะมีธรรมชาติอยู่อีกสิ่งหนึ่ง ที่ฟิสิกส์ไม่ได้พูดถึงเลย สิ่งนั้นคือ จิตวิญญาณ. ฟิสิกส์ ได้สร้างกำแพงให้แก่ตัวเอง ในการปิดกั้นการศึกษา เกี่ยวกับจิตวิญญาณ. นักวิทยาศาสตร์ รู้จักจิต ใน ความหมายหลายอย่าง เช่น mind, mentality, thinking, spirit, psyche, heart, hardihood, soul, body.

สัตตะธัมมะธาตุ ที่กล่าวมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ เป็นส่วนผสมของ องค์ความรู้ด้านฟิสิกส์ กับด้านจิตวิญญาณ ในระดับโครงสร้างพื้นฐานของวัตถุธาตุ (มวล-อนุภาค แรง-คลื่น อุณหภูมิ-พลังงาน มิติ กาลอวกาศ-รูปทรง วัฏจักร-อนันต์) และส่วนเหลื่อมของจิตธาต ุที่ซ้อนทับวัตถุธาตุ (นามรูป-วิญญาณ-สังขาร). ตั้งแต่บทที่ 1 ถึงบทที่ 4 เป็นการอธิบายลักษณะ-สมบัติของระบบชีวิต (กลไกชีวะ-ฟิสิกส์ และ กลไกชีวะ-ชีวิต) โดยละเอียด ซึ่งยังไม่ได้เข้าถึง ระบบของจิตธาตุ มากนัก.

 

ฟิสิกส์แห่งจิตวิญญาณ (Physical Consciousness) จะอธิบายบริบทที่เกี่ยวข้องกับจิต โดยอาศัยหลักการทางด้านฟิสิกส์ มารองรับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่จิตปรุงแต่งขึ้น. เหตุผลที่นำหลักฟิสิกส์ มาเปรียบเทียบ ปรากฏการณ์ที่จิตปรุงแต่งขึ้นนั้น เพราะ การเกิดขึ้น การเปลี่ยนสถานะ และพฤติการณ์ต่างของ อนุภาค อะตอม มวลสาร อวกาศ และเวลา มีระเบียบแบบแผนสอดคล้องและเข้ากันได้กับ สังขตลักษณะ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท และ อริยสัจ-4 ซึ่งเป็นแก่นหลักของพุทธศาสน์.

 

 

 

5.1
กายภาพของจิตวิญญาณ

 

นักวิทยาศาสตร์ มองว่าเรื่องของจิตวิญญาณ เป็นจินตภาพส่วนบุคคล จับต้องไม่ได้ ไม่มีตัวตน ไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ใดของฟิสิกส์, จึงไม่สามารถจัดให้ จิตวิญญาณ อยู่ในส่วนใดของโลกวิทยาศาสตร์ได้เลย. แต่ในทางตรงกันข้าม ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิญญาณ กลับให้ความสำคัญกับจิตเป็นลำดับแรก. พระองค์กล่าวถึงวัตถุธาตุน้อยมาก (ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ เท่านั้น) กล่าวถึง รูปกายชีวิต (นามรูป – วิญญาณ – สังขาร) ปานกลาง และกล่าวถึง จิต (การปรุงแต่งจิต มโน วิญญาณ) มากที่สุด. พระองค์ กล่าวถึงอัตลักษณ์เบื้องต้น ของจิตวิญญาณ ไว้ว่า จิตนี้ ละเอียด อ่อนไหว ตลอดเวลา (ลหุปริวตฺตํ โข จิตฺตํ). ดังนั้น จิตและการปรุงแต่งจิต จึงมีความหลากหลายมาก จนต้องมีการกำหนด ให้คำนิยามไว้ในหลายชื่อ หลายลักษณะ. [อาจพบคำว่า จิตคำเดียวบ้าง จิตวิญญาณบ้าง หรือ วิญญาณคำเดียวบ้าง ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปในหนังสือเล่มนี้ ให้เข้าใจตรงกันว่า หมายถึง สิ่งเดียวกัน].

 

5.1.1
ฟิสิกส์ของแสง ฟิสิกส์ของจิต

 

แต่เดิมนั้น กฎฟิสิกส์ของนิวตัน เชื่อว่า แสงคืออนุภาค ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ผ่านสารชนิดหนึ่งเรียกว่า อีเธอร์ (aether) ซึ่งเป็นสารที่สถิตอยู่นิ่งๆ ใน อวกาศสัมบูรณ์ (absolute space) และ เวลาสัมบูรณ์ (absolute time). คนที่อยู่นิ่ง กับคนที่เคลื่อนที่ จะวัดอัตราความเร็วแสงได้แตกต่างกัน. ต่อมา ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ของไอน์สไตน์ ได้ล้มล้างมโนทัศน์เดิมของนิวตัน อย่างสิ้นเชิง. คือ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า อวกาศสัมบูรณ์, ไม่มี เวลาสัมบูรณ์ และไม่มีสิ่งที่เรียกว่า อีเธอร์.

 

ไอน์สไตน์ ได้เสนอรากฐานใหม่ ของโลกฟิสิกส์ยุคใหม่ คือ

 

(1) “อัตราความเร็วของแสง มีค่าสัมบูรณ์เดียวกันในทุกทิศทาง และไม่ขึ้นกับทิศทางการเคลื่อนที่ ของผู้วัดโดยสมบูรณ์” ซึ่งเป็นไปตาม หลักความสัมบูรณ์ของอัตราความเร็วแสง (The principle of the absoluteness of the speed of light) ทำให้อวกาศและเวลา เป็นสิ่งสัมพัทธกัน.

 

(2) “กฎของฟิสิกส์ จะต้องครอบคลุมทุกสถานะ ของการเคลื่อนที่เท่ากัน ด้วยรากฐานเดียวกันเสมอ” ซึ่งเป็นไปตามหลักสัมพัทธภาพ (The principle of relativity). ปรากฎการณ์คอมป์ตัน (Compton effect) และ ปรากฎการณ์ โฟโตอิเล็กตริก (photoelectric effect) ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับโฟตอนว่า โฟตอน เป็นอนุภาคของแสง ที่ดำรงสถานะ คลื่น/อนุภาค (duality of wave and particle). [01]

 

ในเบื้องต้น เราอาจอนุมานให้ ส่วนที่เล็กที่สุดของวิญญาณ (ถ้าวัดขนาดได้) อาจมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับ โฟตอน (แสง). ที่กล่าวว่า วิญญาณมีหลายขนาด (ถ้าวัดขนาดได้) เป็นการจัดลำดับการเกิดปรากฏ การตั้งอาศัย และการปรุงแต่งของจิต ในระบบ จิต มโน วิญญาณ. ระบบชีวิตจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ วิญญาณเข้าไปตั้งอยู่ในร่างกาย (ขันธ์-5).

 


[01]  
ทวิภาพของคลื่นและอนุภาค พบได้จาก ปรากฎการณ์คอมป์ตัน (compton effect) ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ ที่สนับสนุนความคิดของไอน์สไตน์ที่ว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีสมบัติเป็นอนุภาคได้ด้วย.

 

 

ภาพที่ 5.01 กระบวนการ จิต มโน วิญญาณ

 

 

เมื่อวิญญาณ เข้าไปตั้งอาศัยใน [02] รูปขันธ์ หรือ เวทนาขันธ์ หรือ สัญญาขันธ์ หรือ สังขารขันธ์. วิญญาณ ก็จะประพฤติตน 2 สถานะในเวลาเดียวกัน คือ เป็น สิ่งที่ถูกรู้ (เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ) กับเป็น ธาตุรู้ หรือ ผู้รู้ (จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ). วิญญาณดวงหนึ่ง จะเข้าไปตั้งอาศัยใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร ได้เพียงคราวละ 1 ธัมมะธาตุ เท่านั้น แล้วดับไปในทันที, วิญญาณอีกดวงหนึ่ง ก็จะเข้ามาแทนที่ แล้วประพฤติตนเหมือนวิญญาณดวงก่อน.

 


[02]
 พฤติการณ์ของวิญญาณ ที่เข้าไป ‘ตั้งอาศัย' อยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร อุปมาเหมือน การส่องไฟ หรือ การชี้เบาะแส  ซึ่งจะปรากฎในหนังสือเล่มนี้ หลายแห่ง.

 

จากการทดลอง นำสายพานเส้นหนึ่ง ผูกโยงกับมู่เล่ 2 ลูก, ที่แถบสายพาน แบ่งเป็น 10 ช่องให้พื้นที่ของแต่ละช่อง มีขนาดเท่ากัน, ภายในช่องนั้น บรรจุตัวเลข 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9 ลงไปในแต่ละช่อง จนครบตัวเลขทั้ง 10 ตัว. นำมู่เล่กับสายพาน ไปตั้งไว้ในที่มืด, ส่งพลังให้มู่เล่หมุน ด้วยอัตราความเร็ว 60 รอบ ต่อวินาที. นำหลอดไฟ ที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าสลับ 60 Hz. บังคับให้ลำแสง มีขนาดรูปทรง เท่ากับช่องสี่เหลี่ยม บนสายพานพอดี. ส่องลำแสงของหลอดไฟนั้น ไปที่ตัวเลขบนสายพานที่กำลังหมุน ด้วยอัตราความเร็วรอบ 60 รอบ ต่อวินาที อย่างสม่ำเสมอ. ผลที่ได้ คือ จะมองเห็นตัวเลข ปรากฎบนสายพาน นิ่งตรึงอยู่ตรงนั้น.

 

การทดลองนี้ อาจอุปมาการเกิด-ดับ ของวิญญาณได้หรือไม่? ฉากรับแสงไฟ ที่เป็นสายพานและตัวเลข เปรียบเหมือน รูป เวทนา สัญญา สังขาร ที่วิญญาณ เข้าไปตั้งอาศัย, จุดที่แสงไฟกระทบกับสายพาน คือ ผัสสะ, ภาพที่เห็น คือ วิญญาณ ที่กำลังเกิดดับ ด้วยอัตราเร็ว 60 ครั้งต่อวินาที ติดต่อกัน (แต่วิญญาณเกิด-ดับ มีอัตราเร็วกว่าการกระพริบของหลอดไฟ อาจเป็นล้านเท่า).

 

เรื่องการหักล้างกันของ อนุภาคปกติกับคู่ของมัน (อนุภาค ปฏิสสาร) เมื่อสัมผัสกัน. อาจนำเอาปรากฎการณ์ 'แสงกับฉาก' หรือ 'การส่องไฟ' หรือ 'การชี้เบาะแส' ของวิญญาณ ไปเปรียบ เทียบกับปรากฎการณ์ การหักล้างพลังงานกันเอง ของอนุภาคกับคู่ของมัน ได้ดังนี้.

 

คู่ของ จักขุวิญญาณ (ผู้รู้ทางตา) คือ จักข๎วายตนะ (ขอบเขตที่ทำให้เกิดผัสสะทางตา) ซึ่งประกอบด้วย (ก) อายตนะภายใน ตา กับ อายตนะภายนอก รูป เช่น วัตถุต่างๆ ภาพ, (ข) จักขุสัมผัส (จุดสัมผัสทางตา), (ค) จักขุสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกสัมผัสรูปทางตา).

 

คู่ของ โสตวิญญาณ (ผู้รู้ทางหู) คือ โสตายตนะ (ขอบเขตที่ทำให้เกิดผัสสะทางหู) ซึ่งประกอบ ด้วย (ก) อายตนะภายใน หู กับ อายตนะภายนอก เสียง, (ข) โสตสัมผัส (จุดสัมผัสทางตา), (ค) โสตสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกสัมผัสเสียงทางหู).

 

คู่ของ ฆานวิญญาณ (ผู้รู้ทางจมูก) คือ ฆานายตนะ (ขอบเขตที่ทำให้เกิดผัสสะจมูก) ซึ่งประกอบด้วย (ก) อายตนะภายใน จมูก กับ อายตนะภายนอก กลิ่น, (ข) ฆานสัมผัส (จุดสัมผัสทางจมูก), (ค) ฆานสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกสัมผัสกลิ่นทางจมูก).

 

คู่ของ ชิวหาวิญญาณ (ผู้รู้ทางลิ้น) คือ ชิวหายตนะ (ขอบเขตที่ทำให้เกิดผัสสะทางลิ้น) ซึ่งประกอบด้วย (ก) อายตนะภายใน ลิ้น กับ อายตนะภายนอก รส, (ข) ชิวหาสัมผัส (จุดสัมผัสทางลิ้น), (ค) ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกสัมผัสรสทางลิ้น).

 

คู่ของ กายวิญญาณ (ผู้รู้ทางกาย) คือ กายายตนะ (ขอบเขตที่ทำให้เกิดผัสสะทางกาย) ซึ่งประกอบด้วย (ก) อายตนะภายใน ผิวกาย กับ อายตนะภายนอก ลักษณะหยาบ-ละเอียด ร้อน-เย็น, (ข) กายสัมผัส (จุดสัมผัสทางกาย), (ค) กายสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกสัมผัสหยาบ-ละเอียด ร้อน-เย็น ทางกาย).

 

คู่ของ มโนวิญญาณ (ผู้รู้ทางใจ) คือ มนายตนะ. (ขอบเขตที่ทำให้เกิดผัสสะทางใจ) ซึ่งประกอบด้วย (ก) อายตนะภายใน ใจ กับ อายตนะภายนอก อารมณ์, (ข) มโนสัมผัส (จุดสัมผัสทางใจ), (ค) มโนสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกสัมผัสอารมณ์ทางใจ).

 

เมื่อกลุ่มของวิญญาณ (จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ) ถูกตัดขาดจากคู่ของมัน (สฬายตนะ) จะเกิดการหักล้างกันระหว่าง “การตั้งอาศัย” (ของวิญญาณ) กับ “การยึดครอง” (ของคู่ของมัน). ปรากฎการณ์การหักล้างกันนี้ มีผลทำให้ วงจรการผัสสะของคู่แต่ละคู่ ขาดออกจากกัน. วิญญาณ มีวิวัฒนาการ หลายรูปแบบ (มโน จิต วิญญาณ) หลังจากการเข้าไปตั้งอาศัย, การส่องไฟ, การชี้เบาะแส แล้วดับไป. วิญญาณ กับแสงมีส่วนคล้ายกันคือ การปรากฎของมัน จะเป็นห้วงๆ.

วิญญาณ เข้าไปตั้งอาศัยอยู่ในรูปวัตถุใด (รูปขันธ์) ถ้ารูปวัตถุนั้นมี ระบบประสาท และระบบอื่นที่เอื้อต่อการมีชีวิต ก็จะมีสิ่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า “สัตว์” ก็จะเข้าไปยึดครองต่อ เพื่อสร้างชีวิตใหม่ที่สมบูรณ์ต่อไป [03] เช่น เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา.

 


[03]
 พฤติการณ์ต่างๆ ของสัตว์ เรียกว่า ‘กรรม' อาจถูกจัดให้เป็น พลังอย่างหนึ่ง (พลังบวก = คุณ ประโยชน์ กุศล, พลังลบ = โทษ อกุศล) และถูกจัดเก็บไว้ในมิติจินตภาพ และเรียกพลังเหล่านี้ว่า ‘วิบากกรรม'

 

คุณสมบัติพิเศษ ที่ธรรมชาติสร้างขึ้น และมอบให้แก่เผ่าพันธุ์มนุษย์ คือ ประสาทสัมผัสทางใจ หรือมโนสัมผัส เปรียบเหมือนร่าง อวตาร อีกร่างหนึ่งของวิญญาณ. มโนสัมผัส สามารถรับรู้ถึง การปรุงแต่งอารมณ์ต่างๆ เวทนา-ความรู้สึก สัญญา-ความจำได้หมายรู้ สังขาร-การปรุงแต่ง จนเกิดความรู้ต่างๆ ซึ่งก็คือ วิญญาณในอีกรูปแบบหนึ่ง.

คุณสมบัติด้านมโนสัมผัสนี้ ไม่มีในพืช ไม่มีในแบคทีเรีย แต่มีบางส่วนในสัตว์. พฤติกรรมของสัตว์ ไม่สามารถรับรู้ และตอบสนองคุณ ด้านคุณค่า ความดี. สัตว์ ตอบสนอง และแสดงพฤติกรรมต่างๆ ตามสัญชาติญาณเพื่อการอยู่รอด การสืบเผ่าพันธุ์ และตามเงื่อนไขที่กำลังเผชิญหน้า เช่น หิว-หากิน ง่วง-เข้านอน มีภัย-หนีเอาตัวรอด. แต่มนุษย์ ตอบสนองตามความต้องการของร่างกาย เช่นเดียวกับสัตว์ เช่น หิว-กิน ง่วง-นอน หนาว-ห่มผ้า และแสดงพฤติกรรม ตามอำนาจกิเลส และความอยาก.

 

5.1.2
กระบวนการ
“จิต มโน วิญญาณ”

 

(1) วิญญาณ มีการรับรู้ “อารมณ์” เพื่อสร้างวิญญาณฐิติ ให้แก่สัตว์.

 

 

วิญญาณ รับรู้ประสาทสัมผัสทั้งหก (อินทรีย์ 6), รับรู้ในเพศสภาวะ, รับรู้อารมณ์รู้สึกต่างๆ เช่น รสของอารมณ์ รัก ตลก โศก โกรธ มุ่งมั่น กลัว รังเกียจ พิศวง และ สุขสงบ. สรุปแล้ว สิ่งที่เรียกว่า อินทรีย์บ้าง จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง และ อาการต่างๆ คือสิ่งที่ปรากฎใน ปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง.

เมื่อวิญญาณเข้าไปตั้งอาศัย ในขันธ์-5 ก่อนดับสลายไป ได้ทิ้ง “ข้อมูล” ไว้ใน “เหตุการณ์.” เหตุการณ์ เปรียบเหมือนฉากหรือผืนนา (ซึ่งก็คือ ขันธ์-5). ข้อมูล ก็คือ ทุกๆ สิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้น. เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น จะถูกจับตามองโดย ‘ผู้สังเกต' กับ ‘ผู้ถูกสังเกต'. ในมุมมอง มโนทัศน์สัมพัทธภาพ, [04] ผู้สังเกต และผู้ถูกสังเกต มองเห็นเหตุการณ์เดียวกัน แต่ได้ข้อสรุปต่างกัน.

 


[04]
 มโนทัศน์สัมพัทธภาพ คือ มุมมองของบุคคลสองฝ่ายขึ้นไป มองเหตุการณ์เดียวกัน แต่ในเวลา และตำแหน่ง ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้บุคคลแต่ละฝ่าย จะได้รับข้อมูลแตกต่างกัน เช่น เหตุการณ์การอุบัติเกิดของสัมภเวสี, มนุษย์โลก (ผู้สังเกต) มองเห็นการเกิดของ สัมภเวสี ในเวลาที่สั้นมากๆ ขณะที่ ตัวของสัมภเวสี (ผู้ถูกสังเกต) กลับรู้สึกว่า ตนมีอายุยืนยาว. ดูรายละเอียด บทที่ 6 หัวข้อ 6.5.2 มโนทัศน์สัมพัทธภาพ.

 

เหตุการณ์เดียวกัน คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปรากฏขึ้นทั่วไปในจักรวาล. ถ้าเราเป็น ผู้สังเกต, วิญญาณ ก็จะเป็น ผู้ถูกสังเกต. (แม้ว่าวิญญาณ ไม่ใช่เรา แต่มันก็อยู่อาศัยในตัวเรา). รูป เวทนา สัญญา สังขาร กลายเป็นเหยื่อล่อ วิญญาณ ให้เข้าไปจับจองเป็นเจ้าของ (ผัสสะ 6 – การกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) แล้วผลิต ชุดข้อมูล 6 หมู่ ขึ้นมา ได้แก่

 

วิญญาณ 6 (จักขุวิญญาณ โสต วิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ)

เวทนา 6 (จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา)

สัญญา 6 (รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา)

ตัณหา 6 (รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา).

 

ชุดข้อมูลทั้ง 6 หมู่ ก็ปรากฏขึ้นใน สนามเหตุการณ์ (ขันธ์-5) ในห้วงเวลาสั้นๆ (สั้นมากๆ) แล้ววิญญาณดวงนั้นก็ดับวับหายไป. จากนั้น สัตตา เข้าไปยึดเอาชุดข้อมูลทั้ง 6 หมู่ ไปปรุงแต่งต่อ เป็นของเรา (เอตํ มม) เป็นเรา (เอโสหมสฺมิ) เป็นตัวตนของเรา (เอโส เม อตฺตาติ). ส่งผลให้เรา ซึ่งเป็นสัตว์ผู้นั้น มีภพ มีชาติ ชรา มรณะ วนเวียนอยู่ในวัฏจักร-อนันต์ อันยาวไกล.

ดังนั้น ในมุมมองสัมพัทธ, เรา (ผู้สังเกต) จะมองเห็น วิญญาณ ขันธ์-5 เป็นสิ่งน่าใคร่น่าปรารถนา (เกิดนันทิ ราคะ) ในขณะที่ วิญญาณ มองเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร เป็นแค่วัตถุดิบและโรงงาน.

