igood media
หน้าแรก - ชุมชน คนคิดดีวรรณกรรม - วิชาการ - บทความ เรื่องสั้น ร้อยกรอง เพลงภาพยนตร์ - บทภาพยนตร์ ภาพยนตร์ตัวอย่าง วิดีโอ มิวสิควิดีโอ
นิเทศศาสตร์ - วิชาเรียน บรรยาย ตำรา เอกสารการเรียน สื่อการเรียน ถาม ตอบ

Blog film school

My Media channel

blog

1 หน้าแรก
2
บทความ
หนังสือเล่ม
ร้อยกรอง เพลง
3
บทภาพยนตร์
ภาพยนตร์สั้น
วีดิโอ มิวสิควีดิโอ
4
วิชาเรียน นิเทศศาสตร์
ตำราเอกสาร
สื่อการเรียน
 

 

 

 

บทสรุป
สัตตะธัมมะธาตุ : ทฤษฎีเดียว อธิบายทุกสรรพสิ่ง

 

 

TOPIC

สัตตะธัมมะธาตุ เป็นส่วนผสมของ 'ศาสตร์' และ 'ศาสน์'

การรวมฟิสิกส์ในทฤษฎีเดียว

ชุมชนนักวิทยาศาสตร์ กับภารกิจในการค้นหา ความจริงด้านฟิสิกส์

ระเบียบวิธีวิทยาศาสตร์ มุ่งการพิสูจน์สมมุติฐาน เพื่อให้ได้ความรู้
ระเบียบวิธีพุทธศาสน์ คือการอุปมาสิ่งที่ถูกหยั่งรู้ เพื่อให้ได้ความจริง

มโนทัศน์แบบสัมพัทธภาพ ทะลุทะลวง ความรู้สู่ความจริง

มหัศจรรย์แห่งคำของตถาคต (พุทธวจน)

กงล้อธรรมจักร ยังคงหมุนต่อไป พร้อมกับการพัฒนาของ ปัญญาประดิษฐ์ (AI)

[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]

 

(ก)
สัตตะธัมมะธาตุ เป็นส่วนผสมของ
'ศาสตร์' และ 'ศาสน์'

 

การเกิดและการตาย ต่างก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์ทุกคนต้องพบ. โดยธรรมชาติ มนุษย์ มักยินดีกับการได้เกิด มากกว่าความตาย. ธรรมชาติ เกิดจากการปรุงแต่งขันธ์-5. แท้จริงแล้ว ขันธ์-5 ก็ไม่ใช่ตัวตน. เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ความแก่ ความตายมาเยือน พวกเขาก็ประสบกับความทุกข์ ความโศกเศร้านานาประการ. นี้คือ ธรรมชาติ ที่มนุษย์กลัวกันทุกคน.

ปัญหาความกลัวตาย (ไม่อยากตาย) กับ ความตาย (แต่ต้องตาย) เป็นปัญหาที่ปรากฎ อยู่บนด้านทั้งสอง ของเหรียญเดียวกัน, เพราะไม่รู้ว่า ความแก่ ความตาย (ซึ่งมาจากการเกิด) ซึ่งทุกคนหลบเลี่ยงไม่พ้นนั้น จะแก้ไขอย่างไร.

 

สรุปก็คือ มนุษย์ ไม่รู้วิธีแก้ปัญหาการตาย พอๆ กับไม่รู้วิธีแก้ปัญหาการเกิด.

 

ความไม่รู้ของทั้งสองข้อนี้ คือ ไม่รู้ต้นเหตุของการเกิด (สมุทัย), ไม่รู้วิธีการดับ (อัตถังคมะ) ว่า ตายอย่างไรที่จะไม่ต้องมาเกิดอีก. ความไม่รู้ เกิดจากการถูกครอบงำโดย 'รสอร่อย' (อัสสาทะ), จึงเป็นเหตุให้ ไม่รู้โทษของการถูกครอบงำ (อาทีนวะ), และ มองไม่เห็น วิธีที่จะพาตนเองออกไปให้พ้น (นิสสรณะ) จากความเกิดและความตาย ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่.

 

มนุษย์ปุถุชน ซึ่งมีจำนวนมากมาย เชื่อว่า ชีวิตหนึ่งเกิดมาแค่ครั้งเดียว ตายแล้วก็จบกันไป เวลาที่เหลืออยู่ จึงต้องเสพสุขให้มากเข้าไว้. พวกเขาจึงหันไปพึ่ง วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ ค้นหาวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้ชีวิตยั่งยืน ไม่เจ็บป่วย และเสพสุขได้อย่างไม่มีข้อจำกัด. ปัญหาการเกิดของพวกเขา จึงกลายเป็นเรื่องเล็ก แต่ปัญหาความแก่ ความตาย และความเจ็บป่วย กลายเป็นเรื่องใหญ่.

แน่นอนว่า วิทยาศาสตร์อาจช่วยหาทางออกให้ได้บ้าง ในการป้องกันความแก่ ความเจ็บป่วย แต่ไม่สามารถป้องกันความตายได้เลย. เพราะการไม่ศึกษาสัจธรรม จึงไม่รู้สัจชีวิต ไม่รู้วิธีป้องกันความแก่ ความตายอย่างถาวร. ในเมื่อวิทยาศาสตร์ช่วยไม่ได้ พวกเขาจึงต้องพึ่งพา จินตนาการ และความเชื่อ มนต์ดำ (ไสยศาสตร์) เดรัจฉานวิชชา และมิจฉาทิฐิ, ทั้งๆ ที่จินตนาการและความเชื่อเหล่านี้ ดูไร้เหตุผล และหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ แต่พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกอื่น ที่จะยอมรับมัน.

 

 

พุทธศาสน์ แก้ปัญหา การเกิด (อันเป็นต้นเหตุของทุกๆ ปัญหา).

วิทยาศาสตร์ แก้ปัญหา การเสื่อม (อันเป็นสาเหตุของ การแก่ เจ็บ ตาย).

เทวศาสตร์ แก้ปัญหา หลังการตาย ทําอย่างไร เมื่อตายแล้ว จึงจะพ้นทุคติ และไปสู่สุคติ.

ไสยศาสตร์ คือ ทางออกของทุกปัญหา ที่วิทยาศาสตร์ และเทวศาสตร์ แก้ไม่ได้. (ทุกข์ ปัญหา จึงยังมีอยู่)

 

 

ความจริงสมมุติ  ถูกปรุงแต่งขึ้นโดย อวิชชา สังขาร วิญญาณ ร่วมกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ในธรรมชาติ แล้วเรียกความจริงสมมุตินั้นว่า ขันธ์-5. นักวิทยาศาสตร์ รู้จักขันธ์-5 ในรูปแบบของ มวล สสาร แรง พลังงาน. ขันธ์-5 ได้กลายเป็นวัตถุสื่อกลาง (mediator) สำหรับการครอบครอง และการปรุงแต่งเป็นภพชาติ ของ ‘สัตว์' ทุกชนิด ทุกประเภท. ชีวิตเกิดขึ้นได้ เพราะมี ขันธ์-5 แต่มีน้อยคน ที่จะรู้ความจริงข้อนี้ว่า ...

 

คุณสมบัติของ ขันธ์-5 สามารถแยกขาดออกจากกันได้. เนื่องจากขันธ์-5 เป็นวัตถุสื่อกลาง ที่มีสถานะเป็นกลาง ที่ผู้ครอบครอง สามารถใช้ประโยชน์ไปในทางคุณหรือโทษก็ได้.

 

การแยกเอา ส่วนที่เป็น วิญญาณขันธ์ ออกจาก ส่วนที่เป็น รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ ได้สะอาดหมดจดเพียงใด ก็จะทำให้สัตว์ผู้นั้น มองเห็น ทางแก้ปัญหาการเกิดและการตายได้ อย่างถึงรากโดยแท้.

หมายความว่า ส่วนที่เป็นความจริงสมมุติใน ขันธ์-5 ที่เกิดจากการปรุงแต่งของ อวิชชา สังขาร วิญญาณ ก็จะยังคงมีอยู่เช่นนั้น ตามธรรมชาติ. แต่ส่วนที่เป็นความจริงแท้ใน ขันธ์-5 จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ สัตว์ผู้นั้น จะต้องแยกเอา “ของแท้” (วิชชา วิมมุติ) ออกจาก “ของปลอม” (อวิชชา สังขาร วิญญาณ) ให้ได้สะอาดหมดจด.

 

ความจริงสมมุติ ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ก็คือ สัตตะธัมมะธาตุ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นวัตถุธาตุ (มวล – อนุภาค, แรง – คลื่น, อุณหภูมิ – พลังงาน, มิติ กาลอวกาศ – รูปทรง และ วัฏจักร – อนันต์) และส่วนที่เป็นจิตธาตุ (นามรูป – วิญญาณ – สังขาร).

นามรูป – วิญญาณ – สังขาร เป็นธัมมะธาตุที่มีความพิเศษ เหมือนเป็น สะพาน หรือ ช่องทาง เพื่อก้าวไปสู่ ลักษณะ – สมบัติสัตตะธัมมะธาต ุอันสุดท้าย คือ วิมุตติ – นิพพาน. กล่าวได้ว่า วิมุตติ – นิพพาน คือ ความสัมบูรณ์ของความจริง (ปรมัตถธรรม หรือ อสังขตธรรม) อันสูงสุดของธรรมชาตินั่นเอง.

 

 

นิพพาน ปรากฏขึ้น เพราะตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้บอก. นิพพาน ปรากฏขึ้นสำหรับผู้ใด ผู้นั้นย่อมรู้แจ้งด้วยตนเอง เพราะการปฏิบัติตามธรรม ที่ตถาคตได้บัญญัติไว้. สิ่งที่สัตว์ ‘ปรุงแต่งขึ้นมาไว้ในตน' (ขันธ์-5) นั้น พระองค์เรียกว่า 'โลก' คอยปิดกั้น 'ที่สุดโลก' ไว้. (พระองค์ใช้คำว่า ที่สุดโลก แทน นิพพาน และใช้คำว่า โลก แทน รูปนาม ขันธ์-5)

 

“... เราได้บัญญัติโลก, เหตุให้เกิดโลก, ความดับสนิทไม่เหลือของโลก, และทางดำเนินให้ถึงความดับสนิทไม่เหลือของโลก.” ที่สุดโลก แห่งใด อันสัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ มีอยู่ในร่างกายนี้ (ร่างกายมนุษย์โลก) สามารถเข้าถึงได้ โดยรอบ (รู้ เห็น ถึง) ด้วยการปฏิบัติ อริยมรรค มีองค์ 8 ประการ เท่านั้น, ไม่มีทางอื่น (อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค - ทางเอก). “พระสุคต ผู้มีธรรมดาเห็นที่สุด คือความสิ้นไปแห่งชาติ ผู้มีพระทัย อนุเคราะห์สัตว์ด้วยความเกื้อกูล ย่อมทรงทราบทางเอก ซึ่งเหล่าพระอรหันต์ ได้อาศัยข้ามแล้วในกาลก่อน และกำลังข้ามอยู่ และจักข้ามซึ่งโอฆะได้.” [01]  นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน.

 


[01]  เป็นคำกล่าวของ สหัมบดีพรหม ที่พูดต่อหน้าตถาคต และพระองค์ก็ไม่ได้คัดค้าน. ดู “ทางเห็นลู่ทางที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์ 1.”  พุทธประวัติจากพระโอษฐ์. [ ซอฟต์แวร์ ].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 226. | บาลี - มหาวาร. สํ. 19/246-248/820-824.

 

นิพพาน จะไม่ไปปรากฏ ณ ที่ใด นอกจากในกายมนุษย์หรือเทวดา ผู้ซึ่งละวาง 'สิ่งที่สัตว์ปรุงแต่งไว้ในตน' (ขันธ์-5) ได้แล้ว.

 

“ถ้านักวิทยาศาสตร์ 'เข้าถึง' ในสิ่งที่ตถาคตพูด แม้ 1%, โลกใบนี้ จะเปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือ”

 

ประโยคนี้ ไม่กล่าวเกินจริง. พระองค์ยืนยันว่า แม้ข้อธรรมของพระองค์ เพียงบทเดียว ก็ก่อประโยชน์แก่โลกอย่างมากมาย. คำของพระองค์ (พุทธวจน) “เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกกุตตระ ว่าด้วยเฉพาะสุญญตา”  มีพลังในความหมาย ทั้งในแนวลึกและแนวกว้าง แม้จะเป็นเพียงคำเพียงคำเดียวก็ตาม ทุกคำพูด ทุกบท ทุกพระสูตร จะสอดร้อยเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน.

ตถาคต เป็นสรรพัญญูบุคคล รู้ทั่วโลกธาตุ คือรู้ทั้งหมดในเอกภพ. หากเปรียบเทียบ 'ความรู้' (ความรู้ที่สามารถสั่งสอนได้) ที่มีทั้งหมดในเอกภพ เหมือนใบไม้ทั้งต้น แต่สิ่งที่พระองค์พูดสอนสั่งแก่สาวก มีเพียงส่วนเล็กน้อย เท่าใบไม้ในกำมือเท่านั้น. ในความเป็นจริง สิ่งที่พระองค์ 'เห็น' (ความรู้ ที่ไม่สามารถสั่งสอนได้ และ เป็นความรู้ที่ไร้ประโยชน์) เป็นปรากฎการณ์ทั่วทั้งโลกธาตุ เหมือนต้นไม้ทั้งป่า. แต่พระองค์ ก็เลือกเอา 'ความรู้ในความจริง' (ความรู้ที่ทรงสั่งสอนได้) ซึ่งแม้จะเป็นส่วนเล็กน้อย มาสร้างประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ได้อย่างมากมาย.

“คามณิ ! ... เพราะเหตุว่า ถึงแม้เขาจะเข้าใจธรรมที่เราแสดง สักบทเดียว นั่น ก็ยังจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น ตลอดกาลนาน.”  (บาลี สฬา. สํ. 18/389/605.)

 

จากประโยคที่ว่า “ถ้านักวิทยาศาสตร์ 'เข้าถึง' ในสิ่งที่ตถาคตพูด แม้ 1%, โลกใบนี้ จะเปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือ.”  หากเกิดขึ้นจริง 1% ของคำพูดทั้งหมดของพระองค์ (สักบทเดียว) ที่นักวิทยาศาสตร์เข้าถึงได้ จะส่งผลต่อการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงวิทยาการ และเทคโนโลยี อย่างใหญ่หลวง แบบพลิกฝ่ามือเลยทีเดียว. จัดว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ กว่าการค้นพบอนุภาคแรงโน้มถ่วง นิวตริโน ปฏิอนุภาค หรือแม้กระทั่ง เหตุการณ์ก่อนบิกแบง. เช่น

 

ถ้านักวิทยาศาสตร์ ตรวจพบสัญญาณ สิ่งที่ไม่ใช่อนุภาคสสาร ไม่ใช่ควาร์ก ไม่ใช่มิติที่ 4 ไม่ใช่รังสีพื้นหลังของการเกิดเอกภพเริ่มแรก ไม่ใช่คลื่นของแสง แม้ในช่วงความถี่ใดๆ. สิ่งนั้น มีความเร็วยิ่งกว่าความเร็วแสงหลายเท่า สิ่งนั้น มีขนาดเล็กละเอียดกว่าควาร์ก สิ่งนั้นไม่มีมิติ วัดค่าอุณหภูมิไม่ได้ แล้วจะเรียกสิ่งนั้นว่าอะไร?

 

สาเหตุที่ตถาคต ไม่นำสิ่งที่รู้ทั้งหมด มาสั่งสอนสาวก เพราะ “... ธรรมะส่วนนั้นๆ ไม่ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความดับ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่เป็นเพื่อความรู้พร้อม ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน, ฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวสอน ...”  (บาลี – มหาวาร. สํ. 19/548/ 1712.)