 

“ ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าบุคคลย่อมคิด (เจเตติ) ถึงสิ่งใด ย่อมดำริ (ปกปฺเปติ) ถึงสิ่งใดอยู่ และย่อมมีจิตฝังลงไป (อนุเสติ) ในสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ ...”  (บาลี – นิทาน. สํ. 16/78/145.)

 

การคิด การดำริ การฝังจิตลงไปนั้น มาจากการเกิดขึ้นของผัสสะ. ตถาคต กล่าวว่า วิญญาณ ย่อมมีขึ้น เพราะอาศัยธรรม 2 อย่าง (คู่ของ สฬายตนะ) คือ จักษุ-รูป, โสตะ-เสียง, ฆานะ-กลิ่น, ชิวหา-รส, กาย-สัมผัส. (บาลี - สฬา. สํ. 18/85/124.) โดยที่ จักขุสัมผัส เกิดจาก จักษุ + รูป + จักขุวิญญาณ, โสตสัมผัส เกิดจาก โสตะ + เสียง + โสตวิญญาณ, ฆานสัมผัส เกิดจาก ฆานะ + กลิ่น + ฆานวิญญาณ, ชิวหาสัมผัส เกิดจาก ชิวหา + รส + ชิวหาวิญญาณ, กายสัมผัส เกิดจาก ผิวกาย + สัมผัส + กายวิญญาณ, มโนสัมผัส เกิดจาก มโน + ธรรมารมณ์ + มโนวิญญาณ.

อาการทางธรรมชาติของ ผัสสะทุกตัว คือ เมื่อผัสสะแล้วย่อม รู้สึก (เวเทติ - เวทนา) คิด (เจเตติ - เจตนา) จำได้หมายรู้ (สญฺชานาติ - สัญญา). อาการทางธรรมชาติของวิญญาณ และธรรม 2 อย่างที่เป็นที่อาศัยของวิญญาณ ล้วนแต่ “เป็นสิ่งที่หวั่นไหวด้วย อาพาธ (เจ็บป่วย) ด้วย ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น.”  จะเห็นว่า คุณสมบัติของจิต หรือ วิญญาณนั้น มีความเบาบางมาก (ลหุ) และ หาขอบเขตหรือตำแหน่งของมัน ไม่ได้เลย (ปริวัตตัง).

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตถาคต ได้นำหลักมโนทัศน์สัมพัทธ มาใช้อธิบายปรากฎการณ์ ช่วงรอยต่อ หรือช่วงเปลี่ยนผ่าน ระหว่าง สัตตา กับ วิมุตติญาณทัสสนะ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรม นำมาเป็นเกณฑ์วัด การบรรลุธรรมด้วยตนเอง. เช่น การเปรียบเทียบว่า ผู้สังเกต มองเห็นกิ่งไม้ (ขันธ์-5) ถูกลากไปเผา แต่ไม่รู้สึกว่าตนเองถูกลากไป เพราะ ผู้สังเกต ไม่ใช่กิ่งไม้นั้น นั่นคือ ผู้สังเกตมองเห็น ความแตกต่างระหว่างสถานะสัตตา (ที่ยังยึดขันธ์-5) กับสถานะวิมุตติญาณทัสสนะ (ซึ่งปล่อยวาง ขันธ์-5 ได้แล้ว).

 

(2) กระบวนการ จิต มโน วิญญาณ เปรียบวิญญาณ เหมือนแสง รูป เวทนา สัญญา สังขาร เหมือนฉาก.

 

อวิชชา สังขาร วิญญาณ สามสิ่งนี้ เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน. กระบวนการ จิต มโน วิญญาณ เกิดขึ้นได้เพราะ “มี อวิชชา เป็นเครื่องกั้น มี ตัณหา เป็นเครื่องผูก” แล้วลากพาให้ ระบบชีวิต แบบขันธ์-5 เคลื่อนไหลไปตาม วัฏจักรของปฏิจจสมุปบาท. การเกิดขึ้นของ จิต มโน วิญญาณ เป็นการอธิบายว่า จิตธาตุ ที่สัตว์ทั้งหลายยึดครองอยู่นั้น มีกลไกลทำงานอย่างไร.

กลไกการทำงานของ จิต มโน วิญญาณ เริ่มจาก อวิชชา สังขาร โดยที่ วิญญาณ จะเป็นผู้แยกแยะ คุณสมบัติความเป็นวัตถุธาตุ กับจิตธาตุ ให้แก่ อวิชชา สังขาร.

 

สังขาร แบ่งออกเป็น 3 ระดับการปรุงแต่ง คือ กายสังขาร (วัตถุธาตุแท้ๆ) – ร่างกาย รวมทั้งระบบประสาท ที่ก่อให้เกิด กิริยาอาการต่างๆ, วจีสังขาร (การปรุงแต่ร่วมระหว่าง วัตถุธาตุ กับ จิตธาตุ) – การพูดด้วยเสียง การแสดงสัญลักษณ์ทางภาษา และการสื่อสาร ด้วยเจตนา, มโนสังขาร หรือ จิตสังขาร (จิตธาตุแท้ๆ) – กระบวนการจิต มโน วิญญาณ เกิดขึ้น ณ จุดนี้. ความเป็นสัตว์ที่สมบูรณ์ ก็เริ่ม ณ จุดนี้เช่นกัน.

 

ตถาคต ทรงเปรียบ วิญญาณ หรือ มโน เหมือนแสงส่องไปกระทบฉาก (ธัมมัง), ฉาก ก็คือ รูปที่ถูกกระทบ เปรียบเหมือน ผืนนา (แผ่นดิน) หรือสถานที่เกิด (ภพ). ถ้าให้แสงและฉาก มีโอกาสสัมผัสกัน (ผัสสะ) ก็จะปรากฎทั้งแสงและฉากขึ้น. พระองค์กล่าวสรุปเรื่องนี้ว่า

 

“ถ้าไม่มีราคะ (ความกำหนัด) ไม่มีนันทิ (ความเพลิน) ไม่มีตัณหา (ความอยาก) ในกพฬีการาหารแล้วไซร้, วิญญาณก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ ในกพฬีการาหารนั้น. วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในที่ใด, การหยั่งลงแห่งนามรูป ย่อมไม่มี ในที่นั้น. การหยั่งลงแห่งนามรูป ไม่มีในที่ใด, ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมไม่มี ในที่นั้น. ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่มีในที่ใด, การบังเกิดในภพใหม่ต่อไปย่อมไม่มี ในที่นั้น. การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ไม่มีในที่ใด, ชาติ ชรามรณะต่อไป ย่อมไม่มี ในที่นั้น . ชาติชรามรณะต่อไป ไม่มีในที่ใด ... เราเรียก ‘ที่ นั้น ว่าเป็น ‘ที่ไม่โศก ไม่มีธุลี และไม่มีความคับแค้น' ดังนี้.”  [05]

 


[05]
 “ หมด ‘อาหาร' ก็นิพพาน.”  พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 3.  [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 113. | บาลี - นิทาน. สํ. 16/124/248.

 

 

นั่นหมายถึงว่า หากแสงกระทบฉาก คราวใด นั่นคือ ทุกข์ สังขาร ได้เกิดขึ้นแล้วแก่สัตว์ มนุษย์ เทวดา. หน้าที่สำคัญ ในการเกิดมาในภพชาติใดๆ คือ ต้องจับ แสง (วิญญาณ) แยกออกจาก ฉาก (รูป เวทนา สัญญา สังขาร).

ฉาก ที่เปรียบเหมือนผืนนา, พระองค์ แบ่งคุณภาพของผืนนา ออกเป็น 3 ระดับคุณภาพของธาตุ คือ ธาตุอันทราม ธาตุอันปานกลาง และ ธาตุอันประณีต.

ธาตุอันทราม จะเป็นเหตุให้สัตว์ได้ภพ เทวดา มนุษย์ เปรตวิสัย กำเนิดเดรัจฉาน และสัตว์นรก,

ธาตุอันปานกลาง จะเป็นเหตุให้สัตว์ได้ภพเทวดา ชั้นรูปพรหม (พรหมกายิกา),

ธาตุอันประณีต (ละเอียด) จะเป็นเหตุให้สัตว์ได้ภพเทวดา ชั้นอรูปพรหม.

ตถาคต เรียกวิญญาณในชื่อต่างๆ ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ตรงที่ ช่วงที่เป็นลำแสง เรียก มโน, ช่วงที่แสงกระทบฉากแล้ว เรียก วิญญาณ และตำแหน่งที่รู้ต่อเนื่อง (จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ) เรียกว่า จิต. จิต มีลักษณะอาการ 3 แบบ คือ จิตผูกติดกับอารมณ์ (สัญโญคะ) จิตเปลี่ยนแปลงเร็วมาก (ลหุปริวัตตัง) และ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ตลอดคืนตลอดวัน (รัตติยา จ ทิวะสัสสะ จะ อัญญะเทวะ อุปปัชชติ อัญญัง นิรุชฌติ).

 

สังขารทั้งหลาย เปรียบเหมือนลิงเกาะกิ่งไม้. “ ... เปรียบเหมือนวานร เมื่อเที่ยว ไปอยู่ในป่าใหญ่ ย่อมจับ กิ่งไม้ : ปล่อยกิ่งนั้น จับกิ่งอื่น ปล่อยกิ่งที่จับเดิม เหนี่ยวกิ่งอื่น เช่นนี้เรื่อย ไป ข้อนี้ฉันใด ... สิ่งที่เรียกกันว่า ‘จิต ก็ดี ว่า ‘มโน' ก็ดี ว่า ‘วิญญาณ ก็ดี ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ตลอดวัน ตลอดคืน.” [06]

โดยที่ ลิง เหมือน จิต มโน วิญญาณ, เมื่อมือของลิง (จิต) จับท่อนไม้ (เปรียบเหมือน ขันธ์-5) อยู่ และต้องการปล่อยกิ่งไม้นี้ เพื่อไปเกาะกิ่งไม้อื่น, มือของลิงที่ปล่อยกิ่งไม้แล้ว ช่วงนี้เรีกว่า มโน กำลังยื่นมือออกไป (เท่ากับ ลำแสงส่องออกไป) และมือของลิงไปสัมผัสกิ่งไม้กิ่งต่อไป ช่วงนี้เรียก วิญญาณ.

 


[06]
 “ตรัสว่า ถ้าจะมีตัวตนกันบ้าง เอาร่างกายเป็นตัวตนดีกว่าจิต.”  อริยสัจจากพระโอษฐ์ 2.  [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 1014. | บาลี - นิทาน. สํ. 16/114-115/230-232.

 

การเปรียบวิญญาณเหมือนแสง ของตถาคต เป็นการอุปมา สิ่งที่มนุษย์เข้าใจดีอยู่แล้ว เกี่ยวกับคุณสมบัติของแสง. นับเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ที่ คุณสมบัติของวิญญาณ ก็มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับแสง คือ หากจะมองวิญญาณเป็น “ดวง” (ก็แค่สมมุติให้เห็น กายภาพของมันเท่านั้น). ซึ่งที่จริงมันอาจจะไม่ใช่ดวง หรืออาจเป็นจุดก็ได้ และอาจมีขนาดเล็ก ยิ่งกว่าอนุภาคควาร์กด้วยซ้ำไป.

 

 

ภาพที่ 5.02 -ก แผนภาพ – มโน จิต วิญญาณ ผังที่ 1 : แสงกับฉาก
ที่มา : ผังประกอบการบรรยายธรรม พุทธวจน ธรรมวินัยจากพระโอษฐ์ วัดนาป่าพง.

 

ภาพที่ 5.02 -ข แผนภาพ – มโน จิต วิญญาณ ผังที่ 8 : จิต มโน วิญญาณ
ที่มา : ผังประกอบการบรรยายธรรม พุทธวจน ธรรมวินัยจากพระโอษฐ์ วัดนาป่าพง

 

 

5.1.3
วิญญาณ ย่อมก่อภพให้แก่สัตว์ทั้งหลาย

 

(1) วิญญาณสร้างภพ

 

วิญญาณสร้างภพได้อย่างไร ตถาคตกล่าวถึงภพ ไว้ 3 เหตุการณ์ คือ

 

(ก) เหตุเกิดของภพ [07] “ถ้ากรรม มีกามธาตุเป็นวิบาก ... กามภพ จะพึงปรากฎ ... ถ้ากรรม มีรูปธาตุเป็นวิบาก ... รูปภพ จะพึงปรากฎ ... ถ้ากรรม มีอรูปธาตุเป็นวิบาก ... อรูปภพ จะพึงปรากฎ ... ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนา (ผืนดิน), วิญญาณเป็นเมล็ดพืช, ตัณหาเป็นยาง (สำหรับหล่อเลี้ยงเชื้องอก) ของพืช. วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพัน ตั้งอยู่แล้วด้วย ธาตุชั้นทราม (กามธาตุ), ... ธาตุชั้นกลาง (รูปธาตุ) ... ธาตุชั้นประณีต (อรูปธาตุ) ... การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.”

 


[07]  “เหตุเกิดของภพ.”
 พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 5. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 149. | บาลี - ติก. อํ. 20/287-288/516-517.

 

(ข) คือเครื่องนำไปสู่ภพ “ ... ฉันทะ (ความพอใจ) ก็ดี, ราคะ (ความกําหนัด) ก็ดี, นันทิ (ความเพลิน) ก็ดี, ตัณหา (ความทะยานอยาก) ก็ดี, อุปายะ (กิเลสเป็นเหตุเข้าไปสู่ภพ) และ อุปาทาน (ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส) อันเป็นเครื่องตั้งทับ เครื่องเข้าไปอาศัย และเครื่องนอนเนื่องแห่งจิตก็ดี ใดๆ ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ. กิเลสเหล่านี้ เรียกว่า ‘เครื่องนำไปสู่ภพ'.”  (บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/233/368)

 

(ค) การเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ (ภพ ที่ไม่ใช่สถานที่อันเป็นเขตแดน หรือผืนดิน) “ ... ถ้าบุคคล ย่อมคิด (เจเตติ) ถึงสิ่งใดอยู่, ย่อมดำริ (ปกปฺเปติ) ถึงสิ่งใดอยู่ และย่อมมีจิตฝังลงไป (อนุเสติ) ในสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ. เมื่ออารมณ์ มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมี, เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป ย่อมมี, เมื่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป มีอยู่ ชาติชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน. ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. ...”  (บาลี - นิทาน. สํ. 16/78/145.)

 

วิญญาณจะใช้สิ่งเหล่านี้ เป็นอารมณ์ ในการสร้างภพ คือ ตัณหา ฉันทะ ราคะ นันทิ อุปายะ อุปาทาน การคิด การดำริ และ การฝังจิตลง, ธรรมเหล่านี้ สรุปลงเป็น “กรรม” ทั้งสิ้น . ดังนั้น กรรมต้องมีจิต (วิญญาณ) ไปรับรู้, การรับรู้นี้เรียกว่า เจตนา. กล่าวได้ว่า เจตนา เป็น กรรม , สิ่งหรือการกระทำใด ที่จะทำให้กรรมนั้นมีผล ดี-ชั่ว บาป-บุญ กุศล-อกุศล จะต้องมีเจตนา มาก่อนหน้าที่จะลงมือกระทำ. วิญญาณ ไม่อาจหยั่งรู้ นิพพาน ได้เลย เพราะ วิญญาณ เกิดปรากฎ เสื่อมปรากฎ ไปตามกฎธรรมชาติ แต่นิพพาน มีกฎธรรมชาติที่เป็นของตนเอง.

 

(2) ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ (วิญญาณฐิติ)

 

ตถาคต ได้อุปมาเปรียบเทียบ ดิน น้ำ และ ส่วนของพืชสำหรับขยายพันธุ์ (พืชสด) ซึ่งเป็นเหตุปัจจัย ที่ทำให้วิญญาณ (พืช) ก่อเกิด และพัฒนาไปเป็นจิตในรูปแบบต่างๆ. วิญญาณฐิติ หมายถึง สิ่งหรือสถานที่ ที่เป็นปัจจัย ให้วิญญาณเกิดอาศัยได้ มี 4 อย่าง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร (ขันธ์ 4) เปรียบเหมือน ดิน. นันทิ ราคะ (ความกำหนัด ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน) เปรียบเหมือน น้ำ. และ วิญญาณ เปรียบเหมือนส่วนของพืชที่ได้มาจาก เหง้าหรือราก (มูลพีช) ต้น (ขนฺธพีช) ตาหรือผล (ผลพีช) ยอด (อคฺคพีช) เมล็ด (พีชพีช).

พระองค์กล่าวว่า “ ... วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอา รูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้, เป็นวิญญาณที่มี รูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... เป็นอารมณ์, มี รูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... เป็นที่ตั้งอาศัย, มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้.”  (บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/67/106.) การเจริญงอกงามของวิญญาณ ย่อมต้องอาศัย รูป เวทนา สัญญา สังขาร เป็นที่ตั้งอยู่ โดยละเว้นไม่ได้เลย.

 

เหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า “การมา (การปรากฎ) การไป (การดับ) การจุติ (การตาย) การอุบัติ (การเกิด) ความเจริญ ความงอกงาม และความไพบูลย์ของวิญญาณ โดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนา เว้นจากสัญญา และเว้นจากสังขาร ดังนี้นั้น นี่ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย.”

 

เหตุที่กล่าวว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร เป็นธัมมะธาตุที่ต้องทำลาย, เกิดคำถามต่อมาว่า ส่วนที่ต้องทำลายนั้น คือส่วนใด? ก่อนอื่น เราต้องแยกคุณสมบัติ รูปนามของขันธ์-5 ออกให้ชัดเจน. เมื่อแยกคุณสมบัติได้ชัดเจนแล้ว จะมองเห็นความเป็น รูปธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ และ สังขารธาตุ ซึ่งเป็นคุณสมบัติ รูปธาตุของจิต, เท่ากับ เป็นการดักจับจิตได้ถูกตัวตนยิ่งขึ้น เพื่อเลือกว่าส่วนที่เป็น นามธาตุ เท่านั้น คือส่วนที่ต้องทำลาย.

 

ตารางที่ 5.01 การอุปมา เหตุปัจจัยที่เป็นที่ตั้งอาศัยของวิญญาณฐิติ.

วิญญาณ

นามรูป (รูป เวทนา สัญญา สังขาร)

ปัจจัย ที่ทําให้เกิด วิญญาณ – นามรูป

เมล็ดพืช [a]

ผืนนา ( ภพ )

น้ำ ความชื้น (นันทิ ราคะ)

กิ่งไม้ [b]

มัดของกิ่งไม้

วางตั้งพิงกัน

แสง [c]

ฉาก เช่น ฝาเรือน พื้นดิน ผิวนำ

การกระทบ (ผัสสะ)

ด้านหนึ่งของเหรียญ

อีกด้านหนึ่งของเหรียญ

เหรียญเดียวกัน

 

 

มีข้อสังเกตประการหนึ่ง, ตถาคต ได้อุปมาเปรียบเทียบ วิญญาณ ไว้ในชุดของการเกิดภพบ้าง ในชุดของขันธ์-5. เช่น

กรรม เป็นเนื้อนา,

วิญญาณ เป็นเมล็ดพืช,

ตัณหา เป็นยางสำหรับ หล่อเลี้ยงเชื้อชีวิตของพืช ให้งอก,

รูป เวทนา สัญญา สังขาร เปรียบเหมือนดิน,

นันทิราคะ เปรียบเหมือนน้ำ,

วิญญาณ เปรียบเหมือน ส่วนของพืชที่งอกได้.

 

จะเห็นได้ว่า วิญญาณ มีพัฒนาการได้หลายช่วงเวลา หลายคุณสมบัติ หลายสถานะ (มโน วิญญาณ จิต). ทำให้ยากแก่การมองเห็น ตัวตนของมันได้ชัด. เหมือนเซลมะเร็ง ที่กลายพันธุ์ตลอดเวลา จนแพทย์ไม่สามารถคิดค้นหายา ไปฆ่ามันได้ทันกาล.

 

วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย มิได้อยู่โดดเดี่ยวอิสระ แต่มี อวิชา และ ตัณหา ผูกติดไว้ด้วย และมี “เครื่องนำไปสู่ภพ” คือ ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกําหนัด) นันทิ (ความเพลิน) ตัณหา (ความทะยานอยาก) อุปายะ (กิเลสเป็นเหตุเข้าไปสู่ภพ) และ อุปาทาน (ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส) เหมือนเป็น GPS นำทางให้ได้ภพใหม่.

เครื่องนำไปสู่ภพ เหล่านี้ ส่งผลให้ เกิดธาตุ 3 ชนิด (เลว ปานกลาง ละเอียด) ที่จะเป็นตัวสร้างภพต่อไป. ธาตุ 3 ชนิดนี้ คือ กามธาตุ (ธาตุชั้นเลว) เป็นตัวสร้าง กามภพ (ภพมนุษย์ และเทวดาชั้นกามภพ ถ้าเลวมากๆ อาจได้ภพนรก เปรตวิสัย ไปด้วย), รูปธาตุ (ธาตุชั้นกลาง) เป็นตัวสร้าง รูปภพ (ภพเทวดาชั้นพรหมกายิกา), อรูปธาตุ (ธาตุชั้นประณีต หรือ ละเอียด) เป็นตัวสร้าง อรูปภพ (ภพของอรูปพรหมผู้มีอายุยาว).