เหตุผลที่พระองค์ ไม่นำความรู้ทั้งหมด มาสอนนั้น สวนทางกับ สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังค้นหา. ทั้งนี้เป็นเพราะ ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายแตกต่างกัน. ตถาคต มีเป้าหมายเพื่อให้สาวกและผู้ศึกษา รู้วิธีแก้ปัญหาการเกิด. นักวิทยาศาสตร์ มีเป้าหมายเพื่อให้มนุษยชาติ ที่เกิดมาแล้ว ไม่ต้องเผชิญกับความอดอยาก โรคภัย.

 

สิ่งที่พระองค์หยั่งรู้ คือ ความจริงแท้นั้น มีอยู่ และใครๆ ก็สามารถรู้ได้ เห็นได้ เข้าถึงได้ จับต้องได้ ถ้า “ปฏิบัติ” ตามวิธีที่พระองค์บัญญัติ. ธรรมที่พระองค์บัญญัติและพูดออกมา (ศาสนีย์) จะถูกจัดลำดับความยากง่าย ขนาด ขั้นตอน ให้เหมาะแก่คนฟัง โดยอิงกับความรู้พื้นฐานเดิมของผู้ฟัง.

โดยปกติ คนทั่วไปจะเข้าใจสมมุติสัจจะ หรือ 'ความจริงของของปลอม' ได้ดีกว่า, พระองค์ จึงเริ่มจากการอธิบาย ความจริงของ ของปลอม ให้เข้าใจเสียก่อน. จากนั้นก็จะอธิบาย สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับ ความจริงของของปลอมนั้น เพื่อให้คนฟัง เข้าใจ เข้าถึง ความจริงแท้ (ปรมัตถสัจจะ) ในภายหลัง. นี่คือ ระเบียบวิธี (revelatory methodology) อันเป็นอุบายและกลยุทธ์ของตถาคต ในการอธิบายนามธรรมที่ลึกซึ้ง ให้มนุษย์ธรรมดาเข้าใจได้.

 

นักวิทยาศาสตร์จะอธิบายปรากฎการณ์ใด หรือสิ่งใด จะสร้างข้อสมมุติฐานขึ้นมาก่อน แล้วอ้างทฤษฎี และสูตรทางคณิตศาสตร์ ขึ้นมารองรับ. หากผู้ฟังคนใดไม่เข้าใจ ก็เป็นหน้าที่ของผู้นั้น ที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจ (ในทฤษฎีที่คนอื่นเขียน) ด้วยตนเอง. ทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น ก็ไม่มีความแน่นอน เมื่อกาลเวลาผ่านไป หรือเมื่อมีข้อพิสูจน์ใหม่ ทฤษฎีนั้นอาจถูกลบล้างไปก็ได้. แต่ต่างกับศาสนีย์ของตถาคต ซึ่งมีความถูกต้อง เที่ยงตรง สมบูรณ์ 100% ทุกกาลเวลา.

 

 
[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

(ข)
การรวมฟิสิกส์ในทฤษฎีเดียว

 

 

สตีเวน ฮอว์กิ้ง กล่าวไว้ในหนังสือของเขา ชื่อ ประวัติย่อของกาลเวลา (The Illustrated A Brief History of Time) เรื่องการรวมฟิสิกส์เป็นหนึ่งเดียว. เขากล่าวว่า เราได้ก้าวหน้าไปมาก ในการคิดค้นทฤษฎีส่วนย่อยหลายๆ ทฤษฎี ซึ่งแต่ละอัน อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ภายในขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัด. แต่การสร้างทฤษฎีให้เป็น เอกภาพสมบูรณ์ ซึ่งสามารถอธิบายสรรพสิ่ง ในเอกภพได้ เพียงทฤษฎีเดียวนั้น เป็นเรื่องยาก.

 

เหตุผลข้อนี้อธิบายได้ว่า ธรรมชาติของฟิสิกส์ ย่อมประกอบด้วย “ส่วนย่อย” รวมกันเป็น “องค์รวม” เช่นนั้นเอง. เราไม่สามารถรวม 'ย่อย' ให้เป็น 'หนึ่ง' ได้ ถ้าตราบใด 'หนึ่ง' ยังประกอบด้วย 'ย่อย' และ 'ย่อย' เป็นต้นกำเนิดของ 'หนึ่ง'. การรวมย่อยให้เป็นหนึ่ง จะทำได้แค่การจัดกลุ่มให้ส่วนย่อย เข้ากันได้ในบริบทห้วงเวลาหนึ่งเท่านั้น. ในอนาคต ปัจจัยอิทธิพลแวดล้อมเปลี่ยนไป อาจมีการจัดกลุ่มให้แก่ส่วนย่อยใหม่ได้.

 

สัตตะธัมมะธาตุ ปรากฎการณ์สัมบูรณ์ ของสรรพสิ่ง มิใช่แนวคิดหรือทฤษฎี ในการรวมฟิสิกส์ ให้เป็นหนึ่งเดียว. แต่เป็นข้อเสนอใหม่ ในการอธิบายปรากฎการณ์ของสรรพสิ่ง (everything) โดยเชื่อมโยง แนวคิดทฤษฎีด้านฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์ ผ่านมโนทัศน์สัมพัทธภาพ. ภายใต้มโนทัศน์สัมพัทธภาพ ได้ข้อสรุปที่เป็นหนึ่งเดียวว่า แท้จริงแล้ว สรรพสิ่งในเอกภพนี้ ไม่อาจรวมเป็นอันเดียวกันได้, แต่จะดำรงอยู่ภายใต้คุณสมบัติพื้นฐานที่สุด ที่แตกต่างกัน 2 ระบบ คือ. สังขตธรรม กับ อสังขตธรรม.

เราทราบความจริงมาแต่ต้นแล้วว่า สรรพสิ่ง มีอยู่ในธรรมชาติสองระบบ คือ สังขตลักษณะ (conditioned) และ อสังขตลักษณะ (unconditioned) ซึ่งสามารถอธิบายการกำเนิด การดำรงอยู่ และการดับสลาย ของสรรพสิ่ง ได้ด้วยสมการ 2 สมการ คือ

และ

 


เมื่อ คือ ค่าอนันต์ หรือ สังสารวัฏ จะเท่ากับ ผลรวมของ พลังงาน (e : energy) x เวลา (t : time)

 


เมื่อ |O| คือ ค่าสัมบูรณ์ของศูนย์ หรือ สุญญตา จะมีได้ก็ต่อเมื่อ พลังงาน และ เวลา ถูกหารด้วย ค่าอนันต์ หรือ การตัดขาดของ สังสารวัฏ (ไม่มีการเกิด อุบัติใดๆ)

 

ตราบใดที่ยังมี พลังงาน และ เวลา อยู่ ณ ที่ใดๆ (ในเอกภพนี้) วัฏจักรการเกิด เสื่อม ตาย ก็จะมีอยู่ตราบนั้น. แม้ว่าสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีมวล หรือไม่มีมวลเหลืออยู่ก็ตาม (เช่น เทวดา นรก มิติที่ 4 ของสิ่งนั้น). สาเหตุที่เราไม่สามารถมีเพียงสมการเดียว เพราะ ธรรมชาติของสรรพสิ่ง ได้ถูกแบ่งออกเป็นสองระบบนั่นเอง.

 

ดังนั้น “การรวมฟิสิกส์เป็นหนึ่งเดียว” จึงไม่มีโอกาสสำเร็จได้ง่ายนัก หากละเว้นการศึกษา เรื่องจิตวิญญาณ.

 

นักฟิสิกส์ต่างก็ยอมรับว่า ในขอบเขตของเอกภพ อันไร้ขอบเขต พวกเขารู้ความจริง เกี่ยวกับฟิสิกส์ทั้งหมดได้น้อยมาก คือ รู้ไม่ถึงร้อยละ 5 เท่านั้น. ส่วนต่างที่เหลือ อีกกว่าร้อยละ 95 คืออะไร. พวกเขาจะไม่แบ่งพื้นที่ ให้แก่จิตวิญญาณบ้างเลยหรือ? แต่ปัญหานี้ นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ รวมทั้งนักปรัชญาธรรมชาติ โพสต์โมเดิร์น จำเป็นต้องขยายกรอบทัศนะ ในการมองปรากฎการณ์รอบตัว ให้ลึกซึ้งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่.

อาจต้องฝ่ากำแพง 'การยอมรับในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้' เพื่อก้าวไปให้ถึง 'ความจริงที่พิสูจน์ด้วยตนเอง' เช่น การเดินทางข้ามเวลา กาแลกซี่ ผ่านรูหนอน ด้วยพลังงานของจิต ซึ่งเรียกว่า ฌาน. หรือแม้กระทั่ง สิ่งลี้ลับต่างๆ ในเอกภพ เช่น พลังงานมืด สสารมืด อนุภาคคู่แฝด คลื่นความโน้มถ่วง คลื่นนิวตริโน่ และ หลุมดำ อาจได้รับการค้นพบ ด้วยพลังงานของจิต มากกว่าความสำเร็จใน “การรวมฟิสิกส์เป็นหนึ่งเดียว” ก็ได้.

 

ความจริงแล้ว ตถาคต ได้รวมสรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียว (รวมทั้งฟิสิกส์) ไว้แล้ว. จากพุทธวจน ที่ว่า “ ... ภิกขุทั้งหลาย ! ในกาลก่อนก็ตาม ในกาลบัดนี้ก็ตาม เราบัญญัติสอนแต่เรื่องความทุกข์ และความดับสนิทไม่มีเหลือของความทุกข์เท่านั้น”   (บาลี - มู. ม. 12/276/286).

คำว่า 'ทุกข์' ก็คือ สรรพสิ่ง ซึ่งเป็นที่รวมของ รูป นาม และรวมถึงฟิสิกส์ด้วย. รูป ก็คือวัตถุธาตุ ทุกชนิดทุกประเภท ที่มีสภาวะแบบเดียวกันทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า ทุกข์. รู้ทุกข์ ก็รู้ทุกสิ่ง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นรูป หรือนาม หรือทั้งสองอย่าง คือ รู้ว่าสิ่งนั้นมีเกิด มีเสื่อม มีแปรปรวน (เสื่อมต่อเนื่อง) เปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนสถานะ เป็นวงจรไม่สิ้นสุด.

ที่จริง ตถาคต คิดก้าวหน้ากว่านักวิทยาศาสตร์ ไปหนึ่งก้าว. นักวิทยาศาสตร์ รู้ประวัติของมวล สสาร พลังงาน และการเปลี่ยนแปลงของมันเท่านั้น แต่ตถาคต มองว่ามวล สสาร พลังงาน เป็นแค่รูปขันธ์ แต่ยังมีอีก 4 ขันธ์ ที่สวมรอยอยู่ในร่างของ รูปขันธ์ จนทำให้การรวมกัน ของขันธ์ทั้ง 5 ส่งผลให้เกิดระบบชีวิตขึ้นมา แล้วสร้างปัญหาสืบเนื่องจากการเกิด ไม่มีวันจบสิ้น.

 

ดังนั้น สิ่งที่ตถาคต ต้องจัดการกับ ขันธ์-5 ย่อมเป็นสิ่งลึกซึ้ง เกินกว่านักวิทยาศาสตร์จะยอมรับได้.

 

 
[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

(ค)
ชุมชนนักวิทยาศาสตร์ กับภารกิจในการค้นหา ความจริงด้านฟิสิกส์

 

เพื่อความเข้าใจในธรรมชาติที่ถ่องแท้ จำเป็นต้องเรียนรู้ทั้ง ฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ และ พุทธศาสน์ ไปพร้อมๆ กัน. เพราะในธรรมชาติ ประกอบด้วยความจริงสองด้าน ที่ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ คือ ธรรมชาติของวัตถุธาตุ และ ธรรมชาติของจิตธาตุ. อุปสรรคสำคัญของนักฟิสิกส์ คือ ยังเข้าไม่ถึงจิตวิญญาณ.

เรื่องของจิตวิญญาณ ยังคงเป็นความลี้ลับในเอกภพ ที่นักฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ ต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา. ก่อนจะเข้าให้ถึงจิตวิญญาณ ต้องเข้าให้ถึงปรัชญา ความรู้ ความจริง ของสรรพสิ่งให้ได้ก่อน. โดยเฉพาะ อภิปรัชญา (mataphysics) ว่าด้วยความจริงแท้ของระบบชีวิต จะช่วยให้การค้นคว้า เรื่องจิตวิญญาณ มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น.

 

กฎฟิสิกส์ (laws of physics) จะถูกนำมาใช้เป็น หลักเกณฑ์พื้นฐานการศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่ง การอนุมาน การคำนวณเชิงตรรกะ และเชิงคณิตศาสตร์ เพื่อให้รู้ถึงพฤติการณ์ต่างๆ ของวัตถุธาตุ-สสาร และเอกภพ ตลอดจนระบบชีวิตทั้งหมด. ระบบชีวิต กลายเป็นส่วนย่อย เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบสัดส่วน ปริมาณและมวล กับวัตถุธาตุ สสาร ที่มีทั้งหมดในเอกภพ, อาจทำให้ดูเหมือนว่า กฎฟิสิกส์ทั้งหลาย พูดแต่เรื่องของวัตถุธาตุ อนุภาค อะตอม สสาร ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และเทหวัตถุอื่นๆ.

 

ความจริงด้านฟิสิกส์ ณ ขณะนี้ ปรากฏขึ้นภายใต้ หลักการสำคัญของฟิสิกส์ ซึ่งประกอบด้วยหมวดหมู่ต่อไปนี้ (แต่ในอนาคต อาจมีการเพิ่ม หรือตัดทอน). [02] กฎการอนุรักษ์ กลศาสตร์ดั้งเดิม (กลศาสตร์นิวตัน) กาลอวกาศ คลื่น ปริมาณทางกายภาพ พลศาสตร์ พลังงาน พลังงานในฟิสิกส์ ไฟฟ้าสถิต มิติ แรง เวลา สสาร.

 


[02]  อ้างอิงจาก “หลักการสำคัญของฟิสิกส์.”  วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. [ ออนไลน์ ]. https://th.wikipedia.org/wiki/ หมวดหมู่: หลักการสำคัญของฟิสิกส์. (วันที่สืบค้น: 6 พฤษภาคม 2562.)

 

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ แบ่งออกได้เป็นชุมชนย่อยๆ 8 ชุมชน คือ

 

(1) ชุมชนนักสัมพัทธภาพฟิสิกส์.

 

ชุมชนนี้ จะศึกษาตามแนว กลศาสตร์พื้นฐานของนิวตัน กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตัน และ หลักสัมพัทธภาพพิเศษ (special relativity) ซึ่งเป็นกฎฟิสิกส์ของไอน์สไตน์. ใช้อธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ เมื่อไม่มีแรงโน้มถ่วงเข้ามาเกี่ยวข้อง. นับว่า นักสัมพัทธภาพฟิสิกส์ เป็นผู้ให้กำเนิดกลศาสตร์คลาสิค ที่อธิบายทุกๆ สิ่งบนโลกมนุษย์ได้ถูกต้องเสมอมา.

ในยุคเริ่มแรก ของการศึกษาความจริง เกี่ยวกับธรรมชาติ ยังไม่แผ่กว้างออกไป นอกรัศมีโลก กลศาสตร์แบบนิวตัน จึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย. แต่เมื่อเข้าสู่ยุคการสำรวจทางอวกาศ แนวคิดกลศาสตร์พื้นฐานเหล่านี้ ไม่เพียงพอ และใช้อธิบายปรากฏการณ์ ในอวกาศอันกว้างใหญ่ได้ หรือแม้กระทั่ง ปรากฏการณ์ในพื้นที่แคบๆ ระดับอะตอม.

 

(2) ชุมชนนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (astrophysicist).

 

จะศึกษาตามแนวทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป. โดยปกติ จะเป็นนักฟิสิกส์เชิงทฤษฎี และเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ในการใช้กฎของฟิสิกส์ อธิบายว่า วัตถุในจักรวาล มีพฤติการณ์อย่างไร. โดยใช้หลักสัมพัทธภาพทั่วไป ของไอน์สไตน์ และ กลศาสตร์ควอนตัม เป็นเครื่องมือศึกษา.

 

(3) ชุมชนนักดาราศาสตร์.