 

(3) สัตว์เข้าไปยึดวิญญาณ จึงได้ชื่อว่า “สัตว์” และสัตว์ย่อมต้องอาศัยภพ ในการเกิด.

 

แท้จริงแล้ว วิญญาณ เป็นธัมมะธาตุอิสระ เช่นเดียวกับ อวิชชา สังขาร และ เป็นคนละส่วนกับสัตว์ ตัวตน บุคคล. จิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่เป็นเรา เพราะถ้าจิตเป็นเรา เป็นของเรา และเป็นเรา, เราสามารถควบคุมให้มันทำอะไร หรือเป็นอะไรตามที่เราต้องการได้. อาการดื้อแพ่งของจิต เช่น ฟุ้งซ่าน โกรธ ร่านอยาก เป็นผลพวงมาจาก กระบวนการทำงานของ จิต มโน วิญญาณ นั่นเอง.

 

“ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกำหนัด) นันทิ (ความเพลิน) ตัณหา (ความอยาก) ใดๆ มีอยู่ใน รูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ, เพราะการติดแล้ว ข้องแล้วใน รูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ นั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ‘สัตว์' (ผู้ข้องติดในขันธ์ทั้ง 5) ดังนี้ .”  (บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/232/367.)

 

สัตว์ทุกผู้ ย่อมต้องอาศัยภพในการเกิด หรือกล่าวว่า ภพ ก็คือ ภาวะของชีวิต โลกอันเป็นที่อยู่ ภูมิ ระดับชีวิต จิตใจ ที่ดำรงอยู่ แบ่งออกเป็น 4 ตามระดับคุณภาพต่ำไปสูง คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ และโลกกุตระ.

สัตว์จะได้ไปสู่ภพใด ขึ้นอยู่กับการสะสมพฤติการณ์ ซึ่งเรียกว่า “กรรม” ว่าจะมีพลังลบ (กรรมดำ) หรือ พลังบวก (กรรมขาว). พลังลบ จะพาไปสู่ ภพนรก หรือ อบายภูมิ (กามภพชั้นเลว) พลังบวก นำไปสู่ภพ มนุษย์ขึ้นไป (กามภพ ชั้นดี) พลังบวกที่สะอาด ก็จะได้ภพที่สูงขึ้นไปจนถึง รูปภพ อรูปภพ และ โลกุตตระ.

 

ตถาคต กล่าวไว้ว่า เหตุที่ทำให้ ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย เมื่อหลังการตาย ย่อมไปสู่สถานะหรือภพภูมิ อบาย ทุคติ วินิบาต นรก คือ ไม่ได้สดับ ไม่เลื่อมใส ในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ทุศีล ... มิจฉาทิฏฐิ ... มิจฉาสังกัปปะ ... มิจฉาวาจา ... มิจฉากัมมันตะ ... มิจฉาอาชีวะ ... มิจฉาวายามะ ... มิจฉาสติ ... มิจฉาสมาธิ ... มิจฉาญานะ ... มิจฉาวิมุตติ. [08]

 


[08]  ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดี ป่วย พระสารีบุตร อัครสาวกของตถาคต ไปเยี่ยมและกล่าวหัวข้อธรรม โสตาปัตติยังคะ 4 จำแนกด้วยอาการ 10 ดู “คุณสมบัติพระโสดาบัน (นัยที่ 4).”  พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 2. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 224 - 229. | บาลี - มหาวาร. สํ. 19/479/1549.]

 

หากมนุษย์ผู้ใด ประพฤติปฏิบัติ ในสิ่งตรงกันข้ามข้างต้น, ชีวิตหลังการตาย ก็จะไปสู่สถานะหรือภพภูมิ มนุษย์โลก สุคติโลกสวรรค์ . มีข้อน่าสังเกตว่า สัตว์ผู้ไม่เคยได้ใกล้ชิดธรรม เช่น สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ปุถุชน ย่อมไม่รู้ ไม่สนใจ ว่าชีวิตหลังการตายจะเป็นอย่างไร, เป็นเหตุให้เกิดการสะสม “ พลังลบ ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้, จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่สัตว์เหล่านั้น ย่อมต้องได้ผลแห่งพลังลบเหล่านั้น.

การตัดภพ ดับชาติ เป็นการทำลายกองทุกข์แบบถอนราก, ตถาคต เป็นผู้ที่ทำให้สัตว์เหล่านั้น รู้ชัดใน ‘ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ' (วิญญาณฐิติ) คือ “ ... รู้ชัดการเกิด (สมุทัย) แห่งสิ่งนั้น รู้ชัดความดับ (อัตถังคมะ) แห่งสิ่งนั้น รู้ชัดรสอร่อย (อัสสาทะ) แห่งสิ่งนั้น รู้ชัดโทษต่ำทราม (อาทีนวะ) แห่งสิ่งนั้น และรู้ชัดอุบายเป็นเครื่องออก ไปพ้น (นิสสรณะ) แห่งสิ่งนั้น ...” เพื่อกำจัดกลุ่มก้อนของวิญญาณให้กระจัดกระจายไป อันเป็นเป้าหมายสูงสุด ของสัตว์ทุกผู้ คือ นิพพาน.

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

5.2
กระบวนการปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย

 

กระบวนการปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย เป็นหลักทฤษฎีมูลฐาน ของการอุบัติเกิดของทุกสรรพสิ่ง ในเอกภพ. เริ่มต้นที่ อวิชชา สังขาร และวิญญาณ ในสายการเกิดของปฏิจจสมุปบาท. จากนั้น วิญญาณ ก็จะพัฒนาคุณสมบัติต่อไป จนเป็นที่พอใจของ สัตว์ที่จะยึดเอาไว้ต่อภพ ต่อชาติ ของตนเองต่อไป.

คำว่า สังขารทั้งหลาย หมายถึงส่วนที่เป็น กริยา อาการ นามรูป ที่ถูกปรุงแต่งขึ้น เป็นวัตถุ ชีวิต สัตว์ มนุษย์ เทวดา ตลอดจน ระบบชีวิตที่มีจิตเป็นองค์ประกอบ. ส่วนคำว่า สังขาร หมายถึง กิริยาอาการ การปรุงแต่งเท่านั้น ไม่ว่าสิ่งที่ถูกปรุงแต่งนั้น จะเป็นวัตถุธาตุหรือเป็นจิตธาตุก็ตาม. กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า สังขาร เป็นกิริยาการ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ของทุกธัมมะธาตุ.

 

 

5.2.1
อวิชชา สังขาร วิญญาณ

 

(1) อิทัปปัจจยตา – ปฏิจจสมุปบาท กฎมูลฐานของธรรมชาติ ที่ทำให้อวิชชา สังขาร วิญญาณ เป็นอิสระ.

 

พระโสดาบัน คือ ผู้เห็นชัดรายละเอียดในสิ่งต่อไปนี้.

“ เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย, เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ, เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป, เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ, เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ, เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา, เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา, เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน, เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ, เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ, เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ .”

(บาลี - นิทาน. สํ. 16/50/88.)

 

 

 

 

ปฏิจจสมุปบาท เป็นกระบวนการปรุงแต่ง สังขารทั้งหลาย อธิบายได้ดังนี้.

 

ชรามรณะ – แก่ ตาย อันมีสาเหตุมาจาก การมีอยู่ของวัตถุธาตุ และการเกิดของ ‘สัตว์ทั้งหลาย' (สัตตา) เป็นภาวะ ความทุกข์ (ทนสภาพเดิมไม่ได้ของวัตถุ สัตว์ทั้งหลาย และรวมถึงความทุกข์ทางใจ) ที่เห็นได้ไม่ยาก.

ชรา หมายถึง ความแก่ เก่า คร่ำคร่า (ทั้งวัตถุธาตุ และสัตว์ทั้งหลาย) เช่น ถ้าเป็นมนุษย์ ก็จะมีฟันหลุด ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น เป็นต้น.

มรณะ หรือ ความตาย หมายถึง การแตกสลาย บุบสลาย การหายไป (ถ้าเป็นวัตถุธาตุ) การวายชีพ การตาย การทำกาละ การทอดทิ้งร่าง (ถ้าเป็นสัตว์ทั้งหลาย) สรุปคือ การแตกสลายของขันธ์-5 นั่นเอง. ผลสืบเนื่องในลักษณะเดียวกัน คือ ความโศกเศร้า ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจทั้งหลาย.

 

ชาติ – การเกิดขึ้นของ ขันธ์-5 และอายตนะ (ส่วนของร่างกายรับสัมผัส สมอง และระบบประสาทการรับรู้ และรวมถึง จิตสังขาร กายสังขาร) ของสัตว์ทั้งหลาย. ชาติ หมายถึง การเกิด การกำเนิดด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 4 แบบ คือ เกิดในไข่ (อัณฑชะ ) เกิดในครรภ์ (ชลาพุชะ) เกิดในเถ้าไคล (สังเสทชะ) และการเกิดแบบผุดเกิด โดยไม่ต้องมีการสมสู่หรือมีพ่อแม่ โอปปาติกะ).

การเกิดขึ้นของสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตไม่ว่าประเภทใด ย่อมต้องอาศัย ร่าง (body) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของวัตถุธาตุ (ยกเว้น โอปปาติกะสัตว์). ดังนั้น คำว่าชาติ จึงหมายรวมถึง การประกอบเกิดใหม่ของธาตุต่างๆ ให้เป็นร่าง เพื่อให้เหมาะสม กับการดำรงชีวิตอาศัย ต่อไป.

 

ภพ – สถานที่ซึ่งวิญญาณ ใช้ตั้งอาศัยเพื่อเกิดขึ้น (รูป เวทนา สัญญา สังขาร) และรวมถึง สถานที่เกิดของสัตว์ (สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์ เทวดา). ภพมีคุณภาพ 3 ระดับ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ.

กามภพ คือ สถานที่ตั้งอาศัยของวัตถุธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม เพื่อให้สัตว์ไปเกิด,

รูปภพ คือ สถานที่ตั้งอาศัยของจิตธาตุ เช่น เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ (รูปที่ละเอียด รูปที่เป็นจิต) เพื่อให้สัตว์ เช่น เทวดา สัตว์ในอบายภูมิ ไปเกิด,

อรูปภพ คือ สถานที่เกิดของผู้ที่ไม่ต้องอาศัยรูปทั้งที่เป็นรูปกาย และรูปที่เป็นจิต. มนุษย์ เทวดา หรือ สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรตวิสัย จะเลือกภพ ให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของตน.

ดังนั้น ภพจึงมี 2 สถานะ คือ สถานะทางจิตธาตุ เริ่มก่อเกิดตั้งแต่กระบวนการ จิต มโน วิญญาณ ทำงาน และ สถานะทางวัตถุธาตุ เริ่มเมื่อชาติกำเนิดของสัตว์เกิดขึ้น.

 

ในช่วงของ ภพ ชาติ ชรามรณะ, วิญญาณไม่ได้หายไปที่ใด และไม่ได้หมดไป วิญญาณดวงหนึ่งดับ อีกดวงก็เกิดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ. ดุจเดียวกับแสง ตราบใดที่ดาวฤกษ์มีอยู่ แหล่งกำเนิดแสงในเอกภพ ก็ยังคงให้กำเนิดแสงต่อไป ไม่สิ้นสุด. มนุษย์และสัตว์ รู้ว่าตนเอง เกิด แก่ ตาย สุข ทุกข์ ก็เพราะมีวิญญาณเป็นผู้บอก, วิญญาณกลับไม่รู้สึกว่า ตัวมันเอง เกิด แก่ ตาย หรือ สุข ทุกข์.

 

 

 

 

อุปาทาน – คือการยึดมั่น 4 อย่าง คือ กามุปาทาน ยึดมั่นในกาม หรือ ความอร่อย ความเพลิน. ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นในความคิดเห็นของตนว่าถูก ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้. สีลัพพัตตุปาทาน ยึดมั่นในข้อปฏิบัติทางกาย และวาจาของตน (ศีลพรต ทั้งในส่วนที่ถูกและผิด). อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นในความเป็นตัวตน.

 

ตัณหา – ตัณหา มี 3 แบบ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา. กามตัณหา ความอยากในความอร่อย ความเพลิน ในรูปวัตถุ (รูปตัณหา) เสียง (สัททตัณหา) กลิ่น (คันธตัณหา) รส เช่น อาหาร (รสตัณหา) การสัมผัสทางกาย (โผฏฐัพพตัณหา) และ อารมณ์ต่างๆ (ธัมมตัณหา). ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น. วิภวตัณหา ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น. ถ้าเปรียบ ตัณหา เหมือนแรงในกลศาสตร์, ตัณหา ก็เหมือนแรงโน้มถ่วง ที่ดึงดูดมวลเข้าสู่ศูนย์กลาง.

 

เวทนา – ความรู้สึกที่เกิดกับส่วนต่างๆ ของ อินทรีย์ทั้ง 6 มี 3 อารมณ์ คือ อารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ และ อารมณ์ไม่สุขไม่ทุกข์. เวทนาที่เกิดกับ อินทรีย์ทั้ง 6 คือ เวทนาที่เกิดจาก การสัมผัสทางตา (จักขุสัมผัสสชาเวทนา) การสัมผัสทางหู (โสตสัมผัสสชาเวทนา) การสัมผัสทางกลิ่น (ฆานสัมผัสสชาเวทนา) การสัมผัสทางลิ้น (ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา) การสัมผัสทางกาย (กายสัมผัสสชาเวทนา) และ การสัมผัสทางใจ (มโนสัมผัสสชาเวทนา).

 

ผัสสะ – จุดเชื่อมต่อระหว่าง สิ่งที่เป็นรูปวัตถุ (อายตนะภายนอก) กับอวัยวะการรับรู้ของจิต (อายตนะภายใน) ที่เป็นคู่กัน (ถ้าผิดคู่จะไม่เกิดผัสสะ) ประกอบด้วย คู่ของ รูป – ตา (จักขุสัมผัส) คู่ของ เสียง – หู (โสตสัมผัส) คู่ของ กลิ่น – จมูก (ฆานสัมผัส) คู่ของ รส – ลิ้น (ชิวหาสัมผัส) คู่ของ สัมผัส – ผิวกาย (กายสัมผัส) และ คู่ของ อารมณ์ – ใจ (มโนสัมผัส). ถ้าจะกล่าวว่า ผัสสะ ก็คือชนวน หรือสะพานเชื่อม ให้เกิดทุกข์ปัญหาทั้งปวง ก็คงไม่ผิด. แต่การไม่สร้างเหตุให้เกิดผัสสะ ก็ไม่ทำให้การเกิด ของปฏิจจสมุปบาท หยุดลงได้. เพราะถ้าผัสสะถูกตัดขาด แต่ยังปล่อยให้ปัจจัยอื่นๆ เช่น วิญญาณ เวทนา สฬายตนะ นามรูป ยังมีบทบาทอยู่ ผัสสะก็พร้อมจะถูกจุดขึ้นมาได้ตลอดเวลา.

 

สฬายตนะ – ขอบเขตหรือแดน ที่ทำให้เกิดผัสสะ (อธิบายแล้วใน ผัสสะ) คือ จักข๎วายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ มนายตนะ.

 

นามรูป – รูปร่างที่แท้จริง (body) ของขันธ์-5 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็น ‘นาม' (นามวัตถุ) ได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ และส่วนที่เป็น ‘รูป' (รูปวัตถุ) ได้แก่ มหาภูตรูป ดิน น้ำ ไฟ ลม) รวมทั้ง สิ่งที่อาศัยอยู่ในมหาภูติรูปนั้นด้วย ซึ่งก็คือ สัตว์ และวิญญาณ.

กล่าวอีกนัยหนึ่ง นามรูป ก็คือการแสดงอัตลักษณ์ ของร่างกายและจิตใจ ของสัตว์ สิ่งมีชีวิตทุกชนิด นั่นเอง.

 

 

วิญญาณ – ธาตุรู้ หรือผู้รู้แจ้ง มีชื่อเรียกอื่นอีกว่า มโน จิต. กลุ่มของวิญญาณ มี 6 ชนิด คือ ผู้รู้ทางตา (จักขุวิญญาณ) ผู้รู้ทางหู (โสตวิญญาณ) ผู้รู้ทางจมูก (ฆานวิญญาณ) ผู้รู้ทางลิ้น (ชิวหาวิญญาณ) ผู้รู้ทางกาย ( กายวิญญาณ) ผู้รู้ทางใจ (มโนวิญญาณ).

 

 

แม้ว่าวิญญาณจะเป็นธาตุรู้ แต่ตัวมันเอง ‘ไม่รู้เรื่องอะไร'. มันแค่ทำหน้าที่ ชี้เบาะแส หรือการส่องไฟ แล้วดับไป. จุดที่วิญญาณเข้าไปส่อง เรียกว่า ‘ที่ตั้งอาศัย'. ที่ตั้งอาศัยของวิญญาณ มี 4 อย่าง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร. การเข้าไปตั้งอาศัยของวิญญญาณ จะทำได้แค่คราวละ 1 อย่างเท่านั้น. วิญญาณ และ ที่ตั้งอาศัย มีจำนวนมากมายเป็นอนันต์ ทำให้พฤติการณ์ของวิญญาณ ที่กระทำต่อที่ตั้งอาศัย เกิดขึ้นแบบต่อเนื่อง ดุจเดียวกับแสงไฟจากแหล่งกำเนิดแสง.

 

สังขารทั้งหลาย – การปรุงแต่งทางกาย (กายสังขาร) วาจา (วจีสังขาร) ใจ (จิตตสังขาร). สังขาร เป็นการปรุงแต่งที่ครอบคลุมไปถึงปัจจัยอื่นๆ เหมือนเป็นพื้นหลัง เหมือนเป็นโครงสร้าง การกำเนิดชีวิตของสัตว์ทุกผู้. เพ ขันธ์-5ม่มีสังขาร สิ่งต่างๆ (สัตว์ ไม่รวมพืช) ก็ไม่อาจประกอบเป็นโครงสร้างของการมีชีวิตได้เลย. ดังนั้น สังขารทั้งหลาย จึงรวมขันธ์- 5 และอินทรีย์ 6 ไว้ในนี้ด้วย.

 

อวิชชา – ความไม่รู้ คือไม่รู้ทั้งในวัตถุธาตุ จิตธาตุ เพราะส่วนหนึ่งตัวมันเอง เป็นวัตถุธาตุ.

ในส่วนของวัตถุธาต ดิน น้ำ ไฟ ลม ตัวมันย่อม ‘ไม่รู้เรื่องอะไร' (เพราะเหตุที่มันเป็นวัตถุ สสาร พลังงาน).

ในส่วนของจิตธาตุ คือ ไม่รู้ใน อริยสัจ-4.

อวิชชาในส่วนของวัตถุธาตุ มีอยู่เพราะ คุณสมบัติทางฟิสิกส์ (สสาร พลังงาน ความโน้มถ่วง), อวิชชาในส่วนของจิตธาตุ มีอยู่เพราะมี นิวรณ์ เป็นอาหาร เหตุนี้จึงทำให้ อวิชชา เป็นส่วนหนึ่งของ อาสวะทั้งหลาย (กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ) เพราะบริโภคอาหารแบบเดียวกัน.

 

ปัจจัยทุกข้อของปฏิจจสมุปบาท ดำรงอยู่ได้เพราะมี ‘อาหาร' หล่อเลี้ยง. อาหารในที่นี้ ก็คือ เหตุปัจจัยการเกิดนั่นเอง. “ ... เรากล่าวว่า ภวตัณหา ... อวิชชา ... นิวรณ์ ... เป็นธรรมชาติที่มีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่., เป็นคำที่ใครๆ ก็ควรกล่าวว่า ‘ ภวตัณหา ... อวิชชา ... นิวรณ์ ย่อมปรากฎ เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้ เป็นปัจจัย ' (อิทัปปัจจยตา).” [09]

จากพุทธวจนบทนี้ กล่าวว่า ภวตัณหา มี อวิชชา เป็นอาหาร, อวิชชา มี นิวรณ์ เป็นอาหาร, นิวรณ์ มี ทุจริตทาง กาย วาจา ใจ เป็นอาหารทุจริตทาง กาย วาจา ใจ มีการไม่สำรวมอินทรีย์ เป็นอาหาร.

 


[09]
 “ปัจจัยแห่งภวตัณหา.”  อริยสัจจากพระโอษฐ์ 1. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 313-314. | บาลี - จตุกฺก. อํ. 21/13/10.

 

 

 

อวิชชา สังขาร วิญญาณ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสรรพสิ่งในเอกภพ เหมือนการระบิดของบิ๊กแบง. หลังการเกิดขึ้นของอวิชชา ก็เกิดการวิวัฒน์ของเหตุปัจจัย มีการปรุงแต่งสังขาร และการเกิดขึ้นของวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ไปจนกระทั่งเกิดภพ ชาติ ของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย.