 

มุ่งศึกษาโครงสร้าง และระบบดวงดาว ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ ระบบสุริยะ กาแล็กซี่ หลุมดำ และเอกภพ. ชุมชนนี้ ได้รวมเอานักดาราศาสตร์แสง (optical astronomer) เข้ามาไว้ในชุมชนด้วย, พวกเขาจะเฝ้าสังเกต พฤติการณ์ของเอกภพ โดยใช้แสงที่มนุษย์มองเห็นได้.

 

(4) ชุมชนนักฟิสิกส์เชิงทดลอง.

 

กลุ่มนี้จะเน้นการใช้เครื่องมือ ห้องทดลอง เพื่อหาข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด เกี่ยวกับอนุภาคและปฏิกิริยาที่เกี่ยวกับอนุภาค. ผลการทดลอง จะช่วยตอบปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับฟิสิกส์ ให้แก่ทุกชุมชนได้ด้วย.

 

(5) ชุมชนนักดาราศาสตร์วิทยุ (radio astronomer).

จะศึกษา สังเกต พฤติการณ์ต่างๆ ของเอกภพ จากคลื่นวิทยุ ผ่านกล้องโทรทรรศน์วิทยุ แหล่งข้อมูลคลื่นวิทยุ และ จากกาแล็กซี่ ที่ส่งคลื่นวิทยุความเข้มสูงออกมา. คลื่นวิทยุ มีความยาวคลื่นที่ยาวมากๆ และแผ่กระจายไปได้ไกล ทั่วจักรวาล.

 

คลื่นวิทยุ จึงเป็นหลักฐานเดียว ที่ทิ้งร่องรอยในอดีตอันยาวนาน ของเอกภพ ให้เป็นข้อมูล สำหรับนักดาราศาสตร์รุ่นต่อๆ มา.

 

นักดาราศาสตร์ ใช้กล้องโทรทรรศน์ เพื่อการไขปริศนาลึกลับ ซึ่งมีนานกว่า 20 ปี เกี่ยวกับสัญญาณวิทยุประหลาด ที่ส่งมาจากนอกโลก. นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบแล้วว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1996 ขณะที่ดาวเทียมโคบี (COBE) จับสัญญาณจากมนุษย์ต่างดาวได้ ในรูปของคลื่นไมโครเวฟ ที่ความถึ่ 10-60 กิกะเฮิรตซ์ได้.

ในตอนนั้น ยังไม่มีใครอธิบายถึงที่มาของมันได้. ปัจจุบัน พวกเขาสันนิษฐานว่า คลื่นไมโครเวฟนั้น มาจาก สารไฮโดรคาร์บอนชนิดอะโรมาติก. สารชนิดนี้ มันล่องลอยอยู่ในกลุ่มก้อนฝุ่นผง ที่คละคลุ้ม อยู่รอบดาวฤกษ์ที่เกิดใหม่ 3 ดวง หรืออาจเป็น อะตอมของคาร์บอน ที่จับตัวกันเป็นรูปทรงปิรามิด โดยมีอะตอมไฮโดรเจน อยู่บนยอด.

ปฏิกิริยาระหว่าง อะตอมไอโดรเจน กับอะตอมของคาร์บอน ก่อให้เกิด คลื่นแม่เหล็กขนาดจิ๋ว. เมื่อพวกมันเกิดการหมุน ด้วยความเร็ว หลายล้านรอบต่อวินาที. การหมุนของพวกมัน ก็จะปลดปล่อยคลื่นไมโครเวฟ ความถี่เดียวกันกับที่ดาวเทียมโคบีตรวจพบ เมื่อปี ค.ศ. 1996 ออกมา. [03]

 


[03]  SCIENCE ILLUSTRATED. ฉบับที่ 94. April 2019, หน้า 69.

 

(6) ชุมชนนักดาราศาสตร์รังสีเอ็กซ์.

 

กลุ่มนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับหลุมดำ และกาแล็กซี่ ผ่านคลื่นวิทยุ รังสีเอ็กซ์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และคลื่นโน้มถ่วง ร่วมด้วย. และ มีการนำกล้องโทรทรรศน์ทุกชนิด ทุกย่านความถี่แสง มาศึกษาค้นหา สิ่งที่อยู่ในช่องความผิดพลาด.

 

กล้องดังกล่าวได้แก่

กล้องโทรทรรศน์วิทยุ
กล้องโทรทรรศน์อินฟาเรด
กล้องโทรทรรศน์แสง
กล้องโทรทรรศน์อัลตราไวโอเลต
กล้องโทรทรรศน์รังสีเอ็กซ์
และ
กล้องโทรทรรศน์รังสีแกมม่า.

 

กล้องโทรทรรศน์ไกอา (Gaia) เป็นกล้องโทรทรรศน์แสง สำหรับภารกิจ แอสโตรเมทรี (astrometry) ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่ง ที่ศึกษาพิกัดของดาวฤกษ์, มีความสามารถ มองลึกเข้าไปในอวกาศ ได้ถึง 3,000 ล้านปีแสง. ไกอา สามารถสร้างแผนที่ทางช้างเผือก ที่ความละเอียดสูงที่สุด เท่าที่เคยมีมา. การค้นพบนี้ จะช่วยเผยข้อมูล เกี่ยวกับดวงดาวเร้นลับ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทางช้างเผือก และ อาจช่วยระบุตำแหน่ง สำหรับค้นหาอารยธรรมต่างด้าวได้ ในอนาคต.

ไกอา ถูกปลดประจำการในปี ค.ศ. 2020 และให้กล้องโทรทรรศน์ยูคลิด (Euclid) และกล้องเจมส์เว็บบ์ (James Webb) รับภาระการสำรวจทางช้างเผือกต่อไป.

 

(7) ชุมชนนักดาราศาสตร์ คลื่นความโน้มถ่วง กลศาสตร์ควอนตัมแบบใหม่ (new quantum mechanics) และ แรงโน้มถ่วงควอนตัม (quantum gravity).

 

นับว่าชุมชนนี้ เป็นชุมชนใหม่ และมีความสำคัญยิ่ง. นักวิทยาศาสตร์ ได้สร้างเทคโนโลยี ก้าวหน้าไปมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความต้องการ แนวคิดใหม่ๆ มากขึ้น. เพื่อนำไปอธิบาย ในสิ่งที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ค้นพบ โดยเฉพาะ ปรากฏการณ์เกี่ยวกับ คลื่นความโน้มถ่วง ที่เครื่อง LIGO ตรวจจับได้, แรงดึงดูดของกลุ่มเมฆอิเล็กตรอน ภายใต้พันธะโคเวเลนต์ (covalent bond – การใช้อิเล็กตรอนบางส่วนร่วมกัน ของอะตอมที่อยู่ติดกัน), การชนกันของหลุมดำขนาดยักษ์. ปรากฏการณ์เหล่านี้ กลศาสตร์ควอนตัม จะช่วยให้คำตอบที่กระจ่างได้มากกว่า.

 

(8) ชุมชนนักสัมพัทธภาพ – ฟิสิกส์ทางจิต.

 

อีกชุมชนหนึ่ง ที่นักวิทยาศาสตร์ ยังไม่นับเข้าเป็นชุมชนนักวิทยาศาสตร์ คือ ชุมชนนักสัมพัทธภาพ – ฟิสิกส์ทางจิต. เพราะยังรอ ผู้ที่มีความประสงค์จะใช้พลังงานทางจิต เข้ามาร่วมเป็นส่วนผสม กับงานด้านวิทยาศาสตร์ อย่างจริงจัง หรือกลุ่มนักศึกษา สัตตะธัมมะธาตุ ตามที่ได้นำเสนอในหนังสือเล่มนี้.

ปัจจุบัน ก็มีการศึกษา พลังงานทางจิตอยู่บ้าง แต่น้อยมาก เช่น การศึกษาปฏิกิริยาของสารสื่อประสาท ที่ระบิดพลุ่งพล่านในสมอง ก่อนมนุษย์ผู้นั้นจะถึงแก่ความตาย. เป็นผลงานการศึกษาค้นคว้า ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน เมื่อปี ค.ศ. 2015.