ดังนั้น การทำลายอวิชชา จึงไม่สามารถทำลายได้ทั้งหมด จะทำลายได้ เฉพาะในส่วนที่เป็นจิตธาตุเท่านั้น. การทำลายอวิชชา ทำได้ 2 วิธี คือ ด้วยวิถีทางสมถะ (เจโตวิมุตติ) และ ด้วยวิถีทางวิปัสสนา (ปัญญาวิมุตติ) (บาลี - ทุก. อํ. 20/77-78/275.)

 

(2) สัมพัทธภาพของสังขารทั้งหลาย

 

ตถาคต ให้คำนิยามธัมมะธาตุที่มีในเอกภพ แตกต่างกันหลายชื่อ. เช่น สังขารทั้งหลาย (สพฺเพ สงฺขารา), ภูตรูป (ดิน น้ำ ไฟ ลม), ขันธ์-5, เรียกว่า อินทรีย์ 6. นักวิทยาศาสตร์ รู้จักและยอมรับเฉพาะวัตถุธาตุ (อนุภาค สสาร พลังงาน กาลอวกาศ). ทั้งหมดนี้เรียกว่า นามรูป รวมกันเป็นสังขารทั้งหลาย.

เมื่อมอง สังขารทั้งหลาย ในทุกๆ มุมมอง ทำให้มันมีลักษณะและคุณสมบัติ ที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว. การเกิดขึ้น การดำรงอยู่ และการดับสลาย ของสังขารทั้งหลาย อยู่ภายใต้กรอบเวลา ที่แตกต่างกันมากมาย เทียบสัดส่วนกันไม่ได้เลย. เพราะมี สัมพัทธภาพกาลเวลาของผู้สังเกต เป็นเงื่อนไขสำคัญ.

 

สัมพัทธภาพ กาลเวลาของผู้สังเกต สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กาล คือ

 

(2.1) สิ่งที่มีอายุสั้นกว่า หรือใกล้เคียงกับอายุของผู้สังเกต, ผู้สังเกต สามารถพิสูจน์การมีอยู่ของตัวตนของสิ่งนั้นๆ ได้ภายในขอบเขตอายุขัยของผู้สังเกต. (ผู้สังเกต ก.)

 

(2.2) สิ่งที่มีอายุใกล้เคียง หรือยาวกว่าอายุของผู้สังเกต อาจให้ผู้สังเกตอีกผู้หนึ่งรับช่วงต่อ ในการพิสูจน์การมีอยู่ ของตัวตนของสิ่งนั้น เช่น ช้างเชือกหนึ่ง (ช้างอายุยาวกว่ามนุษย์). ช่วงอายุขัยของสิ่งที่มีอายุยาวกว่า ผู้สังเกตคนหนึ่ง ไม่สามารถรอดูเวลา การดับสลายของสิ่งนั้นได้. เช่น ดาวฤกษ์ เทวดา (ผู้สังเกต ข.)

 

(2.3) ไม่ว่าสิ่งนั้น จะมีอายุยืนยาวกว่าหรือสั้นกว่าอายุของผู้สังเกต. แต่ผู้สังเกตอาจมองเห็นและยอมรับกฎธรรมชาติ ที่ว่า สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน. ในมุม มองของผู้สังเกตข้อนี้ อาจสงสัยว่า ในเมื่อยังมีความเสื่อมต่อเนื่องอันยาวนาน ก็ยังนับว่ามันยังมีตัวตนอยู่ และถ้ามันดับสลายจริงๆ สิ่งนั้นจะมีสภาวะเป็นอย่างไร หรือเป็นอะไร แม้กระทั่งตัว ผู้สังเกตเอง จะอยู่ในสถานะใด. (ผู้สังเกต ค.)

 

(2.4) ในที่สุด สังขารทั้งหลาย หรือสรรพสิ่ง ย่อมดับสลายไปทั้งหมด. แต่ในความรู้สึก และตัวตนของผู้สังเกตนั้นยังอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนสถานะ จากความไม่เที่ยง ความเสื่อม และความไร้ตัวตนนั้น ไปเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ ไม่ใช่เรา. ปรากฎการณ์ในข้อนี้ ตรงกับสิ่งที่ตถาคตเรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนะ. (ผู้สังเกต ง.) ซึ่งเป็นการตัดเส้นทาง รอบการเกิดปรากฎของ กลไกชีวะ-ชีวิต หรือ ขันธ์- 5 หรือ สังขารธรรม 6 ในที่สุด.

 

 

ภาพที่ 5.03 สัมพัทธภาพกาลเวลาของผู้สังเกต ที่มีต่อสังขารทั้งหลาย

อธิบาย –
ผู้สังเกต (ก) เมื่อมองสิ่งที่มีอายุสั้นกว่า
ผู้สังเกต (ข) เมื่อมองสิ่งที่มีอายุยาวกว่า
ผู้สังเกต (ค) เมื่อสรุปรวมสังขารทั้งหลาย แต่ยังไม่แน่ใจในเรื่อง อนัตตตา
ผู้สังเกต (ง) ในมุมมองของ อริยชน แน่ใจในเรื่องอนัตตตาที่แท้ ควรเป็นอย่างไร เพราะเห็นการเสื่อมต่อเนื่องของสังขาร ซึ่งนำไปสู่การดับสลายในที่สุด .

 

 

5.2.2
ขันธ์-
5 กับ ภพ ชาติ ชรามรณะ เป็นธรรมที่อาศัยกันแล้วเกิด

 

(1) ธรรมชาติของ ขันธ์-5

 

กลไกชีวะ–ชีวิต หรือ ขันธ์-5 คือระบบชีวิตของสัตว์ทุกผู้ ทั้งหมดทั้งมวล ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และที่จะมีขึ้นในอนาคต. เมื่อกล่าวถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงประกอบไปด้วยข้อธรรมมากมาย ที่ทับซ้อนอยู่ในแต่ละขันธ์. เช่น รูปขันธ์ มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่ อวิชชา อุปาทายรูป รูปธาตุ รูปธรรม รูปฌาน รูปพรหม รูปภพ รูปราคะ รูปสัญญา รูปสัญเจตนา และรวมไปถึง อรูป ในอีกหลายรูปแบบ. รูป ยังรวมถึง ลักษณะของธาตุทุกชนิด ที่มีคุณสมบัติต่างๆ ในทางฟิสิกส์อีกด้วย. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีนัยยะแบบเดียวกัน. ไม่ว่าข้อธรรมใดๆ ที่ตถาคต แสดงขึ้นมา ล้วนแตกย่อยออกมาจากขันธ์- 5 ทั้งสิ้น, จะไม่มีธรรมะข้อใดเลย ที่ปราศจากขันธ์-5.

 

การจำแนก ขันธ์-5 ออกเป็น 3 สภาวะ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า วิญญาณ เป็นอยู่อย่างไร มีความพิเศษแตกต่างจาก ขันธ์ข้ออื่นอย่างไร. สภาวะ 3 ของขันธ์ คือ นานาภาวะ ได้แก่ภาวะของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร (เฉพาะ 4 ขันธ์ ), สรรพภาวะ คือรวมทั้งหมด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ครบทั้ง 5 ขันธ์ ), เอกภาวะ หมายถึง วิญญาณ (วิญญาณขันธ์) ตัวเดียว.

 

ธรรมชาติอย่างหนึ่งของวิญญาณ คือ การผูกติดกับอารมณ์ (สญฺโญค) เช่น (1) จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ (กลุ่มของวิญญาณ) (2) จักข๎วายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ มนายตนะ (กลุ่มของสฬายตนะ) (3) จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส (กลุ่มของผัสสะ) (4) จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา (กลุ่มของเวทนา).

 

ขณะที่ วิญญาณสร้างข้อมูล, จะมีผู้ที่เฝ้ามอง ข้อมูล นั้นอยู่ (ผู้สังเกต) คือ สัตตา กับ วิมุตติญาณทัสสนะ. สองสิ่งนี้ รับรู้สิ่งที่เห็นนั้น ในความเป็นธาตุ เพื่อให้เกิดการจับต้องได้ (ทำนาม ให้เป็นรูป), นั่นคือ จะมองขันธ์ทั้งห้า ในความเป็นธาตุไปด้วย (รูปธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ วิญญาณธาตุ).

แต่ผู้สังเกตทั้งสอง มีเป้าหมายต่างกัน, สัตตา ต้องการครอบครองธาตุเหล่านั้น แต่ วิมุตติญาณทัสสนะ ต้องการจับแยกธาตุเหล่านั้นออกจากกัน.

 

การจับแยกธาตุเหล่านี้ ต้องใช้พลังปัญญาขั้นสูง (ปัญญาวิมุตติ). จึงมีเพียง วิมุตติญาณทัสสนะ เท่านั้น ที่รู้ว่า วิญญาณธาตุ ดับไปแล้ว. ไม่มี วิญญาณขันธ์ ไม่ปรากฏ วิญญาณฐิติ ไม่มีวิญญาณาหาร ที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป หรือ ภพ ชาติ อีกต่อไป.

 

ดังนั้น ผู้ที่รู้จักธาตุแท้ของวิญญาณได้ที่สุด ก็คือ วิมุตติญาณทัสสนะ นั่นเอง. คือรู้ว่า

วิญญาณธาตุ  เป็นตัวตนของวิญญาณโดยแท้,

วิญญาณขันธ์  จะปรากฎตัวก็ต่อเมื่อ มันเข้าไปตั้งอาศัยอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร,

วิญญาณาหาร  เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป,

วิญญาณฐิติ  คือ ภพ ภูมิอันเป็นที่ตั้งของวิญญาณ.

 

ธรรมชาติด้านกายภาพ ของ รูปขันธ์ คือ ย่อมสลาย (รุปฺปติ) เพราะอุณหภูมิเย็น-ร้อน เพราะความหิว-กระหาย เพราะการสัมผัสเสียดสี จากลม แดด ตลอดจนแมลง สัตว์ต่างๆ.

ธรรมชาติของ เวทนาขันธ์  คือ ความรู้สึกได้ (เวทยติ) ซึ่งสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเป็นการรับรู้เหตุการณ์ปัจจุบัน.

ธรรมชาติของ สัญญาขันธ์  คือ ความหมายรู้ (สญฺชานาติ) ในสีต่างๆ (และอื่นๆ ว่าสิ่งนั้น สิ่งนี้) รวมทั้งการระลึกเหตุการณ์อดีตได้.

ธรรมชาติของ สังขารขันธ์  คือ การปรุงแต่ง (อภิสงฺขโรนฺติ) ปรุงแต่งรูปให้เป็นรูป ปรุงแต่งเวทนา ให้เป็นเวทนา ปรุงแต่งสัญญา ให้เป็นสัญญา ปรุงแต่งสังขาร ให้เป็น สังขาร และ ปรุงแต่งวิญญาณ ให้เป็นวิญญาณ. สังขารขันธ์ ก็คือเหตุการณ์ในอนาคต ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง จากพฤติการณ์การปรุงแต่งของ รูป เวทนา สัญญา นั่นเอง.

ธรรมชาติของ วิญญาณขันธ์  คือ การรู้แจ้ง (วิชานาติ) ในรสชาติต่างๆ (และอื่นๆ ว่าสิ่งนั้น สิ่งนี้). [10]

 


[10] 
“ ย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง ย่อมไม่ถือเอา ซึ่ง ... ขันธ์ 5 พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 8. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้าที่ 100. | บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/105/158.

 

ขันธ์-5 จะดำรงอยู่ต่อไปได้ ต้องมีอาหารบริโภค. อาหารของขันธ์- 5 ได้แก่ อาหาร 4 อย่าง (บาลี - มู. ม. 12/85/110.) คือ กพฬีการาหาร อาหารที่กินได้ทางปาก หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ใช้เลี้ยงกายของรูปขันธ์. ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ. ขันธ์ทั้งห้า จะปรากฎตัวตนก็ต่อเมื่อมี ผัสสะ, เหมือนแสง (วิญญาณ) ‘กระทบ' ฉาก (รูป เวทนา สัญญา สังขาร) ถ้ามีแสง และมีฉาก แต่ไม่กระทบกัน ทุกอย่างก็มืดสนิท. มโนสัญเจตนาหาร อาหารที่เป็นเจตนาทางใจ (เจตนา มนสิการ). วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ ในขันธ์ทั้งห้า ถ้าปราศจากวิญญาณ ขันธ์ที่เหลือก็จะไร้ประโยชน์ กลายเป็นวัตถุธาตุและจิตธาตุที่โดดเดี่ยว รอการเสื่อมสลายตามกาลเวลา.

 

เมื่อขันธ์-5 ได้อาหารหล่อเลี้ยง จึงเป็นเหตุให้ภพ ชาติ เกิดขึ้น, ในขณะเดียวกัน การตั้งอยู่ของภพ และ ชาติ ย่อมต้องอาศัยขันธ์ทั้งห้าเช่นกัน ดุจเหรียญหนึ่ง ย่อมมีสองด้านเสมอ.

 

ปุถุชน ‘ยึด' กาย ขันธ์ รูป วัตถุ เป็น นาย ของตัวเอง.


อริยชน (โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี) ‘ใช้' กาย ขันธ์ รูป วัตถุ เป็น สะพาน ข้ามวัฏฏสงสาร.


เสขะบุคคล (พระอรหันต์) ‘เลี้ยง' กาย ขันธ์ รูป วัตถุ
เป็น เครื่องมือ สร้างกุศล.

 

 

(2) การจัดการกับ ระบบขันธ์-5 ที่ขวางกั้น นิพพาน

 

การเกิดขึ้นของ ภพ ชาติ ทางร่างกาย เป็นผลมาจากอดีต ที่สัตว์นั้นได้กระทำไว้ ส่วน ภพ ชาติ ทางจิต เป็นผลมาจากการกระทำ (กรรม) ทั้งอดีตและปัจจุบัน แล้วสะสมเป็น “เหตุการณ์” ในอนาคต ซึ่งเรียกว่า วิบาก หรือ ผลแห่งกรรม. เนื่องจาก การมีอยู่ของ ขันธ์-5 มีความต่อเนื่องกันทั้ง 3 กาล (อดีต ปัจจุบัน อนาคต). ถ้าสัตว์ผู้นั้น ยังไม่ตัดรอบการเกิด ย่อมพาวงจรชีวิต ดำเนินต่อไป บนสายพานของสังสารวัฏ อิทัปปจยตา ปฏิจจสมุปบาท. ปัญหาใหญ่ สำหรับการจัดการ ขันธ์-5 คือ สัตว์ทุกผู้ ย่อมต้องอาศัย ขันธ์-5 ในการดำเนินชีวิต. ถ้าเช่นนั้น ขันธ์-5 ก็เป็นอุปสรรคในการบรรลุธรรม เช่นนั้นหรือ? อันเนื่องมาจาก ขันธ์-5 เป็นทั้งตัวต้นเหตุ และเป็นผลสืบเนื่อง ของ ภพ ชาติ .

ประเด็นนี้ มีความสำคัญยิ่ง สำหรับผู้ศึกษาแนวทางพุทธศาสน์. ผู้ศึกษา จำเป็นจะต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่า ในระบบของ ขันธ์-5 ประกอบด้วยอะไรบ้าง เพื่อจะได้แยกส่วนได้ถูกต้องว่า ส่วนใดของระบบ ที่ต้องจัดการ และส่วนใดที่ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว.

 

ระบบ ขันธ์-5 มี 3 องค์ประกอบ คือ

(1) อุปกรณ์รับข้อมูล (อายตนะภายใน – internal sense-fields) มี 6 ช่องทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ใจ. ทั้งหกช่องทางนี้ ย่อมต้องอาศัย รูปขันธ์ ในการตั้งอยู่อาศัย

(2) วัตถุที่เป็นข้อมูลนำเข้า (อายตนะภายนอก) มี 6 ชนิด และสอดคล้อง (เข้าคู่กัน) กับ อุปกรณ์รับข้อมูล คือ รูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัส อารมณ์ วัตถุทั้งหกชนิดนี้ ย่อมต้องอาศัย สัญญาขันธ์ ในการตั้งอยู่อาศัย

(3) ตัวขับเคลื่อน คือ “วิญญาณ” วิญญาณ ย่อมต้องกาศัย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ ในการปรุงแต่ง สร้างข้อมูล หรือปรุงแต่งตัวมันเองให้เป็น จิต ในรูปแบบต่างๆ. [ ดู กระบวนการ จิต มโน วิญญาณ ประกอบด้วย ]  

 

องค์ประกอบทั้ง 3 นี้ จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้. ในองค์ประกอบทั้ง 3 จะมีเชื้อเพลิง หรืออาหาร คอยหล่อเลี้ยงระบบ ขันธ์-5 ให้ดำเนินต่อไป ได้แก่ ฉันทะ (ความพอใจ) นันทิ (ความเพลิน) ราคะ ( ความกำหนัด) ตัณหา (ความอยาก ). ฉันทะ นันทิ ราคะ ตัณหา มีคุณสมบัติร่วมอย่างหนึ่ง คือ “รสอร่อย” (อัสสาทะ) ในขณะเดียวกัน มันก็ให้โทษภัย (อาทีนวะ) ซ่อนแฝงอยู่.

 

การเกิดขึ้นของภพ ชาติ เริ่ม ณ จุดนี้, จุดที่สัตว์ (สัตตา) เข้าไปยึดครอง ขันธ์-5 ทั้งระบบ แล้วใช้ ขันธ์-5 เป็นเครื่องมือสร้าง กรรม ที่เป็นทั้งกุศล (ดี) และอกุศล (เลว). รสอร่อย ที่สัตว์ได้รับจากเชื้อเพลิงหรืออาหาร (ฉันทะ นันทิ ราคะ ตัณหา) จะทำให้สัตว์นั้น หลงยึด ขันธ์-5 ต่อไปจนกระทั่ง ขันธ์-5 ชุดนั้นหมดสภาพ (ตาย) แล้วก็ไปแสวงหา ขันธ์-5 ชุดใหม่ต่อไป.

การเปลี่ยนชุดของ ขันธ์-5 แต่ละรอบ ก็คือการสร้างภพ สร้างชาติให้แก่สัตว์ผู้นั้น ไม่รู้จบสิ้น. การติดในรสอร่อยของ ฉันทะ นันทิ ราคะ ตัณหา นี่เอง ทำให้สัตว์มองไม่เห็น วิธีตัดรอบการเกิดภพ ชาติ อันเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของ ความทุกข์. สัตว์บางผู้ เมื่อประสบความทุกข์ ก็มองหาวิถีทางที่จะไปให้พ้นๆ, สัตว์บางผู้ ก็เลือกวิถีทาง ตอบสนองความต้องการในรสอร่อย (กามสุขัลลิกานุโยค) สัตว์บางผู้ก็เลือกวิถีทางทรมานร่างกาย ขันธ์-5 ของตน (อัตตกิลมถานุโยค) เพราะต้องการให้จิต เกิดการเข็ดหลาบในการยึดครองขันธ์. ซึ่งทั้งสองวิถีทางนั้น ไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์ได้เลย. แต่มีสัตว์บางผู้ พบวิถีทางที่ถูกต้อง เพราะได้ฟังธรรม อันเป็น สัมมาอริยมรรค (วิถีทางสายกลาง) ได้แก่ อริยสัจสี่ และเข้าถึงทางหลุดพ้น ด้วยหลัก อิทัปปัจจยตา – ปฏิจจสมุปบาท – อริยสัจสี่.

 

สัตว์ผู้เข้าถึงทางหลุดพ้นข้างต้น ย่อมมองเห็นโทษภัย ของการตึดยึด ขันธ์-5. จึงเร่งฝึกฝนจิตของตนเอง รักษาศีล ทำสมาธิ และวิปัสสนา ให้รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งการเกิด (สมุทัย) การดับ (อัตถังคมะ) รสอร่อย (อัสสาทะ) โทษอันต่ำทราม (อาทีนวะ) และเห็นอุบาย อันเป็นเครื่องนำพาออกไปให้พ้น จากการสิงสถิตของ วิญญาณ (วิญญาณฐิติ) จากการยึดมั่นยินดีใน ขันธ์-5. ในที่สุดสัตว์ผู้นั้นก็รู้เท่ากัน ธาตุแท้ของวิญญาณ, สามารถจับแยกวิญญาณออกจาก รูปธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ ที่สัตว์นั้นยึดครองอยู่, เป็นการยุติบทบาทของวิญญาณ, ปล่อยให้มันเกิด-ดับ หรือส่องไฟ ไปตามประสาของมัน. โดยที่ สัตว์นั้นจะไม่หลงไปยึดครอง แสดงความเป็นเจ้าของขันธ์ธาตุ ที่ตนสิงสถิตอยู่. เมื่อถึงขั้นนี้ สัตว์นั้นก็จะเลื่อนฐานะไปเป็น ผู้บริสุทธ์ เรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนะธาตุ เป็นอันจบกิจของการสร้างภพ สร้างชาติ ไว้เพียงเท่านี้.

 

“ ... ครั้นจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ได้ ถึงความไม่หวั่นไหวเช่นนี้แล้ว ก็น้อมจิตไปเฉพาะต่อ อาสวักขยญาณ. เธอ ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่านี้ทุกข์, นี้เหตุให้เกิดทุกข์, นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. และย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ, นี้เหตุให้เกิดอาสวะ, นี้ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ, นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ, เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจากกามาสวะ, ภวาสวะ, และอวิชชาสวะ. ครั้นจิตหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณว่า หลุดพ้นแล้ว. เธอย่อมรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก'. ดังนี้.”  (ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์. หน้า 245. [ซอฟต์แวร์: E-Tipitaka v3.0.6)

 

(3) ธาตุขันธ์ ที่สะอาดปราศจาก การปนเปื้อนของฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา.

 

วิญญาณขันธ์ เป็นผู้มีบทบาทมากที่สุด ในการจัดการอีก 4 ขันธ์ ที่เหลือ “ ... ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณซึ่งเข้าถือเอา รูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้, เป็นวิญญาณที่มี รูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร เป็นอารมณ์, มี รูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร เป็นที่ตั้งอาศัย, มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้ ...”  (บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/66/105.)

กล่าวได้ว่า วิญญาณขันธ์ ปฏิบัติการเชิงรุก ส่วนอีก 4 ขันธ์ ปฏิบัติการเชิงรับ ส่วนผู้เก็บเกี่ยวผล ที่เกิดจากปฏิบัติการเชิงรุก เชิงรับ คือ สัตตา.

 

 


 

เมื่อวาง ของหนัก จะพบ ความเบา
เมื่อวาง ความเบา จะพบ ความว่าง
เมื่อวาง ความว่าง จะพบ ‘สิ่งสิ่งหนึ่ง'
,

ซึ่ง สิ่งสิ่งนั้น มีอยู่, คือ เป็นสิ่งซึ่งในนั้น ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีลม, ไม่มีความยาว ความสั้น ความเล็ก ความใหญ่ (ไม่มีวัตถุมิติ), ความงาม ความไม่งาม (ไม่มีอารมณ์มิติ), ไม่มีนามรูป ไม่มีวิญญาณ, ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ.


ไม่มีการมา ไม่มีการไป ไม่มีการหยุด ไม่มีการจุติ (ตาย) ไม่มีการเกิด (อชาตัง - น อุปปาโท ปัญญายติ) ไม่มีการเสื่อม (น วโย ปัญญายติ) ไม่มีการตั้งอยู่ (น ฐิตตัสสะ อัญญถัตตัง ปัญญายติ) ไม่ได้เป็นไป (อภูตัง) ไม่ได้ถูกอะไรทำ (อกตัง) ไม่ได้ถูกอะไรปรุงแต่ง (อสังขตัง) ไม่ใช่อารมณ์. และ

สิ่งสิ่งนั้น ไม่ใช่ของเรา (เนตัง มะมะ) ไม่ใช่เป็นเรา (เนโสหมัสมิ) ไม่ใช่ตัวตนของเรา (น เมโส อัตตา).

 

 

ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา เป็นธรรมฝ่ายอกุศล เป็นเครื่องนำไปสู่ภพ “ ... ฉันทะ (ความพอใจ ) ก็ดี, ราคะ (ความกําหนัด) ก็ดี, นันทิ (ความเพลิน) ก็ดี, ตัณหา (ความทะยานอยาก) ก็ดี, อุปายะ (กิเลสเป็นเหตุเข้าไปสู่ภพ) และ อุปาทาน (ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส) อันเป็นเครื่องตั้งทับ เครื่องเข้าไปอาศัย และเครื่องนอนเนื่องแห่งจิตก็ดี ใดๆ ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ. กิเลสเหล่านี้ นี่เราเรียกว่า ‘ เครื่องนำไปสู่ภพ ' ...” (บาลี – ขนฺธ. สํ. 17/233/368.43.)

 

แต่ถ้าวิญญาณ ถูกถอดออกจาก ระบบการจัดการ ขันธ์-5 จะทำให้ รูปธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ และ สังขารธาตุ กลายเป็นของเก่าเก็บในพิพิธภัณฑ์ หรือไม่ก็ เป็นสัตว์ที่ถูกสต๊าฟไว้ หรือไม่ก็ เป็นหุ่นยนต์แม่บ้าน (แทนที่จะเป็นหุ่นยนต์นักรบ). กล่าวคือ ธาตุขันธ์ทั้ง 4 (ที่สะอาด ไร้การปนเปื้อน ของฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา) จะถูกเปลี่ยนสถานะ จากที่เคยเป็นทาส เป็นเครื่องมือของวิญญาณ มาเป็นผู้รับใช้ วิมุตติญาณทัสสนะ แทน. ถึงตอนนี้ วิมุตติญาณทัสสนะขันธ์ จะปรากฎขึ้นมา จัดการขันธ์ธาตุทั้ง 4 เหมือนเป็นของเก่าเก็บในพิพิธภัณฑ์ หรือเป็นสัตว์สต๊าฟ หรือ เป็นหุ่นยนต์แม่บ้าน ที่คอยให้บริการแก่ ผู้ที่ครอบครองสิทธิ์ต่อจาก สัตตา (วิมมุติญาณทัสสะขันธ์). และหลังจากนั้น ขันธ์ธาตุทั้ง 4 ก็จะเสื่อมสลายไป ไม่สามารถนำกลับไปใช้ได้อีก ถือเป็นการจบภารกิจภพ ชาติ สุดท้ายของ ขันธ์-5 นั่นเอง.

 

นี้คือการอุปมาให้เห็น ภาวะของพระอรหันต์ ที่ได้บรรลุธรรมแล้วก่อนตาย ซึ่งยังต้องบริหารขันธ์ที่เหลืออยู่ต่อไป จนกว่าจะสิ้นอายุขัย หรือปรินิพพาน. และหลังปรินิพพานแล้ว (ตายทั้งจิต ตายทั้งร่างกาย) ทุกอย่างก็จบภพ สิ้นชาติเพียงเท่านี้.

 

คุณสมบัติและอาการ ของ ขันธ์-5, จากหลักการที่ว่า ‘เมื่อมี อาการ, จึงปรากฎ คุณสมบัติ'. การปรากฎของ วิมมุติญาณทัสสะธาตุ ในผู้ใด ก็คือการบรรลุธรรม หรือการหลุดพ้นของผู้นั้นแล้ว. เป็นการหลุดพ้นที่เกิดจาก การดับ ขันธ์-5 ส่วนที่เป็นจิตธาตุ, นี้เรียกว่า การดับหรือการทำลาย อาการ  มิใช่การดับหรือทำลาย คุณสมบัติ.

 

พระอรหันต์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท. ได้แก่ พระอรหันต์ ที่มีการดับกิเลสแล้ว คือ วิญญาณขันธ์ ดับไป แต่ได้ วิมุตติญาณทัสสนะขันธ์ มาแทน แต่ยังมี ขันธ์-5 เหลืออยู่ และเป็นขันธ์ธาตุที่สะอาด เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน (เสขะบุคคล). พระอรหันต์ที่มีการดับกิเลสไปด้วย และดับ ขันธ์-5 ไปด้วย เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน (อเสขะบุคคล) ได้แก่ พระสกทาคามี พระอนาคามี ที่เกิดในภพภูมิเทวดา มิใช่ภพภูมิมนุษย์. เพราะภพภูมิเทวดา ไม่ต้องอาศัย ร่างที่เป็น รูปขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ที่ถูกทำลายไป จะแปรสภาพไปเป็น วิมุตติญาณธาตุแทน.

การปรากฎของ วิมุตติญาณทัสสนะขันธ์ เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะการจับแยก ขันธ์-5 ออกจาก ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ต้องอาศัยอุตสาหะ และทวนกระแสอย่างอุกฤติ. ‘ช่องว่าง' (สุญญตา) ที่เกิดจากการจับแยก ขันธ์-5 ออกจาก ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา นั้น, เป็นผลมาจาก การปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง (สัมมาอริยมรรค).

ตถาคต กล่าวไว้หลายหมวด เช่น อินทรียสังวร ศีล สัมมาสมาธิ ยถาภูตญาณทัสสนะ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติญาณทัสสนะ. (บาลี - ฉกฺก. อํ. 22/402 /321.) ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ. (บาลี - สคาถ. สํ. 15/143/405.) และ สีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ (บาลี พระพุทธภาษิต - มหาวาร. สํ. 19/216/736.)

 

บทบาทในฐานะธาตุรู้ ของวิญญาณ จะรู้เฉพาะเหตุการณ์ ที่มันเข้าไปตั้งอาศัยอยู่เท่านั้น คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร. ถ้ามีการถอดวิญญาณ ออกจากระบบขันธ์-5 ก็คงไม่มีผู้รู้อีกต่อไป เพราะ “ผู้รู้” ตายแล้ว จะหาผู้สืบทอดต่อก็ไม่มี. นี่คือคำบัญชาสูงสุด ของศาสนาในระบบเทวนิยม ที่ต้องทำให้วิญญาณ เป็นสิ่งเที่ยงแท้ ไม่มีวันตาย. เพราะถ้าพระเจ้าตาย ทุกอย่างก็จบสิ้น . แต่ในระบบ อเทวนิยม กลับคิดไปไกลกว่านั้นว่า วิญญาณ ทำให้ตายได้, ผู้ที่รู้ว่าวิญญาณดับสนิท (ตาย) แล้ว รอบเกิดใหม่ของวิญญาณ ถูกกำจัดแล้ว ก็คือ วิมุตติญาณทัสสนะ นั่นเอง. นั่นเท่ากับว่า วิญญาณ เป็นผู้สร้าง ‘ความรู้สึก' แต่ วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นผู้สร้าง ‘ความจริง'.

 

“ ... ถ้าราคะในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว. เพราะละราคะได้ อารมณ์สำหรับวิญญาณก็ขาดลง ที่ตั้งของวิญญาณก็ไม่มี. วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้นก็ไม่งอกงาม หลุดพ้นไปเพราะไม่ถูกปรุงแต่ง.”  (บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/66/105.)

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

5.3
การหลุดพ้น การบรรลุธรรม

 

5.3.1
ลำดับการบรรลุธรรม

 

(1) เหตุที่ทำให้เกิดการหลุดพ้น เพราะ ‘ไม่เข้าไปหา'. [11]

 

“ผู้เข้าไปหา เป็นผู้ไม่หลุดพ้น ผู้ไม่เข้าไปหา เป็นผู้หลุดพ้น. ... วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอา ‘รูป' * ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้, เป็นวิญญาณ ที่มี ‘รูป' * เป็นอารมณ์, มี ‘รูป' * เป็นที่ตั้งอาศัย มี นันทิ เป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้. ... [*ประโยคนี้ คำว่า ‘รูป' จะถูกแทนที่ด้วย เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ]

ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจักบัญญัติ ซึ่งการมา การไป การจุติ การอุบัติ ความเจริญ ความงอกงาม และความไพบูลย์ของวิญญาณ โดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนา เว้นจากสัญญา และเว้นจากสังขาร' ดังนี้นั้น, นี่ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย. ... ถ้าราคะในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว ... อารมณ์สำหรับวิญญาณ ก็ขาดลง, ที่ตั้งของวิญญาณ ก็ไม่มี, วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ก็ไม่งอกงาม, หลุดพ้นไป เพราะไม่ถูกปรุงแต่ง, เพราะหลุดพ้นไป ก็ตั้งมั่น, เพราะตั้งมั่น ก็ยินดีในตนเอง, เพราะยินดีในตนเอง ก็ไม่หวั่นไหว, เมื่อไม่หวั่นไหว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน. ... ”

“ ... ความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าย่อมไม่มี. เมื่อความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าไม่มี, จิตย่อมจางคลายกำหนัดในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ. ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น. เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่. เพราะเป็นจิตที่ดำรงอยู่ จิตจึงยินดีร่าเริงด้วยดี. เพราะเป็นจิตที่ยินดีร่าเริงด้วยดี จิตจึงไม่หวาดสะดุ้ง. เมื่อไม่หวาดสะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตน นั่นเทียว. ... ”  (บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/57/93.)

 


[11]
 “ผู้ไม่เข้าไปหา ย่อมหลุดพ้น. ” พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 1.  [ซอฟต์แวร์ ].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 47-49. | บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/66/105.

 

ข้อนี้อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า “ผู้เข้าไปหา” หมายถึง “สัตตา” เข้าไปหาอะไร? เข้าไปหา วิญญาณ และอาการของวิญญาณ. “ผู้ไม่เข้าไปหา” หมายถึง “วิมุตติญาณทัสสนะ” เข้าไปหาอะไร? เข้าไปหา วิญญาณ และอาการของวิญญาณ. การมา การไป หมายถึง การปรากฎขึ้น และการดับไปของวิญญาณ และอาการของวิญญาณ. วิญญาณ ย่อมต้องอาศัย รูป เวทนา สัญญา สังขาร เพื่อแสดงอาการของมัน. อาการของวิญญาณ จะแสดงให้เห็นในคุณสมบัติ รูปธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ ที่สัตว์นั้น จับต้องได้.

 

(2) ลำดับการหลุดพ้นจาก นันทิ ราคะ เพราะเห็นความไม่เที่ยง (อนิจจตา).

 

“ภิกษุเห็น ‘จักษุ' * ซึ่งไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง, ทิฏฐิของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ. เมื่อเห็นอยู่ด้วยสัมมาทิฏฐิ ย่อมเบื่อหน่าย. เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิ ย่อมมีความสิ้นไปแห่งราคะ. เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ ย่อมมีความสิ้นไปแห่งนันทิ. เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิและราคะ ก็กล่าวได้ว่า จิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี ดังนี้.”  (บาลี - สฬา. สํ. 18/179/245-247.) [*ประโยคนี้ คำว่า ‘จักษุ' จะถูกแทนที่ด้วยชุดคำ อินทรีย์-6 คือ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ มนะ, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์]

 

(3) ลำดับการหลุดพ้นจาก ขันธ์- 5 เพราะเห็นความไม่มีตัวตน (อนัตตา).

 

“รูป* เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้น เป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้น เป็นอนัตตา, สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้น นั่นไม่ใช่ของเรา (เนตํ มม) นั่นไม่ใช่เป็นเรา (เนโสหมสฺมิ) นั่นไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา (น เมโส อตฺตา). เธอทั้งหลาย พึงเห็นข้อนั้น ด้วยปัญญาโดยชอบ ตรงตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ด้วยประการดังนี้.”  (บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/57/93., ขนฺธ. สํ. 17/64/104.) [*ประโยคนี้ คำว่า ‘รูป' จะถูกแทนที่ด้วย เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ]

 

(4) เป็นผู้หลุดพ้นจากปฏิจจสมุปบาท ในปัจจุบัน เพราะเห็นความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด.

 

“ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความเบื่อหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับไม่เหลือ แห่งชรา และ มรณะ* ด้วยความเป็นผู้ไม่ยึดมั่น ถือมั่น อยู่แล้วไซร้, ก็เป็นการสมควร เพื่อจะเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้บรรลุแล้วซึ่งนิพพานในทิฏฐธรรม' ดังนี้.” (บาลี - นิทาน. สํ. 16/22/46., สฬา. สํ. 18/179/245.) [*ประโยคนี้ คำว่า ‘ ชรา มรณะ ' จะถูกแทนที่ด้วย ปัจจัยการเกิด ปฏิจจ-สมุปบาท คือ ชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขาร และ อวิชชา ข้อความอื่นๆ จะเหมือนกันทุกประการ.]

 

วิธีทำจิตให้เกิดการเบื่อหน่าย คลายกำหนัด คือ

(1) เจริญ อสุภะ เพื่อละ ราคะ.

(2) เจริญ เมตตา เพื่อละ พยาบาท.

(3) เจริญ อานาปานสติ เพื่อตัดเสียซึ่ง วิตก.

(4) เจริญ อนิจจสัญญา เพื่อถอน อัส๎มิมานะ (ความถือตัวถือตนจัด).

ตถาคต กล่าวย้ำอีกว่า “เมื่อเจริญอนิจจสัญญา อนัตตสัญญา ย่อมมั่นคง. ผู้มีอนัตตสัญญา ย่อมถึงซึ่งการถอน อัส๎มิมานะ คือนิพพาน ในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) นั่นเทียว.”  (บาลี – อุ. ขุ. 25/126/88.)

 

เกณฑ์วัดความก้าวหน้า การเจริญในธรรม 4 ประการ (อสุภะ เมตตา อานาปานสติ อนิจจสัญญา) และเกณฑ์วัดความสำเร็จ การละเลิกอกุศลธรรมทุกข้อ คือ ‘ความเร็ว' ในการ ‘ตัด' รอยต่อการเกิดของ ธรรมฝ่ายอกุศล เช่น ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิด และ ‘ความเร็ว' ในการ ‘ต่อ' รอยแยกการเกิดของ ธรรมฝ่ายกุศล เช่น ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ, รวมทั้ง การทำจิตให้มีสมาธิในฌาน. ความเร็วในการตัด ความเร็วในการต่อ จะส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องของ ‘พลังบวก' อันนำไปสู่การบรรลุธรรมในที่สุด.

 

(5) เมื่อไม่มีมา ไม่มีไป ย่อมไม่มีเกิด และไม่มีดับ คือที่สุดแห่งทุกข์.

 

“ ... ความหวั่นไหว ย่อมมีแก่บุคคล ผู้อันตัณหาและทิฏฐิอาศัยแล้ว (นิสฺสิตสฺส จลิตํ). ความหวั่นไหว ย่อมไม่มีแก่บุคคล ผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว (อนิสฺสิตสฺส จลิตํ นตฺถิ). เมื่อความหวั่นไหวไม่มี, ปัสสัทธิ ย่อมมี (จลิเต อสติ ปสฺสทฺธิ). เมื่อ ปัสสัทธิ มี, นติ (ความน้อมไป) ย่อมไม่มี (ปสฺสทฺธิยา สติ นติ น โหติ). เมื่อ นติ ไม่มี, อาคติคติ (การมาและการไป) ย่อมไม่มี (นติยา อสติ อาคติคติ น โหติ). เมื่อ อาคติคติ ไม่มี, จุตูปปาตะ (การเคลื่อนและการเกิดขึ้น) ย่อมไม่มี (อาคติคติยา อสติ จุตูปปาโต น โหติ). เมื่อ จุตูปปาตะ ไม่มี, อะไรๆ ก็ไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง (จุตูปปาเต อสติ เนวิธ น หุรํ น อุภยมนฺตเร). นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ละ. (เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส)”  (บาลี - อุ. ขุ. 25/208/161.)

ข้อนี้อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า ตัณหา และ ทิฏฐิ คือการรวมกิเลสทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งถือว่า เป็นสาเหตุของความหวั่นไหวของ ผู้ยังไม่บรรลุธรรม. การบรรลุธรรมเกิดขึ้นได้ ตามหลักอิทัปปัจจยตา. เมื่อสิ่งนี้ (ตัณหาและทิฏฐิ) มี, สิ่งนี้ (ความหวั่นไหว) ย่อมมี. เมื่อสิ่งนี้ (ตัณหาและทิฏฐิ) ไม่มี สิ่งนี้ (ที่สุดแห่งทุกข์) จึงปรากฎขึ้น. คำว่า “ที่สุดแห่งทุกข์” เป็นอาการนามของ นิพพาน.

 

(6) ที่ตั้งของวิญญาณ (วิญญาณฐิติ) คือ สถานที่ หรือ ร่างอาศัยของ บรรดาสัตว์ทั้งหลาย

 

วิญญาณฐิติ มี 9 แห่ง/ลักษณะ คือ สัตว์ที่มีกายและมีสัญญาต่างกัน ได้แก่ มนุษย์โลก เทวดา และวินิบาตบางจำพวก. สัตว์ที่มีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่ เทวดาชั้นพรมกายิกา (ผู้ทำสมาธิได้ ฌาน 1). สัตว์ที่มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน ได้แก่ เทวดาชั้นอาภัสระ. สัตว์ที่มีทั้งกายและสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่ เทวดาชั้นสุภะกิณหะ. สัตว์ที่เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ เพราะการดับรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตสัญญา. สัตว์ที่เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ . สัตว์ที่เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ. ผู้เข้าถึงอสัญญีสัตตายตนะ และผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ.

 

 

สถานที่ทั้งหมดนี้ เป็นที่ขังสัตว์ทั้งหลายไว้ในภพ ชาติ ตลอดสังสารวัฏ. แต่ตถาคต ได้บอกทางรอด ให้สัตว์เหล่านั้น ออกมาจากที่นั่นได้ ด้วย 5 วิธีต่อไปนี้ คือ รู้ชัดในการเกิด (สมุทัย) รู้ชัดในการดับ (อัตถังคมะ) รู้ชัดรสอร่อย (อัสสาทะ) รู้ชัดโทษต่ำทราม (อาทีนวะ) และ รู้ชัดในอุบายอันเป็นเครื่องนำออกไปให้พ้น (นิสสรณะ) จากวิญญาณฐิติ และอายตนะ ทั้ง 9 แห่ง/ลักษณะ. (บาลี - มหา. ที. 10/81/65.)