ผลการศึกษาพบว่า ช่วงเวลา 1 นาทีหลังการตาย เกิดความสนใจพลุ่งพล่าน บังเกิดจิตแจ่มชัดขึ้น ระดับนอร์อะดรีนาลิน จากสมองกลีบหน้า เพิ่มขึ้น 30 เท่า ศูนย์การมองเห็น เพิ่มขึ้น 20 เท่า ขณะที่ จังหวะการเต้นของหัวใจต่ำลง.

ธรรมชาติ ย่อมมีกฎเกณฑ์เป็นของตนเอง ไม่ว่าผู้ใดจะทำการศึกษา ย่อมพบความสอดคล้องกันได้ ของธรรมชาติ. นักวิทยาศาสตร์ ได้สร้างแบบจำลองทางฟิสิกส์ (model) และทฤษฎี ขึ้นมามากมาย ในขณะที่ ตถาคต เปิดเผยความจริงทางจิต ออกมาอย่างละเอียดลึกซึ้ง ทุกแง่มุม.

 

ถ้าสังเกตในแง่ของโครงสร้าง ลักษณะทางฟิสิกส์ กับ ลักษณะทางจิต มีความสอดคล้องกัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน. นั่นเท่ากับว่า นักวิทยาศาสตร์ ได้สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมารองรับ สิ่งที่ตถาคตรัสรู้ โดยไม่ได้ตั้งใจ.

 

ในโลกของจิตวิญญาณ ไม่อาจสร้างแบบจำลองได้ง่ายๆ เหมือนโลกของฟิสิกส์ เพราะจิตวิญญาณ มีสมบัติและอาการ ซับซ้อนมากกว่าหลายเท่า. ตถาคต ได้กล่าวถึงภพสวรรค์ ภพนรกไว้หลายแห่งในหลายพระสูตร ผู้ฟังทั่วไปจะเข้าถึงภพทั้งสองได้ จากจินตนาการ ไม่อาจเข้าถึงได้จาก การพิสูจน์โดยทฤษฎีทางฟิสิกส์ได้. แต่ก็ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้และพูดไว้ ไม่มีอยู่จริง. เมื่อยังไม่มีภาพที่ชัดเจนว่า ภพนรก ภพสวรรค์ เป็นอยู่อย่างไร, จำเป็นต้องอาศัยแบบ จำลองทางฟิสิกส์ มารองรับไปก่อน เพราะเหตุที่ ประสาทการรับรู้ของมนุษย์ มีข้อจำกัดนั่นเอง.

เวลาในภพนรก และเวลาในภพสวรรค์ มีความใกล้เคียงกัน คือยาวนานกว่าเวลาบนโลกมนุษย์มากมาย. หากจะนำเสนอ คุณสมบัติของหลุมดำ มาอุปมาเปรียบเหมือนภพนรก ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หรือ ขอบเขตของเอกภพที่สังเกตไม่ได้ (เพราะไกลเกินกว่าการเดินทางของแสง) อุปมาเหมือนภพสวรรค์ชั้นพรหม ก็เป็นไปได้เช่นกัน. สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นหา ดูเหมือนจะเข้าใกล้ จิตวิญญาณมากขึ้นทุกขณะ แต่ก็ยังไม่ใกล้พอ ที่จะสรุปในทางทฤษฎีได้ว่า แท้จริงแล้ว วิญญาณ อาจเป็นอนุภาคชนิดหนึ่ง ที่พวกเขาเพิ่งจะยอมรับว่า อนุภาคพระเจ้าที่แท้จริงนั้น มีอยู่จริง.

 

 
[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

(ง)
ระเบียบวิธีวิทยาศาสตร์ มุ่งการพิสูจน์สมมุติฐาน เพื่อให้ได้ความรู้
ระเบียบวิธีพุทธศาสน์ คือการอุปมาสิ่งที่ถูกหยั่งรู้ เพื่อให้ได้ความจริง

 

จิตธาตุ มีคุณสมบัติเป็นนามธรรม ไม่สามารถจับต้องได้ ด้วยประสาทการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย. มีเพียงประสาทสัมผัสทางใจเท่านั้น (จินตภาพ) ที่ยังพอเข้าไปจับต้อง กิริยาอาการของจิตได้บ้าง. เนื่องจาก ปรากฎการณ์ เกี่ยวกับจิตธาตุ มีความละเอียดอ่อน ลุ่มลึก หลากหลาย มีการเปลี่ยนแปลง (เคลื่อน) อาจรวดเร็วกว่า การสั่นหรือการหมุนของอนุภาค.

การอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับจิต จึงเป็นความยาก. แต่ด้วยความสามารถพิเศษ ของตถาคต ที่มีญาณหยั่งรู้ อย่างไร้ขีดจำกัด, ทำให้ข้อจำกัดของมนุษย์ ในการรับรู้เรื่องจิตวิญญาณ หมดสิ้นไปได้มากทีเดียว.

 

นักวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ เพียงแต่พวกเขาต้องคอยระวังว่า ตนเองจะไม่กระทำการ ละเมิดกฎทางฟิสิกส์เท่านั้น ก็เป็นการเพียงพอแล้ว. ผู้อื่นจะเข้าใจ ในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คิดหรือไม่ ไม่จำเป็น, คงปล่อยให้เป็นหน้าที่ ของคนผู้นั้น หาทางศึกษา ทำความเข้าใจด้วยตนเอง.

 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ความรู้ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ เกิดจากการพิสูจน์สมมุติฐาน และ เมื่อพิสูจน์ได้แล้ว ก็เป็นสิ่งตายตัว มีหลักฐาน มีตัวอย่าง มีข้อพิสูจน์ บันทึกไว้ให้ศึกษาเรียนรู้ได้ภายหลัง. แต่ความจริงที่ตถาคตค้นพบ เกิดจากการปฏิบัติ ซึ่งบางครั้ง ไม่อาจบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรได้ง่ายๆ แต่ต้องถ่ายทอดความจริงนั้น ด้วยวิธี “เลียนแบบ” (revelatory methodology) จากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นถัดๆ มา. ส่วนการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเพียงแนวทางหยาบๆ เท่านั้น.

การอธิบายหรือสมมุติฐาน สิ่งเล็กๆ ระดับอนุภาค หรือ สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น จิตวิญญาณ ต้องใช้จินตนาการร่วมด้วย. สิ่งที่เล็กเกินไป เช่น ปรากฎการณ์ของอนุภาค และสิ่งที่ใหญ่เกินไป เช่น ดาราจักร หลุมดำ, นักวิทยาศาสตร์ ต้องสร้างแบบจำลองขึ้นมา เพื่อให้สมมุติฐานนั้น เป็นจริงและเที่ยงตรง สามารถคำนวณได้ทางคณิตศาสตร์ และปฏิเสธการอนุมานแบบนามธรรม.

 

ปรากฎการณ์ทางจิต ตถาคต ไม่จำเป็นต้องใช้แบบจำลอง แต่พระองค์ใช้คำพูด (พุทธวจน) ที่ถูกร้อยเรียง จนเป็นระเบียบแห่งถ้อยคำ ดุจโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่มี error ไม่มี bug มีโครงสร้างการเชื่อมโยงคำ ข้อความที่ไม่ผิด แม้แต่คำเดียวหรือประโยคเดียว.

 

ดังนั้น จินตนาการ แบบวิทยาศาสตร์ กับจินตนาการ แบบพุทธศาสน์ จึงมีความแตกต่างกัน.

 

จินตนาการแบบวิทยาศาสตร์ ต้องมีหลักการทางฟิสิกส์มารองรับ ถ้าไม่มี ก็ไม่น่าเชื่อถือ, จินตนาการแบบพุทธศาสน์ ต้องมีคำของตถาคตมารองรับ ถ้าไม่มี นอกจากไม่น่าเชื่อถือแล้ว ยังถือว่าเป็นความผิด ต้องลบทิ้ง.

 

ตถาคต จะใช้การอุปมาเปรียบเทียบ จากสิ่งที่คนฟังรู้จักเข้าใจดีอยู่แล้ว จากนั้นก็สรุปว่า สิ่งนั้นใช่หรือไม่ใช่ ในสิ่งที่พระองค์หมายถึง. การอุปมาเปรียบเทียบของตถาคต จึงทำให้เกิด ระเบียบแห่งถ้อยคำของตถาคต (สุคตวินโย), โดยพระองค์ จะพูดถึงอดีตก่อน แล้วโยงไปอนาคต แล้วสรุปที่ ปัจจุบัน.

 

เช่น พระองค์พยายามอธิบาย ความหมายของนิพพาน ผ่านการการอุปมาว่า

 

เป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฎการณ์ ไม่มีที่สุด ไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีความยาว ความสั้น ความเล็ก ความใหญ่ ไม่มีความงาม ความไม่งาม ไม่มีนามรูป ไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย ไม่ได้ตั้งอยู่ ไม่ได้เป็นไป ไม่ได้ถูกอะไรทำ ไม่ได้ถูกอะไรปรุงแต่ง ไม่ใช่อารมณ์ สิ่งนี้เรียกว่า “ที่สุดโลก”.

ไม่ต้องนั่งจรวดไป แต่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ สามารถรู้ได้ เห็นได้ และเข้าถึงได้ ด้วยการปฏิบัติ (ไม่ใช่ด้วยการขอ สวดอ้อนวอน บวงสรวง หรือ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ สื่อใดๆ ที่จะไปให้ถึง).

 

พระองค์พยายามหลีกเลี่ยง การใช้มาตราวัดแบบวิทยาศาสตร์ เพราะไม่สามารถใช้ได้กับ ความจริง ที่พระองค์หมายถึง. การระบุ ขนาด เวลา พื้นที่ ระยะทาง มิติ พิกัด ของจิตที่ขนาดเล็ก ละเอียด เบาบาง หรือ ภพภูมิ ที่มีขนาดใหญ่โต กว้าง ไกล เกินกว่ามนุษย์เคยพบเห็น. หรือแม้กระทั่ง ปรมาณู (อะตอม) โลกธาตุ (เอกภพ) สังสารวัฏ (มิติ กาลอวกาศ) ก็เป็นความยาก ที่จะอธิบายให้เห็นภาพได้ชัดเจน.

พระองค์ จะนำสิ่งที่มนุษย์รู้จักก่อน เช่น เมล็ดงา ใบไม้ เศษดิน มาใช้เป็นมาตราเทียบ. เรื่องเกี่ยวกับโลกธาตุ ภพภูมิ และสังสารวัฏ (เอกภพ มิติ กาลอวกาศ). พระองค์ไม่ใช้ระยะทาง แต่ใช้ระยะเวลา ในการกำหนดขอบเขต ของสิ่งเหล่านั้น. เช่น สังสารวัฏ ไม่ปรากฏที่สุด หาเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ (ไม่มีขอบเขต แต่มีขนาดหนึ่ง).

ตถาคต ไม่ได้ใช้พิกัดด้านระยะทาง หรือระยะเวลา เพื่อบอกขนาดของ มหานรก ซึ่งมีขนาด ระยะ อันหาขอบเขตไม่ได้, แต่ใช้วิธีอธิบายให้เห็นภาพ ด้วยการอุปมาเปลวไฟ ที่ระยะพิกัด 6 แกน คือ “ ... มีเปลวไฟพลุ่ง จากฝาด้านหน้า จดฝาด้านหลัง พลุ่งจากฝาด้านหลัง จดฝาด้านหน้า พลุ่งจากฝาด้านเหนือ จดฝาด้านใต้ พลุ่งจากฝาด้านใต้ จดฝาด้านเหนือ พลุ่งขึ้นจากข้างล่าง จดข้างบน พลุ่งจากข้างบน จดข้างล่าง ...”

 

นักวิทยาศาสตร์ พยามหาข้อยุต ิเรื่องขนาดของเอกภพ ด้วยมาตรา “ระยะทาง” โดยใช้หน่วยวัด เวลากับอัตราความเร็วของ. ถ้าเป็นวัตถุขนาดเล็ก ระดับอนุภาค ยังคงใช้มาตราระยะทางอยู่ โดยใช้ตัวเลขยกกำลังที่มีค่าเป็นลบ เพื่อให้การคำนวณทางคณิตศาสตร์ ทำได้ถูกต้องลงตัว. ส่วนการกำหนดตำแหน่งพิกัด กับความเร็วของวัตถุใดวัตถุหนึ่ง ในห้วงอวกาศ ก็ใช้วิธีสัมพัทธ์ ของผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกต ซึ่งอยู่ในตำแหน่งสังเกตที่แตกต่างกัน.

 

ข้อสมมุติฐานต่างๆ จากปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับปฏิกิริยาทางวัตถุธาตุ เช่น ฟ้าผ่า การเดินทางของแสง, การวิวัฒนการทางชีวะ เช่น การกลายพันธุ์ของมะเร็ง การงอกของหาง จิ้งจก, การพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับจิตธาตุ เช่น การได้ฌานสมาธิ การระลึกชาติ, ถ้านักวิทยาศาสตร์ ยังไม่สามารถพิสูจน์ความเป็นจริง หรือหาทฤษฏีมารับรอง พวกเขาก็จะลบข้อสมมุติฐานเหล่านั้นทิ้งไป.

แต่ปรากฎการณ์เกี่ยวกับจิตวิญญาณ สังสารวัฏ สวรรค์ นรก ภพภูมิ ที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยวิธี การแบบวิทยาศาสตร์ ก็ยังไม่สมควรจะถูกลบทิ้ง เพราะยังมีปรากฎการณ์บางอย่าง เช่น เงื่อนไขไร้ขอบเขตของอวกาศ การแลกเปลี่ยนพลังงาน ในการกระเพื่อมของที่ว่าง หลักความไม่แน่นอน คลื่นความโน้มถ่วง ปฏิอนุภาค กำเนิดของกาลเวลา พฤติกรรมของหลุมดำ รูหนอนอวกาศ ตลอดจน การกลายพันธุ์ของมะเร็ง.

 

ปรากฎการณ์เหล่านี้ ล้วนแต่เกี่ยวกับวัตถุ และชีวะทั้งสิ้น. นักวิทยาศาสตร์ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้. ความจริงเกี่ยวกับจิตวิญญาณ มีความซับซ้อนมากกว่าหลายล้านเท่า ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เข้าใจ ก็ควรเปิดทางให้ตถาคต ได้แสดงความจริง ตามวิถีทางแบบที่พระองค์ได้บัญญัติไว้.

 

แต่อย่างไรก็ตาม, พระเจ้าก็ยังให้อภัย แก่นักวิทยาศาสตร์ ที่บางครั้ง ก็ไม่เลื่อมใสในตัวพระเจ้า. พวกเขายังแก้สมการบางอย่างไม่ได้ อาจเป็นเพราะ “บัญชาของพระเจ้า” ก็ได้. ข้อสมมุติฐานบางอย่าง ที่ยังคลุมเครือ ลี้ลับ, นักวิทยาศาสตร์ (บางคน) ก็ยังผลักภาระ ไปให้พระเจ้าอยู่นั่นเอง.

เช่น กรณีการค้นพบอนุภาคชนิดหนึ่ง ของศูนย์วิจัย CERN ในปี ค.ศ. 2012 ที่จริงอนุภาคดังกล่าว พวกเขาพบแล้ว มาก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่แน่ใจ ก็ตั้งชื่อไว้ล่วงหน้าก่อนว่า “อนุภาคพระเจ้า” (God particle) [ แต่นักวิทยาศาสตร์ ที่ยังทะนงถือดี ไม่เชื่ออำนาจพระเจ้า จึงไม่ชอบชื่อนี้ ]. จนกระทั่งผ่านการพิสูจน์ที่ชัดเจน จึงได้ให้ชื่อใหม่ว่า อนุภาค Higgs ตามชื่อของผู้ค้นพบ คือ ปีเตอร์ ฮิกส์ (Peter Higgs) นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีชาวอังกฤษ. .