 

(7) เกณฑ์ที่ใช้วัดการบรรลุธรรม

 

เกณฑ์ที่ใช้วัดการบรรลุธรรม, สัตว์ผู้นั้นต้องรู้ด้วยตนเอง คือ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว, กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว, กิจอื่นที่จะต้องทำ เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก.” นี่คือ อุตตริมนุสสธรรม (ธรรมอันวิเศษยิ่งยวด ที่มนุษย์จะมีได้) ที่มีในตนของผู้ที่ได้บรรลุธรรม.

 

การบอกว่า ตนเองได้บรรลุธรรมอันเป็นคุณวิเศษ (อุตตริมนุสสธรรม) แก่ผู้อื่น ทำได้หรือไม่? ข้อนี้ ตถาคต อนุญาตให้ภิกษุบอกได้เฉพาะ ผู้มีธรรมเสมอกัน (อุปสัมบัน), จะเป็นนักบวชหรือไม่ก็ได้. ส่วนผู้ที่มีธรรมต่ำกว่า จะเป็นนักบวชหรือไม่ก็ตาม (อนุปสัมบัน) ห้ามกระทำ.

 

ถ้าฝืนกระทำลงไป ถือเป็นความผิด ขั้นปาจิตตีย์. แต่ถ้าภิกษุแกล้งบอกว่า ตนมีคุณวิเศษ (อุตตริมนุสสธรรม) ทั้งๆ ที่ไม่มี, ไม่ว่าผู้ได้รับการบอก จะเป็นผู้ใดก็ตาม หรือ ผู้ได้รับการบอก จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม, ภิกษุนั้น มีความผิดขั้น ปราชิก (ขับออกจากศาสนา). แต่ก็มีข้อยกเว้น

ถ้าภิกษุนั้น ‘หลงผิด' คิดว่าตนมีคุณวิเศษนั้น ก็ไม่ต้องรับผิด. ข้อสังเกต พฤติกรรม การอวดอุตตริมนุสสธรรมนี้, ตถาคต มีข้อห้ามข้อกำหนดเฉพาะภิกษุ ไม่ได้หมายความรวมถึงผู้ไม่ใช่นักบวช.

 

การบรรลุธรรม ในความหมายที่แท้จริง หมายถึง การหลุดพ้นจาก อาสวะทั้งหลาย (กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชา). สรุปก็คือ กิเลส อนุสัย อวิชชา ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา อุปาทาน และ สังโยชน์. การบรรลุธรรม หรือ อุตตริมนุสสธรรม เป็นความตั้งใจความปรารถนาของ ผู้ที่เป็นสัตว์ (สัตตา) นั้นเอง ที่ต้องการเช่นนั้น. อุปมาเหมือน บุรุษผู้หนึ่งเป็น ผู้แสวงหา ออกไปตามหาช้าง (นิพพาน), ลำดับแรก พบรอยเท้าก่อน (รู้ว่ามาถูกทางแล้ว), ลำดับต่อมา ได้ยินเสียงช้างอยู่ใกล้ๆ พบกิ่งไม้หัก ใบไม้ฉีกขาด อันเนื่องมาจากช้าง (คาดว่าจะต้องพบช้างแน่นอน), ในที่สุด ก็พบช้างและได้ลูบคลำช้าง บุรุษผู้นั้นเป็น ผู้พบ (วิมมุตติญาณทัสสนะ).

 

การบรรลุธรรม อาจแบ่งช่วงเวลา ไว้ 3 ลำดับ คือ

(1) ขั้นรู้สึก สัตว์ผู้แสวงหา ซึ่งอยู่ในฐานะ ผู้ถูกสังเกต คือ รับรู้ว่า วิญญาณ เข้าไปตั้งอยู่ในขันธ์แล้ว.

(2) ขั้นเห็น สัตว์ผู้แสวงหาผู้นั้น มองเห็น วิญญาณ กับ ขันธ์-5 ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน. ขั้นนี้ เกิดรอยต่อระหว่าง ผู้ถูกสังเกต และ ผู้สังเกต ทำให้มองเห็น การดับสลายของปฏิจจสมุปบาท และสังโยชน์ (สังโยชน์ คือ เครื่องร้อยรัดสัตว์ ให้เป็นสัตว์).

(3) ขั้นเป็น เป็นผู้ปฏิบัติสำเร็จแล้ว (ในฐานะ ผู้สังเกต) คือ สัตว์นั้น หลุดพ้นจากการยึดมั่น ขันธ์-5 ข้ามพ้นสังขตลักษณะ และอนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ว่านั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (เนตํ มม, เนโสหมสฺมิ, น เมโส อตฺตา). สัตว์นั้น ก็เปลี่ยนสถานะ จากผู้ถูกสังเกต หรือ สัตตา มาเป็น ผู้สังเกต หรือ วิมุตติญาณทัสสนะ, เพราะมองเห็นอสังขตาธาตุ ตามที่เป็นจริง. การหลุดพ้นและการบรรลุธรรม ทั้ง 3 ขั้นนี้ เกิดขึ้นได้เพราะสัตว์ผู้นั้น ฟังธรรมบ่อยๆ นั่นเอง.

 

 

ภาพที่ 5.04 แผนที่ วิมุตติ – นิพพาน ตามพุทธวจน เพื่อแสดงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และลำดับการหลุดพ้น.

 

 

•  พุทธวจน – คำสอนที่ทรงสั่งสอนบ่อยมาก

พระโคดมผู้เจริญ ! ทรงนำสาวกทั้งหลายไปอย่างไร? อนึ่ง อนุสาสนีของพระโคดมผู้เจริญ ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก มีส่วนแห่งการจำแนกอย่างไร?.

อัคคิเวสสนะ ! เราย่อมนำสาวกทั้งหลายไปอย่างนี้, อนึ่ง อนุสาสนีของเรา (พุทธวจน) ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก มีส่วนแห่งการจำแนกอย่างนี้ว่า:

‘ภิกษุทั้งหลาย ! รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง. ภิกษุทั้งหลาย ! รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน. สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน' ดังนี้.

ที่มา : พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 1. หน้า 43. | บาลี - มู. ม. 12/423/396.

 

 

5.3.2
สัตตา
– วิมุตติญาณทัสสนะ

 

การปรากฎของ วิมุตติญาณทัสสนะ เกิดขึ้นพร้อมกับ วิมุตติ. ผู้เห็นความจริงแท้ของวิมุตติ จะต้องแยกวิญญาณขันธ์ ออกมาจากที่ตั้งอาศัยของมัน (รูป เวทนา สัญญ สังขาร) จึงจะสามารถก้าวข้ามไปสู่ความเป็น “อมตะ” ซึ่งเรียกว่า นิพพาน นั้นได้. แต่ก็เป็นเรื่องยาก สำหรับมนุษย์ปกติ ที่จะกระทำเช่นนั้นได้ คล้ายกับ การแยกอวกาศ ออกจากเวลา.

 

สัตตา เปรียบเหมือน ผู้ถูกสังเกต โดย วิมุตติญาณทัสสนะ. วิญญาณ จะทำหน้าที่ส่องไฟ ไปยังสิ่งที่มันเข้าไปตั้งอาศัยอยู่ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร เพื่อสร้าง “ข้อมูล” ทิ้งไว้ให้สัตตา เอามาเป็นปรุงแต่งเป็นตัวตน ภพ ชาติ ใหม่สืบเนื่องต่อไป. และถ้า ภพ ชาติเก่า สลายไป สัตตา ก็จะไปเริ่มต้นกระบวนการต่อชีวิต ในรอบถัดไป โดยอาศัย วิญญาณ เป็นผู้นำทางคอยส่องหาร่างใหม่ให้.

ความสัมพันธ์ระหว่าง สัตตา กับ ขันธ์-5 อุปมาเหมือน การผสมกันของ อวกาศกับเวลา ทำให้เกิดมโนทัศน์สัมพัทธภาพ ในการมองเหตุการณ์ ระหว่าง สัตตา กับ วิมุตติญาณทัสสนะ. วิมุตติญาณทัสสนะ ในฐานะบุคคลภายนอกซึ่งเป็น ผู้สังเกต ย่อมมีมุมมองที่แตกต่างกัน. การแยก ‘ความรู้สึก' ออกจาก ‘ความจริง' ในมุมมองของ วิญญาณ กับ วิมุตติญาณทัสสนะ สามารถอธิบายด้วย มโนทัศน์สัมพัทธภาพ ของ ‘ผู้สังเกต' กับ ‘ผู้ถูกสังเกต'. โดยให้ผู้สังเกต เป็นผู้อยู่ใน ‘เหตุการณ์' (event) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ หรือเป็นสิ่งหนึ่งในเหตุการณ์นั้นก็ได้.

 

ตารางที่ 5.02 เปรียบเทียบ มโนทัศน์การปล่อยวางของ สัตตา กับ วิมุตติญานทัสสนะ

สิ่งที่ถูกสังเกต
(วิญญาณ)
ผู้สังเกต
สัตว์ (สัตตา) – ผู้ยึดครอง วิมุตติญานทัสสนะ – ผู้ปล่อยวาง  

สุนัข ถูกลากไปบนถนน []
สุนัข = วิญญาณ

ถ้าสุนัขตายแล้ว ไม่รู้สึกเจ็บปวด
ถ้ายังไม่ตาย รู้สึกเจ็บปวด

สุนัข ไม่ใช่ของเรา สุนัข ไม่ใช่เป็นเรา สุนัข ไม่ใช่ตัวตน ของเรา

เมล็ดพืช บนผืนดิน []
เมล็ดพืช = วิญญาณ
ผืนดิน = ขันธ์-5

มีผืนดิน (ภพ) มีความชื้น (นันทิ-ราคะ) เมล็ดพืชงอก (ชาติ)

ไม่มีผืนดิน (ภพ) ไม่มีความชื้น (ละนันทิ-ราคะ) เมล็ดพืชงอกไม่ได้ พืชนั้นเฉาตาย

แสง กับ ฉาก []
แสง = จิต มโน วิญญาณ
ฉาก = ขันธ์-5

แสงกระทบฉาก
แสงปรากฎ เพราะมีฉาก
ฉากปรากฎ เพราะมีแสง

แสงกระทบฉาก เป็น “ปรากฎการณ์หนึ่ง”

เหรียญ []

เหรียญ ย่อมมีสองด้าน ติดกัน ไม่สามารถ แยกออกจากกันได้

เหรียญสองด้าน (วิญญาณ กับ ขันธ์-5) สามารถ แยกจากกันได้

[วิญญาณ สัตตา และ วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นธัมมะธาตุที่แยกจากกัน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน]

 

กรณีที่หนึ่ง อุปมาว่า มีเหตุการณ์หนึ่ง, สุนัขได้รับบาดเจ็บสาหัส [ก] (สุนัข ในที่นี้คือ ผู้ถูกสังเกต = วิญญาณ) ถูกลากไป โดยที่ ตัวเรา (ตัวเราในที่นี้คือ ผู้สังเกต = วิมุตติญาณทัสสนะ) ไม่ได้รู้สึกเจ็บปวด ไปพร้อมกับสุนัข ที่กำลังถูกลากไป. แต่ผู้ถูกสังเกต (สุนัข, วิญญาณ, สัตตา) กลับรู้สึกเจ็บปวด ขณะถูกลากไป. ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ผู้ถูกสังเกต ได้เข้าไปยึดครองสุนัขนั้นแล้ว (สุนัข สัตตา วิญญาณ คือสิ่งเดียวกัน). เมื่อวิญญาณ ถูกยึดครองโดย สัตตา, วิญญาณ จึงกลายเป็นส่วนผสมของ ขันธ์-5 กับสัตตา (เมื่อสุนัขที่ได้รับบาดเจ็บ ถูกลากไป สัตตา จึงรู้สึกเจ็บปวดไปตามทางที่ถูกลากไป). จุดเปลี่ยนระหว่าง สัตตา ไปเป็น วิมุตติญาณทัสสนะ คือประเด็นสำคัญที่ต้องเรียนรู้ เพื่อให้ก้าวพ้นวัฏจักรการเกิดตายไปได้.

 

กรณีที่สอง อุปมาว่า เมล็ดพืชบนผืนนา [ข] ในฐานะผู้ยึดครอง (สัตตา) ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมยินดีในผืนนา และการงอกของเมล็ดพืช. แต่ในฐานะผู้ปล่อยวาง (วิมุตติญาณทัสสนะ) กลับมองเห็นความจริงว่า เมล็ดพืชงอกเพราะมีเหตุปัจจัย จึงต้องทำลายเหตุปัจจัย ที่จะทำให้พืชงอกนั้นเสีย.

 

กรณีที่สาม อุปมาว่า แสงกับฉาก [ค] สัตตา ย่อมยินดีพอใจ ที่ทั้งแสงและฉากปรากฎ เพื่อจะได้เข้ายึดครองได้ตามปรารถนา แต่วิมุตติญาณทัสสะ กลับไม่สนใจในการผสมกันของ วิญญาณกับขันธ์ทั้ง 4.

 

กรณีที่สี่ สัตตารับรู้ว่า เหรียญมีสองด้านเสมอ [ง]. นั่นเป็นเพราะว่า การเป็นผู้ยึดครอง ย่อมจะมองไม่เห็น การแยกส่วน ดุจเดียวกับ ผู้ชนะย่อมไม่มีแพ้ (ถ้าแพ้ จะเรียกว่าชนะได้อย่างไร). แต่ละด้านของเหรียญ ไม่สามารถทำให้ปรากฎพร้อมกันได้ แต่วิมุตติญาณทัสสนะ สามารถแยกแยะได้ว่า ด้านใดคือการปรากฎของวิญญาณ ด้านใดคือการปรากฎของ รูป เวทนา สัญญา หรือสังขาร.

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

ข้อสรุป และข้อโต้แย้งบางประการ เกี่ยวกับฟิสิกส์แห่งจิตวิญญาณ

 

(1) จิตธาตุ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

 

จิต (psychic) หรือ จิตธาตุ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

 

กลุ่มนามรูป หรือ รูปของจิต (body of mind) เช่น ธาตุ-18, ผัสสะ-6, เวทนา 6, สัญญา-6, วิญญาณ-6.

กลุ่มที่ใช้เป็นเครื่องมือ ที่จะนำไป ใช้ตัดรอบ สายการเกิด ปฏิจจสมุปบาท เช่น อินทรีย์-22, อิทธิบาท-4, ปธาน-4, พรหมวิหาร-4 และ

กลุ่มที่แสดงลักษณะอาการ ได้แก่ (ก.) แสดงลักษณะอาการที่เป็นโทษ เช่น นิวรณ์-5, สังโยชน์-10, กิเลส-16 (ข.) แสดงลักษณะอาการที่เป็นคุณ เช่น ปรมัตถธรรม-4, สติปัฎฐาน-4, สัมมัปธาน-4, อินทรีย์-5, พละ-5, โพชฌงค์-7.

 

หลักเกณฑ์ที่ใช้วัด คุณภาพของจิต คือ สมาธิ หรือ ฌาน. มีเพียงมนุษย์ และเทวดา เท่านั้น ที่จะสร้างสมาธิจิต ให้แก่ตัวเองได้. สมาธิจิต มี 9 ระดับ (ฌาน 4 + อายตนะ 5) คือ ปฐมฌาน (ฌาน 1), ทุติยฌาน (ฌาน 2), ตติยฌาน (ฌาน 3), จตุตถฌาน (ฌาน 4), อากาสานัญจายตนะ, วิญญา-ณัญจายตนะ, อากิจจัญญายตนะ, เนวสัญญานาสัญญายตนะ (อสัญญีสัตตายตนะ) และ สัญญาเวทยิตนิโรธ. ลักษณะของจิตที่ไม่มีคุณภาพ คือ จิตที่ถูกครอบงำด้วย นิวรณ์ 5 (กามฉันทะ พยายาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา) และ อาสวะกิเลสทั้งหลาย (อาสวะ = กาม + ภพ + อวิชชา).

 

(2) วิญญาณ สร้างข้อมูล ไว้ในเหตุการณ์

 

 

วิญญาณ มีคุณสมบัติพื้นฐาน 3 ประการ คือ (1) ผูกติดอารมณ์ (อารมณ์สร้างวิญญาณ วิญญาณสร้างอารมณ์) (2) เปลี่ยนแปลงเร็ว เหมือนคุณสมบัติคลื่นของโฟตอน และ (3) เกิด-ดับ ตลอดเวลา เหมือนคลื่นแสงที่ถูกปล่อยออกไปเป็นห้วงๆ. วิญญาณแต่ละดวง ผลิต ข้อมูล อย่างต่อเนื่อง แบบเดียวกับการพัวพันกัน ของอนุภาคสองตัว ที่มีการเชื่อมต่อของจุด 2 จุด คือ เมื่อดวงหนึ่งดับไป ( = สปินซ้าย) อีกดวงหนึ่งเกิดขึ้น ( = สปินขวา) โดยไม่จำเป็นว่า ต้องเป็นแบบที่เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน (locality) หรือ ไม่ต้องเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน (quantum nonlocality). แม้กระทั่งการพัวพันกันนั้น อาจอยู่ในแบบย้อนเวลา หรือในทันที (เกิด – ดับ ในทันที) ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น. ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ข้อมูล ในช่องว่างอันน้อยนิด ระหว่างเกิด – ดับ ของวิญญญาณนั้น ก่อให้เกิดเหตุการณ์ หรือ กรรม สืบเนื่องเป็นแรงปรุงแต่งของจิต ให้เป็นตัวตนขึ้นมา เช่น นันทิ ราคะ ฉันทะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน.

 

วิญญาณ ดำรงอยู่ในสนาม (field) ของกาลอวกาศ (spacetime) การดับไปของวิญญาณ ได้ทิ้ง เหตุการณ์ (event) ไว้เบื้องหลัง. ‘เหตุการณ์' ในที่นี้ ก็คือ ‘อารมณ์' ซึ่งเป็นส่วนผสมของ เวทนา สัญญา สังขาร. ร่องรอยของเหตุการณ์เหล่านี้ สามารถจัดเข้าชุดกันได้เป็น 6 ชุด คือ.

 

– จักขุ (จักข๎วายตนะ-จักขุสัมผัส-จักขุสัมผัสสชาเวทนา)
– โสตะ (โสตายตนะ-โสตสัมผัส-โสตสัมผัสสชาเวทนา)
– ฆานะ (ฆานายตนะ-ฆานสัมผัส-ฆานสัมผัสสชาเวทนา)
– ชิวหา (ชิวหายตนะ-ชิวหาสัมผัส-ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา)
– กายะ (กายายตนะ-กายสัมผัส-กายสัมผัสสชาเวทนา)
– มโน (มนายตนะ-มโนสัมผัส-มโนสัมผัสสชาเวทนา).

 

 

 

 

พฤติการณ์ของวิญญาณแต่ละดวง ทำหน้าที่ส่องไปที่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร ซึ่งเปรียบเหมือนฉาก ก่อให้เกิด ข้อมูล ที่จะใช้เป็นเชื้อก่อเกิดชีวิต จากนั้นก็ดับสลายไปในทันที เหมือนการยิงกระสุนไฟ ไปที่ฉาก. กระสุนไฟ ก็คือ มโน, ตถาคต เปรียบพฤติการณ์ของวิญญาณ เหมือนลิงเกาะและปล่อยกิ่งไม้. กระสุนไฟที่ยิงออกไปปะทะ (ผัสสะ) เป้า ถูกกระทำให้เกิดขึ้น ต่อเนื่องตลอดเวลา. พฤติการณ์แบบนี้ เหมือนการปล่อยคลื่นของแสงออกมา คราวละหนึ่งควอนตัม ติดต่อกันด้วยความเร็ว จนดูเหมือนลำแสงนั้น สว่างตลอดเวลา. วิญญาณไม่ใช่สิ่งมีชีวิต มันจึงไม่รู้เรื่องอะไร. ข้อมูล ที่วิญญาณ ทิ้งไว้ในเหตุการณ์ มันก็ไม่สนใจเช่นกัน.

 

(3) กระบวนการ จิต มโน วิญญาณ เลียนแบบระเบียบวิธีสื่อสาร (protocol) ของอนุภาค.

 

จากผลการทดลอง สภาวะพัวพันกันของอนุภาค ซึ่งทำการทดลองกันหลายครั้ง, พิสูจน์ว่า อนุภาคที่มีการพัวกันนั้น จะส่งผลต่อกันในทันที แม้ว่าอนุภาคนั้นจะอยู่ห่างไกลกันก็ตาม. ระเบียบวิธีการสื่อสารที่เป็นพื้นฐานที่สุด ที่ใช้สื่อสารกัน ระหว่างอนุภาคกับอนุภาค คือ การส่งข้อมูลสปินของอนุภาค. ถ้าอนุภาคหนึ่ง มีสถานะสปินขวา อีกอนุภาคหนึ่ง ก็จะมีการสปินซ้ายในทันที ด้วย วิธีการพัวพันกัน (entangled).

 

 

ภาพ - First image of Quantum Entanglement. การพัวกันเชิงควอนตัม สถานะควอนตัมของแต่ละอนุภาค ไม่สามารถอธิบายได้ว่า จะเป็นไปโดยอิสระ จากอนุภาคอื่นๆ แม้ว่าอนุภาคเหล่านั้น จะถูกแยกออกในระยะห่างกันมากๆ.

 

ในการส่งข้อมูลสปิน อย่างน้อยด้วยอัตราความเร็ว ที่เร็วกว่าแสง หรือ การส่งข้อมูลสปินนั้น เกิดขึ้นแล้วก่อนหน้านั้น ราวกับว่า ถ้าอนุภาคหนึ่งจะสปินขวา อนุภาคอีกอันหนึ่งเตรียมสปินซ้าย ก่อนที่อนุภาคทั้งสอง จะเกิดการพัวพันกันเสียอีก. นั่นหมายความว่า อนุภาคสามารถเดินทางข้ามเวลาได้.

การยกพฤติการณ์ การสปินของอนุภาค สองตัวขึ้นไปนั้น เป็นระเบียบวิธีการสื่อสารแรกสุดในเอกภพ และมันเป็นภาษาดิจิตัล ที่เป็นพื้นฐานที่สุด ในเอกภพเช่นกัน. ในขณะที่อนุภาคหนึ่งมีสถานะสปินขวา ก็เหมือนการส่งข้อมูล บิต 0 ออกไป และอีกอนุภาคหนึ่งก็จะรับช่วงต่อ แสดงบิต 1 ออกไป รวมเป็นข้อมูล 1 บิต. ในห้วงเอกภพ มีอนุภาคเป็นจำนวนอนันต์ ย่อมมีการส่งข้อมูลเป็นจำนวน อนันต์บิต เช่นกัน. การพัวพันกันของอนุภาค ก่อให้เกิดรูปแบบการก่อตัวของอตอม เป็นธาตุชนิดต่างๆ มากมาย. นั่นคือระเบียบวิธีสื่อสาร ทางด้านฟิสิกส์.

 

เนื่องจาก อวิชชา มีคุณสมบัติทวิภาค วัตถุธาตุ – จิตธาตุ. อวิชชาส่วนที่เป็นวัตถุธาตุ “มันไม่รู้เรื่องอะไร” อาจมีพฤติการณ์แบบเดียวกับ การส่งข้อมูลกันของอนุภาค. อวิชชาส่วนที่เป็นจิตธาตุ เป็นเพียงการแสดงสัญญะ ของความไม่รู้ (นิวรณ์ 5 และ ทุจริต 3). ความไม่รู้นั้น จะถูกส่งต่อไป เพื่อปรุงแต่ง เป็นนามรูปของจิต ชนิดต่างๆ เช่น ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา อุปาทาน.

 

สรุปว่า ข้อมูลที่วิญญาณ ผลิตขึ้นมานั้น พัฒนามาจาก อวิชชา สังขาร. ระเบียบวิธีการสื่อสาร หรือ protocal ที่วิญญาณนำไปใช้ ก็มีลักษณะเดียวกันกับ การพัวพันกันของอนุภาค นั่นเอง.

 

 

 

 

(4) อวิชชา คืออะไรกันแน่ จิต หรือ วัตถุ รู้กันให้ลึกซึ้งกว่านี้ได้อีกหรือไม่?

 

โดยธรรมชาติการเกิดของ อวิชชา และ สังขาร, ธัมมะธาตุทั้งสองอย่างนี้ มีคุณสมบัติคู่ คือเป็นทั้ง วัตถุธาตุ และเป็น จิตธาตุ. ในความเป็นวัตถุธาตุ, คำถามก็คือว่า อวิชชา เกิดมาตั้งแต่เมื่อใด. ถ้าเราเชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ว่า เอกภพ และ เวลา เกิดจากบิ๊กแบง. จากนั้น สสารและพลังงาน ที่อัดแน่นมาพร้อมกับ เอกภพแรกเกิด ก็เกิดการวิวัฒน์ ไปเป็นธาตุต่างๆ.

 

ตถาคต กล่าวไว้ ในอริยสัจจากพระโอษฐ์ 1 หน้า 333. ว่า “ที่สุดในเบื้องต้นของอวิชชา ย่อมไม่ปรากฎ. แต่ก่อนนี้ อวิชชา มิได้มี. อวิชชา เพิ่งมีในภายหลัง.”  เราก็อาจได้ข้อสรุปเป็นเบื้องต้นไว้ก่อนว่า อวิชชา เฉพาะในส่วนที่เป็นวัตถุธาตุ ก็น่าจะเกิดพร้อมกับ การเกิดบิ๊กแบงเช่นกัน. คำว่า ‘วิวัฒน์' ก็คือ การปรุงแต่ง (สังขาร) ของธาตุต่างๆ นั่นเอง.

 

พระองค์กล่าวต่อมาว่า “อวิชชา เป็นธรรมที่มีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่., เป็นคำที่ใครๆ ก็ควรกล่าวว่า ‘อวิชชา ย่อมปรากฎ เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้ เป็นปัจจัย' (อิทปฺปจฺจยา อวิชฺชา)  อวิชชา ในตอนหลังนี้ ก็คือ อวิชชา ที่มีคุณสมบัติเป็นจิตธาตุ เช่นเดียวกับ สังขาร ก็ปรากฎส่วนที่เป็นจิตธาตุตามมา. และ การปรุงแต่งอวิชชา (ส่วนจิตธาตุ) ย่อมต้องการธรรมอื่น มาเป็นอาหาร เพื่อให้ อวิชชา ปรากฎขึ้น. ธรรมนั้นคือ นิวรณ์ 5, นิวรณ์ 5 เป็นอาหารของ อวิชชา, ทุจริต 3 เป็นอาหารของ นิวรณ์, การไม่สำรวมอินทรีย์ เป็นอาหารของ ทุจริต 3, หากจะสืบสาวสาเหตุต่ออีก ก็จะวนกลับไปที่เดิม คือ อวิชชา.

 

อวิชชา กับ นิวรณ์ มีความสัมพันธ์กันลึกซึ้ง. เพราะนิวรณ์ เป็นอาหารของอวิชชา จึงเป็นเหตุให้ นิวรณ์ มีคุณสมบัติ 2 ด้าน ด้วยเช่นกัน คือ จิตธาตุ และ วัตถุธาตุ (คุณสมบัติของ นิวรณ์ แปรไปตามคุณสมบัติของ อวิชชา) ดังนี้.

 

ตารางที่ 5.03 สมบัติการเป็นธาตุของนิวรณ์

นิวรณ์ 5

คุณสมบัติ ด้านจิตธาตุ

คุณสมบัติ ด้านวัตถุธาตุ

กามฉันทะ

รัก ชอบ พอใจ
(ดึงดูดเข้าสู่ ศูนย์กลาง)

การรักษา มิติรูปทรง ของสสาร วัตถุ และ การเกิดขึ้น ของ แรงโน้มถ่วง

พยาบาท

โกรธ เกลียด
(ผลักออกจาก ศูนย์กลาง)

การสะสม พลังงานความร้อน และ พลังงานนิวเคลียร์ ไว้ใน นิวเคลียส (แรงนิวเคลียร์ อย่างเข้ม ) ซึ่งทำให้ ระเบิดออกได้ (ปฏิกิริยาฟิวชั่น)

ถีนมิทธะ

ง่วง เหงา เศร้า ซึม หลบหลีก ไม่ตอบสนอง

สถานะความเป็นกลาง ของ นิวตรอน และ รวมถึง คุณสมบัติอ่อนแรง ของ นิวตริโน

อุทธัจจ-
กุกกุจจะ

ฟุ้งซ่าน ไม่มีขอบเขต
ตอบสนอง ไม่จำกัด

การเสื่อม และ เสื่อมต่อเนื่อง ของวัตถุ อันเกิด จากแรงสลายอะตอม (แรงนิวเคลียร์ อย่างอ่อน ) และ การพลุ่งพล่าน ของ อนุภาค ที่ได้รับความร้อน.

วิจิกิจฉา

ลังเล สงสัย โง่ หาข้อสรุปไม่ได้

นิวเคลียสของ อะตอม จะดึงดูด อิเล็กตรอนไว้ เพื่อมิให้ถูกเหวี่ยง ออกไป (แรงหนีศูนย์กลาง = แรงโน้มถ่วงสู่ ศูนย์กลาง)

หมายเหตุ ทุจริต 3 (ทางกาย วาจา ใจ) เป็นอาหารของ นิวรณ์, ทุจริต 3 ก็ไม่จำเป็นต้องมี คุณสมบัติด้านวัตถุธาตุไปด้วย เพราะมีคุณสมบัติ อยู่ในลำดับต่ำกว่า นิวรณ์.

 

ที่จริง อวิชชา ไม่ได้แปลว่า ไม่รู้ หรือ โง่ เสียทีเดียว. อวิชชา ที่เป็นวัตถุธาตุ เริ่มจาก อนุภาค พื้นฐาน (ควาร์ก อิเล็กตรอน นิวตรอน โปรตอน) รวมตัวกันเป็น อะตอม เมื่อ 379,000 ปี หลังบิ๊กแบง ตอนนั้น เอกภพเปลี่ยนจาก พลาสมาทึบแสง กลายเป็นโปร่งใส, หลายอะตอม ถูกปรุงแต่งให้เป็น ธาตุต่างๆ, ธาตุที่หลากหลาย ก็ถูกปรุงแต่งเป็น สสาร วัตถุ. 150 ล้านปี หลังบิ๊กแบง ดาวฤกษ์ดวงแรกถือกำเนิดขึ้น. กระบวนการปรุงแต่ง กลไกชีวะ–ฟิสิกส์ เหล่านี้ ล้วนมีสาเหตุมาจาก อวิชชาทั้งสิ้น.

อวิชชา รู้ได้อย่างไรว่า มันควรจะปรุงแต่งอะไรกับอะไร เพื่อให้เป็นอะไร. หมายความว่า ในสถานะวัตถุธาตุ ที่แวดล้อมด้วย แรงพื้นฐานทั้งสี่ กับกฎการอนุรักษ์พลังงาน เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ อวิชชา ปรุงแต่งสิ่งต่างๆ ขึ้นมา โดยที่มันไม่รู้เรื่องอะไร เช่นนั้นหรือ? ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ อวิชชา จะปรุงแต่งอะไรกับอะไร เพื่อให้เป็นอะไร ก็เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้เช่นกัน.

 

บนโลก เรามีสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดได้ ในอุณหภูมิสูงถึง 125 องศาเซลเซียส, บางชนิดก็อยู่รอดได้ ที่อุณหภูมิต่ำถึง -80 องศาเซลเซียส, บางชนิดอยู่ใต้ทะเลลึก ที่มีแรงดันสูงกว่าที่พื้นผิวโลกถึง 100 เท่า, บางชนิดอยู่ได้ดีในกรดหรือเบส ซึ่งจะทำลายผิวหนังมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว. ชีวิตทรหดเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์ เรียกว่า เอ็กซ์ตรีโมไฟล์ (extremophiles). นักวิทยาศาสตร์ พบว่า ฟอสฟอรัส เป็นธาตุองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการมีชีวิต.

แกนของสายพันธุกรรม (DNA และ RNA) เยื่อหุ้มเซลล์ และ สารเก็บพลังงานในเซลล์ ล้วนแต่มีฟอสฟอรัส เป็นองค์ประกอบหลัก. ฟอสฟอรัส ที่สิ่งมีชีวิตบนโลกนำไปใช้ จะต้องอยู่ในสถานะชีวเคมี ที่เซลล์จะนำไปใช้ได้ คือ ต้องอยู่ในรูปของสารประกอบ ที่ละลายน้ำได้ เช่น ฟอสเฟต กรดฟอสฟอริก.

นอกจากนี้ การปรุงแต่งของเซลล์ ให้เกิดโครงสร้างของร่างกายที่อาศัยได้ ยังต้องประกอบด้วยธาตุอื่นๆ เช่น คาร์บอน น้ำ ออกซิเจน.

 

ปรากฎการณ์ การปรุงแต่งวัตถุธาตุเหล่านี้ ให้กลายเป็นองค์ประกอบชีวิต ล้วนเกิดจาก อวิชชา สังขาร ทั้งสิ้น. อวิชชา รู้ได้อย่างไรว่า ธาตุฟอสฟอรัส คาร์บอน น้ำ ออกซิเจน จะกลายเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ในการปรุงแต่งร่างกาย อันเป็นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิต. ไม่มีผู้ใดให้คำตอบนี้ได้ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ แต่ก็พอมีทางออก ด้วยการยกข้อสงสัยนี้ให้กับ พระเจ้าสร้างโลก หรือ ตอบว่า “ไม่รู้” ซึ่งตรงกับ ชื่อ อวิชชา ก็ยังฟังดูไม่น่าเกลียด.

 

คุณสมบัติการเป็นจิตธาตุของ อวิชชา เริ่มเมื่อพลังงาน ถูกปรุงแต่งผสมรวมไปกับธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก่อเกิด กลไกชีวะ–ชีวิต จุลินทรีย์ แบคทีเรีย รา พืช และองค์ประกอบของ ระบบชีวิตแบบ ขันธ์-5, สัตว์ต่างๆ ก็อุบัติตามมา. คุณสมบัติ ‘ความไม่รู้' ของอวิชชา อยู่ตรงจุดใดกันแน่? ดังที่กล่าวไปแล้วว่า อวิชชา ไม่ได้แปลว่า ไม่รู้ หรือ โง่ เสียทีเดียว.

ประเด็นความไม่รู้ของอวิชชา อยู่ที่คุณสมบัติการเป็นจิตธาตุ ในขันธ์-5 ซึ่งถูกร้อยรัดด้วยตัวของมันเอง. เพราะเหตุที่ อวิชชา เป็นที่รวมของกิเลส และอาสวะ ทุกชนิด เช่น นิวรณ์ สังโยชน์ ทุจริต ตัณหา มานะ อัตตา, ทำให้สัตว์ มนุษย์ เทวดา ไม่รู้ความจริงว่า ต้นเหตุของการเกิด แก่ ตาย มาจากอะไร.

ตถาคต มุ่งหมายในความไม่รู้ของอวิชชา เฉพาะประเด็นการไม่รู้แจ้ง ไม่รู้ชัดใน อริยสัจ-4 และ ปฏิจจสมุปบาท เท่านั้น ไม่ได้รวมถึง การไม่รู้ว่า วัตถุธาตุต่าง (ดิน น้ำ ไฟ ลม) ถูกปรุงแต่ง เป็นมาอย่างไร. โปรดสังเกตว่า พระอริยบุคคล ที่จะได้หลุดพ้น เข้าถึงวิมุตติ–นิพพาน โดยสมบูรณ์นั้น จะละวางอวิชชา ไว้เป็นตัวสุดท้าย (สักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา ศีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ) ซึ่งก็คือ 1 ใน 10 ของสังโยชน์ หรือเครื่องร้อยรัด. เมื่อผู้นั้นละอวิชชาได้หมดสิ้น สิ่งที่เรียกว่า วิชชา ก็เข้ามาแทนที่ ก็ถือว่า อวิชชา (ส่วนจิตธาตุ) ได้ถูกกำจัดหมดสิ้นแล้ว ส่วนอวิชชาที่เป็นวัตถุธาตุ ก็ปล่อยให้มันอยู่อย่างนั้นไป จนกว่าจะสิ้นอายุขัย.

 

(5) การพิจารณาธัมมะธาตุ และการสร้างสมาธิจิต เพื่อการบรรลุธรรม

 

การพิจารณาธัมมะธาตุ สำหรับการบรรลุธรรม, บุคคลพึงพิจารณา ธรรม 3 ข้อนี้ เป็นเบื้องต้นก่อน แล้วจะมองเห็น ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ กับข้อธรรมที่หลากหลายเหล่านั้น, ธรรม 3 ข้อ คือ

 

(1) พิจารณาธรรมในความเป็น ธาตุ เช่น ขันธ์- 5 อินทรีย์ 6

(2) พิจารณาธรรมคือ อายตนะ (จุดเชื่อมต่อของการรับรู้) เช่น ตา-รูป หู-เสียง จมูก-กลิ่น ลิ้น-รส กาย-สัมผัส ใจ-อารมณ์

(3) พิจารณาธรรม เป็นธรรมชาติอันอาศัยกันแล้วเกิด คือ ปฏิจจสมุปบาท.

 

ธรรม 3 ข้อนั้น จะเป็นพื้นฐานการสร้างสมาธิจิต ที่ใช้การได้สำหรับ การบรรลุ หรือการหลุดพ้น เข้าถึงนิพพานได้. สำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าถึงนิพพาน ด้วยวิธี สมถวิปัสสนา ต้องทำจิตให้ได้ สมาธิฌาน ระดับใดระดับหนึ่ง ใน 1-9 ระดับ หรือ ทั้งหมด. “ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง เพราะอาศัยทุติยฌานบ้าง เพราะอาศัยตติยฌานบ้าง เพราะอาศัยจตุตถฌานบ้าง เพราะอาศัย อากาสานัญจายตนะบ้าง เพราะอาศัยวิญญาณัญจาตยนะบ้าง เพราะอาศัยอากิญจัญญายตนะบ้าง เพราะอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง เพราะอาศัยสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง. ...”  (บาลี - นวก. อํ. 23/348/240.) [ผู้ศึกษาพึงสังเกตว่า ตั้งแต่ ฌาน 1 - 4 ผู้ปฏิบัติสมาธิระดับฌาน ยังมีขันธ์ครบทั้ง 5 ขันธ์, แต่ในระดับ อากาสานัญจายตนะ ถึง อากิญจัญญายตนะนั้น มีขันธ์เพียงสี่ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ]

 

(6) เส้นแบ่งระหว่าง ชีวิตกับความตาย จากข้อพิสูจน์ที่เป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ สู่การบรรลุธรรม ของพระอริยบุคคล “ หลังทำกาละ ” (ตาย).

 

เหตุการณ์หลังการตาย เป็นเรื่องของอนาคตของมนุษย์ทุกคน และเป็นสิ่งมหัศจรรย์ สำหรับนักวิทยาศาสตร์. แท้จริงแล้ว ชีวิตกับความตายมีอะไรเป็นเส้นแบ่ง. สารสื่อประสาท กลายเป็นระเบิดพลุ่งพล่านในสมอง. [12] ในปี ค.ศ. 2015 นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ศึกษาสมองและหัวใจ ของหนู ในเวลาที่ขาดออกซิเจน. พวกเขาค้นพบว่า สมองตอบสนองต่อสถานการณ์คับขัน ด้วยการปล่อยสารสื่อประสาท ในปริมาณมากออกมาหลายชนิด เช่น โดปามีน และ นอร์อะดรีนาลิน โดยมีการปล่อยอย่างมีแบบแผน. สารสื่อประสาทเหล่านี้ ทำให้ประสบการณ์เฉียดตายนั้น รู้สึกรื่นรมย์ เป็นสุข เห็นรายละเอียดต่างๆ ชัดเจน และเกิดภาพหลอนที่สวยงาม. ยิ่งกว่านั้น สารสื่อประสาท ยังบังคับให้หัวใจหยุดเต้น หลังออกซิเจนขาดแคลนไม่กี่นาที.

 


[12]  SCIENCE ILLUSTRATED. ฉบับที่ 64. October 2016, หน้า 59-63.

 

ผลการศึกษาห้วงนาทีหลังการตาย พบว่า

 

ในเวลา 1 นาที เกิดความสนใจพลุ่งพล่าน บังเกิดจิตแจ่มชัดขึ้น เพราะระดับ นอร์อะดรีนาลินจากสมองกลีบหน้า เพิ่มขึ้น 30 เท่า. อารมณ์รู้สึกเกิดการรวมศูนย์ ก่อตัวขึ้น ระดับของสารสื่อประสาท โดปามีนในสมองกลีบหน้า และศูนย์การมองเห็น เพิ่มขึ้น 7 เท่า. จังหวะการเต้นของหัวใจต่ำลง ในขณะที่ระดับของ สารสื่อประสาทกาบา (GABA) ในสมองกลีบหน้า และศูนย์การมองเห็น เพิ่มขึ้น 20 เท่า.

 

เข้าสู่นาทีที่ 2 เกิดภาพหลอน จิตถูกกระตุ้น โดยสารสื่อประสาท ซีโรโทนิน ระดับซีโรโทนิน ในศูนย์การมองเห็น เพิ่มขึ้น 2 เท่า ซีโรโทนินและกาบา บังคับให้หัวใจหยุดเต้น.

 

เข้าสู่นาทีที่ 4 ไม่มีกิจกรรมของสมองแล้ว หัวใจก็จะหยุดเต้นไปด้วย แต่ระดับของสารสื่อประสาทเพิ่มสูงสุด จากปกติ 40 ถึง 400 เท่า. นั่นคือข้อพิสูจน์ว่า ประสบการณ์ใกล้ตาย หรือประสบการณ์เฉียดตายนั้น เกิดขึ้นจากประสาทสัมผัสที่เข้มข้น และทรงพลัง. มนุษย์รับรู้ความตายได้เข้มข้น ในเวลาระหว่าง “เส้นแบ่ง” ของประสบการณ์เฉียดตายนั้น แจ่มชัดและรุนแรงมากกว่า ความจำทั่วไป. เพื่อจะเรียนรู้ปรากฏการณ์นี้, สตีเวน ลอร์เรย์ส แพทย์จากมหาวิทยาลัยลีช ในเบลเยี่ยม ได้สัมภาษณ์ผู้ป่วย 21 ราย ที่เคยตายทางการแพทย์มาแล้ว ด้วยเรื่อง ความทรงจำขณะตายของพวกเขา.

 

ผู้ป่วยเล่าถึงประสบการณ์เฉียดตาย ที่ตนเคยผ่านมาแล้วว่า เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และภาพที่แจ่มชัด. ประสการณ์เฉียดตายนั้น มีพลัง และเข้มข้นกว่าความทรงจำปกติ. ในการศึกษาครั้งนี้ สตีเวน ลอร์เรย์ส ได้แสงดให้เห็นว่า ผู้ป่วยเหล่านั้น ไม่ได้จินตนาการขึ้นมาเอง เพราะพวกเขาไม่ได้เห็นว่า ความทรงจำเก่าๆ นั้น เข้มข้นกว่าของคนอื่น . เขาสรุปว่า ประสบการณ์เฉียดตายนั้น เป็นเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยพบจริง แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง มันเป็นภาพหลอนที่เป็นจริงอย่างยิ่ง ไม่เหมือนภาพหลอนอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วย ไม่สามารถแยกแยะ จากประสบการณ์จริงได้เลย.

 

เหตุการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษานั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้ว กับมนุษย์ที่เป็นพระอริยบุคคล เมื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว บังเกิดการรวมศูนย์ของพลังทางจิต ปล่อยวางอาสวะกิเลสที่เคยติดยึดลงได้ อย่างน่าอัศจรรย์ เช่น กรณีบังเกิด แก่พระภิกษุโมลิยผัคคุนะ เมื่อฟังคำของตถาคตแล้ว หลังทำกาละ (ตาย) ผิวพรรณผ่องใส เพราะได้บรรลุธรรม โดยละสังโยชน์ได้สำเร็จ ในระหว่างเส้นแบ่งความเป็นความตาย.

 

(7) ร่างใหม่ในภพใหม่ของสัตว์

 

สัตว์จะได้ร่างใหม่ (อัตภาพใหม่) เมื่อหลังตาย (ในทันที). สัตว์ที่ได้อัตภาพที่สำเร็จด้วย กาย ได้แก่ มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน (สัตว์โลก ), สัตว์ที่ได้อัตภาพที่สำเร็จด้วย ใจ ได้แก่ เทวดาในระดับชั้นต่างๆ รวมทั้งเทวดาชั้นรูปพรหม, ผู้ที่ได้อัตภาพที่สำเร็จด้วย สัญญา ได้แก่ เทวดาชั้นอรูปพรหม ตั้งแต่ อากาสานัญจายนตะ ขึ้นไป. สรุปก็คือ มนุษย์ มีครบทั้ง 5 ขันธ์. เทวดา มี เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ แต่ไม่มี รูป. สัตว์นรก มี เวทนา อย่างเดียว ที่ถูกนำมาใช้งาน. สัตว์เดรัจฉาน มี รูป กับ เวทนา เท่านั้น ที่แสดงบทบาท ส่วน สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน. สิ่งที่สัตว์เดรัจฉาน ทำเสมือนว่าจดจำบางสิ่งบางอย่างได้นั้น เป็นเพราะ “เงื่อนไข” ที่มันจะได้รับ ถ้าทำสิ่งนั้นๆ.

 

(8) นรก สวรรค์ มีความร้อน ความเย็น แบบเดียวกับเทอร์โมไดนามิกส์ ได้หรือไม่?

 

ปกติในโลก 3 มิติ วัตถุสิ่งของ หรือ สัตว์สิ่งมีชีวิต จะมีร่างทึบ (solid) ซึ่งอาจจะทึบด้วยของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซก็ได้. ความเป็นก้อนทึบของ 3 มิติ จะมีมิติเวลา เป็นส่วนผสมอยู่ด้วยเสมอ. เหตุนี้จึงทำให้ บริเวณที่เป็นห้วงอวกาศ (field) มีปริมาณ มากกว่าส่วนที่เป็นก้อนทึบ เทียบสัดส่วนกันไม่ได้เลย. บริเวณที่มีความเย็น และบริเวณที่มีความร้อน ในห้วงอวกาศ มีความแตกต่างกันแบบสุดขั้ว. ความเย็น ทำให้อากาศอัดตัวแน่น ความร้อนทำให้อากาศเบาบาง.

 

นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ สามารถสร้างอุณหภูมิให้ร้อนที่สุด ได้มากกว่าการระเบิดของ ซุปเปอร์โนวา คือ สูงถึง 7.2 ล้านล้านองศาฟาเรนไฮต์ โดยเครื่องเร่งอนุภาคเฮดรอน LHC. ตามทฤษฎี อุณหภูมิที่ร้อนที่สุด ที่สามารถวัดได้ เท่ากับ 1.42 x 10 32 (ยกกำลัง 32) k = 1,420 ล้านล้านล้านล้านล้าน เควิน. หรือเขียนเป็นตัวเลขได้ 1,420,ต่อด้วยเลข 0 อีก 10 ตัว หน่วยเป็น เควิน ตามหลักอุณหภูมิของพลังค์ (Planck temperature) จะมีสถานที่ที่ร้อนที่สุดได้ไม่เกิน 100 ล้านล้านล้านล้าน องศาเซลเซียส หรือ 10 32 (ยกกำลัง 32) k (ถ้าร้อนกว่านี้ สสาร แรง พลังงาน จะยุบรวมกันเป็น สสารชนิดหนึ่ง ชื่อ ฮาดรอนิค (hadronic matter). และจุดที่เย็นที่สุด คือ อุณหภูมิของหมอกอะตอม ในห้องทดลองอะตอมเย็น (Cold Atom Laboratory: CAL) บนสถานีอวกาศนานาชาติ มีความเย็นกว่า 100 ล้านเท่า ของที่ว่างในอวกาศ หรือ เท่ากับ 0.000,000,000,1 องศา เหนือศูนย์สัมบูรณ์. (ที่ว่างในอวกาศ มีอุณหภูมิเท่ากับ -273.15 องศาเซลเซียส เรียกว่า ศูนย์สัมบูรณ์ หรือ 0 เคลวิน).

 

เราอาจอุปมาเปรียบเทียบ สวรรค์ (เทวดา) นรก กับสถานที่ในห้วงอวกาศ ที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน จะได้หรือไม่? สถานที่ (field) ในห้วงอวกาศที่ร้อนที่สุดนี้ คือ สถานที่ที่ตถาคตเรียกว่า นรก (นรก อาจถูกแบ่งชั้นด้วยขนาดความร้อน) และ สถานที่ที่เย็นที่สุด คือ สวรรค์ (สวรรค์ อาจถูกแบ่งชั้นด้วยขนาดความเย็น). ถ้าในบริเวณดังกล่าว ไม่ใช่นรกหรือสวรรค์ แล้วจะให้นรก สวรรค์ ไปอยู่แห่งใดในเอกภพ. ตามกฎเทอร์โมไดนามิกส์ และกลศาสตร์ควอนตัม จะบอกว่า อะตอมจะสั่น (สปิน) เคลื่อนที่ไปรอบๆ เมื่อมีความร้อน ยิ่งร้อนมากเท่าไร มันก็จะยิ่งสั่นและเคลื่อนเร็วเท่านั้น. ในทำนองเดียวกัน ยิ่งมีความเย็นมากเท่าไร มันก็ยิ่งเคลื่อนช้าลงเท่านั้น และจะหยุดนิ่งเมื่ออุณหภูมิเป็นศูนย์สัมบูรณ์ (ซึ่งยังไม่มีการค้นพบว่ามีสถานที่ใด ที่มีอุณหภูมิเท่ากับศูนย์สัมบูรณ์).

แต่เนื่องจาก สัตว์นรก และ เทวดา ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่ง ของร่างกายที่เป็นอะตอม การเคลื่อนที่ไปในที่ใดๆ ในมิติที่ 4 จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขใดๆ ของกฎเทอร์โมไดนามิกส์ และกลศาสตร์ควอนตัม. ทำให้เทวดา สามารถเหาะ (เคลื่อนไป) ไปด้วยจิตที่ไม่มีมวล และไปด้วยความเร็วมากกว่า ความเร็วแสง. ขณะที่บริเวณที่เหาะไปนั้น มีความเย็นอย่างยิ่งยวดแวดล้อมอยู่ และความเย็น ทำให้ภาวะจิตใจของเหล่าเทวดา สงบนิ่ง ยิ่งเย็นมากเท่าใด จิตก็จะสงบนิ่งมากเท่านั้น (เช่น จิตของเทวดาชั้นอรูปพรหม ตั้งแต่ อากาสานัญจายตนะ ขึ้นไป). และในทำนองกลับกัน ความร้อน ทำให้จิตของสัตว์นรก เร่าร้อน กระวนกระวายใจ ยิ่งร้อนมากเท่าใด จิตก็จะเร่าร้อนมากเท่านั้น (เช่น จิตของสัตว์นรกชั้น ปทุมนรก). สัตว์นรก จึงไม่มีโอกาสหรือห้วงเวลา ให้คิดเหาะออกไป จากสถานที่เร่าร้อนนั้นได้เลย. เปรียบเหมือนว่า จิตที่ไม่สงบ ถูกเผาด้วยความร้อน ย่อมไม่มีปัญญา ที่จะพาตนให้พ้นจากความทุกข์. ส่วนจิตที่สงบนิ่ง (ในแวดล้อมของความเย็น) ย่อมก่อเกิดปัญญา โลดแล่นไปไร้ขอบเขต.

 

เป็นไปได้หรือไม่ว่า สถานที่ (field) ที่เรียกว่า นรก สวรรค์ ก็คือโลก (sphere) ในมิติที่ 4 . โลกในมิติที่ 4 นี้ จะไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ สามารถทนทานต่อความเย็น หรือความร้อน ที่แตกต่างกันขนาดนี้ได้ เว้นแต่สัตว์นั้น ไม่ต้องมีร่างกายแบบมนุษย์. เหตุผลข้อนี้ อาจบ่งชี้ว่า สัตว์นั้นจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ สัตว์นรก หรือ เทวดา.

 

(9) ความแตกต่างระหว่าง แสง กับ จิต (วิญญาณ) เมื่อมองในภาวะทางควอนตัม

 

เมื่อ zoom in เข้าไปใกล้ๆ ของเส้นแสงในโฟตอน จะมองเห็น ภาวะทางควอนตัม ซึ่งลำแสงจะถูกแบ่งออกเป็นห้วงๆ (quanta) ที่มีช่องว่างระหว่างห้วงๆ นั้น แคบและสั้นมากๆ. ระยะแคบและสั้นมากๆ นี้ จะมีแรงโน้มถ่วงควอนตัม คอยยึดเหนี่ยวให้ลำแสง เคลื่อน (พุ่ง) ออกไปทุกทิศทาง ได้ตลอดเวลา. คุณสมบัติข้อนี้ เมื่อเทียบกับจิตแล้ว มีความใกล้เคียงกันมาก. เมื่อ zoom in เข้าไปใกล้ๆ ของจิต จะพบว่า จิตมีการเคลื่อน (เกิด-ดับ) ไปรอบๆ แกนเวลา (แกนแนวตั้ง) เท่านั้น ไม่เป็นไปตามแนวของระยะทาง (แกนแนวนอน). ซึ่งต่างจากแสง ที่เคลื่อนไปโดยอาศัยทั้งแกนเวลาและแกนระยะทาง. การเคลื่อนของจิต ไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นเหมือนลำแสง แต่เป็นกลุ่มก้อนของละอองของจิต แผ่กระจายไปทุกทิศทาง บนรอบแกนเวลา.

ละอองของจิต มักใช้คำลักษณะนามเรียกว่า ดวง และเรียกกลุ่มก้อนละอองเหล่านั้นว่า วิญญาณบ้าง มโนบ้าง จิตบ้าง. วิญญาณแต่ละดวง จะมีภาวะทางควอนตัม เกิดขึ้นภายในห้วงการเกิด-ดับ ของวิญญาณ ซึ่งมีะระยะของการเกิด-ดับ ที่ใกล้ชิดกันมากๆ. การเกิด-ดับของวิญญาณ ก่อให้เกิด แรงทางจิต คล้ายกับแรงโน้มถ่วงควอนตัม ที่เกิดกับลำแสง. แต่เนื่องจาก ห้วงการเกิด-ดับ ของวิญญาณ ไม่ได้อยู่บนเส้นแกนระยะทาง แต่อยู่บนแกนเวลา จึงทำให้คุณสมบัติของ แรงทางจิต ไม่ได้มีคุณสมบัติแบบฟิสิกส์ แต่มีความโน้มถ่วงของแรงที่พัวพันกับเวลา. ดังนั้น แรงทางจิต จึงยึดเหนี่ยว เจตนา ทิฏฐิ สมาธิ วิบาก ไว้กับเวลา ซึ่งส่งผลให้สัตว์ทั้งหลาย มีภพ ชาติ สืบต่อเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด.

 

(10) พฤติการณ์ของจิต กับ กฎของความเฉื่อย (inertial)

 

กฎกลศาสตร์ของนิวตัน ข้อ 1 (กฏของความเฉื่อย) กล่าวไว้ว่า “วัตถุที่หยุดนิ่ง จะพยายามหยุดนิ่งอยู่กับที่ ตราบที่ยังไม่มีแรงภายนอก มากระทำ. วัตถุที่เคลื่อนที่ จะเคลื่อนที่เป็นเส้นตรง ด้วยความเร็วคงที่ ตราบที่ยังไม่มีแรงภายนอก มากระทำ.”

 

จากกฏของความเฉื่อย นำมาอธิบายพฤติการของ จิตธาตุ ได้ว่า จิต หรือ วิญญาณ เป็นธัมมะธาตุหนึ่ง ที่ร่วมกับธัมมะธาตุอื่น (เวทนา สัญญา สังขาร) ในการสร้างความปั่นป่วน ให้เกิดขึ้นแก่สัตว์-บุคคล-ตัวตน ซึ่งอาศัย รูปธาตุ ‘โลก-ร่างกาย' ( ดิน น้ำ ไฟ ลม - physical) ในการดำรงอยู่ของชีวิต.

โลก-ร่างกาย จึงเป็นสิ่งที่ จิตยึดเกาะไว้ เพื่อแสดงพฤติการปั่นป่วน ให้แก่สัตว์-บุคคล-ตัวตน. ความปั่นป่วนของจิต เป็นไปได้ 3 ทิศทาง คือ กุศล อกุศล และ อุเบกขา.

วัตถุที่ถูกทำให้เคลื่อนที่บนโลก จะมีแรงเสียดทาน มากระทำเสมอ. แต่วัตถุที่ถูกทำให้เคลื่อนที่ ในอวกาศ จะไม่มีแรงเสียดทาน มากระทำ (หรือมีน้อยมาก จนวัดค่าไม่ได้) ส่งผลให้ วัตถุนั้น เคลื่อนที่ไปเช่นนั้น (continued) ในระยะทางอนันต์ (infinity).

แรงเสียดทาน ที่จะมาทำให้อาการปั่นป่วนของจิต สงบลง เช่น อานาปานสติ การละนันทิ การทำสมาธิ การได้ฌาน เป็นต้น. อาการปั่นป่วนของจิต ไม่ว่าจะในทิศทางใด (กุศล อกุศล อุเบกขา) หรือมีลักษะอาการอย่างใด (พอใจ พยาบาท หดหู่ ฟุ้งซ่าน สังสัย - นิวรณ์) รุนแรง เบาบางเท่าใด ก็จะแสดงออกทาง โลก-ร่างกาย และสามารถควบคุมจิตให้สงบได้ (สติ สัมปชัญญะ สมาธิ ฌาน) ถ้าสัตว์-บุคคล-ตัวตน นั้น ยังมี โลก-ร่างกาย อยู่. ถ้าจิต อยู่ในภาวะปั่นป่วน (นิวรณ์) หรือ อยู่ในภาวะสงบ (สติ สัมปชัญญะ สมาธิ ฌาน) ในระหว่างที่สัตว์-บุคคล-ตัวตน นั้น ไม่มี โลก-ร่างกาย อยู่ในเวลานั้น (ตาย) ก็จะมีลักษณะอาการแบบเดียวกับ วัตถุที่ถูกทำให้เคลื่อนที่ไป ในอวกาศ คือ ความปั่นป่วน หรือ ความสงบ ของจิต ก็จะทำให้ สัตว์-บุคคล-ตัวตน นั้น ได้รับผลเช่นนั้น ทันทีหลังการตาย และต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลาอนันต์.

ในภาวะไร้ โลก-ร่างกาย ความปั่นป่วนของจิต ย่อมสร้างแรงเฉื่อย ให้แก่ สัตว์-บุคคล-ตัวตน ไม่มีที่สุด. สัตว์-บุคคล-ตัวตน นั้น ก็จะได้เกิดในภพใหม่ คือ ถ้าจิตเป็นกุศล และสงบ ภพใหม่ก็คือ สวรรค์ ถ้าจิตเป็นอกุศล และปั่นป่วน (นิวรณ์ สังโยชน์) ภพใหม่ ก็คือ นรก. ภพใหม่ ที่เป็นมนุษย์ ไม่อาจเป็นไปได้ง่ายๆ เลย เพราะภาวะที่จะได้ โลก-ร่างกาย แบบมนุษย์นั้น ไม่สามารถหาแหล่ง หรือสถานที่ (earth) ได้โดยง่าย, แหล่งหรือสถานที่ในเอกภพ (ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กาแล็กซี่) กลับมีมากกว่า มากต่อมาก.

 

[อ่านต่อ] บทที่ 6 กฎมูลฐานของธรรมชาติ

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

บทนำ – สัตตะธัมมะธาตุ : องค์รวมชีวิต ภายใต้ทฤษฎีเดียวกัน

บทที่ 1 วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์ : นวัตกรรมทางปัญญา ของเผ่าพันธุ์มนุษย์

1.1 พันธกิจของ วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์
1.2 สิ่งที่พุทธศาสน์ ค้นพบ อาจเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ กำลังค้นหา
1.3 ความจริงที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ อาจถูกลบล้างได้ตลอดเวลา
แต่ความจริงที่พระตถาคตตรัสรู้ เป็นความจริงแท้ตลอดกาล

บทที่ 2 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : มวลสาร พลังงาน 

2.1 มวล – อนุภาค
2.2 แรง – คลื่น
2.3 อุณหภูมิ – พลังงาน

บทที่ 3 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : มิติ กาลอวกาศ

3.1 มิติ กาลอวกาศ – รูปทรง
3.2 วัฎจักร – อนันต์

บทที่ 4 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : จิตธาตุ

4.1 นามรูป – วิญญาณ – สังขาร
4.2 วิมุตติ – นิพพาน

บทที่ 5 ฟิสิกส์แห่งจิตวิญญาณ

5.1 กายภาพของจิตวิญญาณ
5.2 กระบวนการปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย
5.3 การหลุดพ้น การบรรลุธรรม

บทที่ 6 กฎมูลฐานของธรรมชาติ

6.1 ความจริงสัมบูรณ์ ของ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
6.2 กฎของเวลา
6.3 กฎแห่งนิรันดร์
6.4 กฎสมดุล
6.5 สัมพัทธภาพ (Relativity)
6.6 กฎการอนุรักษ์ (Conservation law)
6.7 มาตรวัด กรอบอ้างอิง

บทที่ 7 ปรากฏการณ์สัมบูรณ์ของสรรพสิ่ง

7.1 ปรากฏการณ์ร่วม วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์
7.2 สัมพัทธภาพของ วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์

บทสรุป – สัตตะธัมมะธาตุ : ทฤษฎีเดียว อธิบายทุกสรรพสิ่ง

ประมวลศัพท์และคำสำคัญ

บทความ (สรุปจากหนังสือทั้งเล่ม)

 

 

  thinking focus new idea today
คำคม คำคิด แง่คิด ชีวิตดี
igood media
หน้าแรก - ชุมชน คนคิดดีวรรณกรรม - วิชาการ - บทความ เรื่องสั้น ร้อยกรอง เพลงภาพยนตร์ - บทภาพยนตร์ ภาพยนตร์ตัวอย่าง วิดีโอ มิวสิควิดีโอ
นิเทศศาสตร์ - วิชาเรียน บรรยาย ตำรา เอกสารการเรียน สื่อการเรียน ถาม ตอบ
 


igood media copyright
 
SUDIN CHAOHINFA, igoodmedia.net : Administration and Producer
Copyright © 2010-2021 intelligence good media homeschool.
All rights reserved. me@igoodmedia.net