 

 
[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

(จ)
มโนทัศน์แบบสัมพัทธภาพ ทะลุทะลวง ความรู้สู่ความจริง

 

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คิด กับสิ่งที่พระพุทธเจ้ารู้ แตกต่างกัน. จะไม่มีสมมุติฐานสุดท้าย สำหรับนักวิทยาศาสตร์ เพราะสิ่งที่พวกเขาคิด เป็นเรื่องของวัตถุธาตุ ที่มีความแปรปรวนตลอดเวลา. แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้ารู้ เป็นความจริงสัมบูรณ์ ทะลุทะลวงวัตถุธาตุไปจนถึงจิตธาตุ, มีถึงที่สุด มีจุดจบ เป็นสภาวะที่ไม่ปรากฎการเกิด ไม่ปรากฎการเสื่อม และไม่ปรากฎความแปรปรวนใดๆ.

การแสวงหาความจริง ของเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ของธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับ มวล สสาร แรง พลังงาน ย่อมต้องอาศัย กฎเกณฑ์ทางด้านฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ มาอธิบาย. แต่ไม่ถูกต้อง เสมอไปทุกครั้ง บางเหตุการณ์ อาจมีสภาพแวดล้อม ที่สุดแสนประหลาด ไม่อาจนำหลักการทางฟิสิกส์ แบบเดียวกัน มาอธิบายได้.

 

เช่น ในบริเวณพื้นที่แคบๆ ของอะตอม กับ บริเวณพื้นที่ไร้ขอบเขต ของเอกภพ. เหตุนี้ จึงต้องใช้ “มาตรฐาน” ในคำอธิบาย มากกว่าหนึ่งมาตรฐาน. มาตรฐานในคำอธิบาย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กรอบอ้างอิง.

 

กรอบอ้างอิง ถูกนำมาใช้เป็นมโนทัศน์ ในการให้คำนิยามแก่เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ ของมวล สสาร แรง พลังงาน ในทุกขนาด ทุกมิติ. หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า กรอบอ้างอิง คือ บริเวณของมุมมอง ที่มองสิ่งเดียวกัน (วัตถุ เหตุการณ์) ของผู้สังเกต มากกว่าหนึ่งคน และแต่ละคน มีพิกัดตำแหน่ง มีหมุดเวลา และมีความเร็วในการเคลื่อนที่ ที่แตกต่างกัน, ย่อมทำให้ผลลัพธ์หรือข้อสรุป ที่เกิดจากการมองนั้น แตกต่างกันไปด้วย. จึงสรุปได้ว่า ไม่มีมุมมองของใครผิด.

 

โดยเฉพาะ การอธิบาย เกี่ยวกับจิตวิญญาณ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันเลยกับ มวล สสาร แรง พลังงาน. จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องใช้มโนทัศน์สัมพัทธภาพ และกรอบอ้างอิงจินตภาพ มาประกอบคำอธิบาย ในสิ่งที่มนุษย์เข้าใจยาก ให้เข้าใจได้ถูกต้อง. กฎธรรมชาติทั้งหลาย ย่อมสอดคล้องกันเสมอ.

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ กับสิ่งที่ตถาคตตรัสรู้ ต่างก็อิงกฎธรรมชาติเหมือนกัน เพียงแต่ว่า วัตถุที่อธิบาย มีคุณสมบัติต่างกันมาก, สิ่งหนึ่งเป็นวัตถุธาตุ อีกสิ่งหนึ่งเป็นจิตธาตุ.

ดังนั้น ความสอดคล้องกัน ของกฎธรรมชาติ ของนักวิทยาศาสตร์ กับกฎธรรมชาติของตถาคต ย่อมมีส่วนเหลื่อมที่เหมือนกัน และส่วนที่ต่างกัน. ส่วนเหลื่อมที่เหมือนกัน จะใช้อธิบายสิ่งที่เป็นวัตถุธาตุ หรือรูปธาตุ เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ ก็คือ มวล สสาร แรง พลังงาน, จึงสามารถใช้กฎฟิสิกส์ มาอธิบายร่วมกัน ได้. แต่ในส่วนจิตธาตุ หรือ จิตวิญญาณ ตถาคต มีกฎของตนเอง (อิทัปปัจจยตา – ปฏิจจสมุปบาท – อริยสัจสี่) ที่จะนำมาใช้.

 

แต่อย่างไรก็ตาม กฎธรรมชาติทุกกฎ ของตถาคต จะมีทิศทางเช่นเดียวกับกฎฟิสิกส์. เช่น กฎฟิสิกส์ บอกว่ามีแรงพื้นฐาน ของธรรมชาติ 4 ชนิด. ในด้านจิตวิญญาณ, วิเคราะห์จากคำพูดของพระองค์ ในหลายๆ พระสูตร ได้ข้อสรุปว่า แรงทางจิต (ซึ่งมีคุณสมบัติจินตภาพ) ก็แบ่งออกเป็น 4 ชนิด เช่นเดียวกัน คือ เจตนา-มนสิการ, ทิฎฐิ-ปัญญา, สติ-สมาธิ-ฌาน และ กรรม-วิบาก.

กฎแห่งความไม่แน่นอนของ ตำแหน่งและความเร็ว ของอนุภาค ใช้อธิบาย พฤติการณ์ของอนุภาค (ถ้ารู้ตำแหน่ง ก็จะไม่รู้อัตราความเร็ว ถ้ารู้อัตราความเร็ว ก็จะไม่รู้ตำแหน่ง), ตำแหน่งและความเร็ว ของการปรุงแต่งขันธ์-5 ก็ทำนองเดียวกัน. จะไม่มีอนุภาค 2 ตัว อยู่ซ้อนทับกัน ในเวลาเดียวกัน หรือ จะไม่มีเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ เกิดขึ้นพร้อมกัน. เมื่อนำสิ่งนี้ มาอธิบายพฤติการณ์ของมนุษย์ ก็จะได้คำตอบแบบเดียวกัน.

มนุษย์ทุกคน จะมีเวลาเป็นของตัวเอง มีตำแหน่งเป็นของตนเอง และ มีเหตุการณ์ที่เป็นของตัวเอง และ บุคคลแต่ละคน มีแรงที่มากระทำต่อจิต คือ เจตนา ทิฏฐิ สมาธิ และ วิบาก แตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อเวลา และตำแหน่ง สร้างความไม่แน่นอน ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมา.

มีอยู่หลายจุด ที่ผู้เขียนใช้คำว่า ข้อมูล (data) แทนผัสสะและการปรุงแต่ง ของ กระบวนการจิต มโน วิญญาณ และใช้คำว่า เหตุการณ์ (event) และ สนาม (field) ในความหมายของ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ มาเปรียบเทียบว่า ผัสสะที่เป็นเหตุให้เกิดกรรม และอาสวะกิเลสทั้งหลาย ก็คือเหตุการณ์ และสนาม ในแบบของจิตวิญญาณ หรือในโลกของจินตภาพ.

 

มุมมองแบบวิทยาศาสตร์ กับแบบพุทธศาสน์ ต่างก็ใช้ระเบียบวิธี มโนทัศน์สัมพัทธภาพ เช่นเดียวกัน. นับว่า มโนทัศน์สัมพัทธภาพ มีประโยชน์มาก สำหรับเหตุการณ์ ที่เกิดความขัดแย้งกัน และจำเป็นต้องตัดสิน เลือกข้างใดข้างหนึ่ง.

 

 

มีปัจจัยสัมพัทธภาพ อยู่หลายชุด ที่จะทำให้มโนทัศน์ มีคุณค่าและทรงพลัง. เช่น

 

การดำรงอยู่ของเวลา  “เวลาดำรงอยู่ เพราะมีการรับรู้” หลักการนี้เป็นจริง ก็ต่อเมื่อ มีผู้รับรู้ และรับรู้ในเวลาที่ ต่างกัน.

การไหลของเวลา  ขึ้นอยู่กับ มวล (mass) แรงโน้มถ่วง (gravity) และ ความเร็ว (velocity).

การวัดเวลา  จะได้ค่าแตกต่างกัน เพราะผู้ทำการวัด และสิ่งที่จะวัด, ตำแหน่งพิกัด ของผู้ทำการวัด และสิ่งที่จะวัด, ความเร็ว ในการเคลื่อนที่ของ ผู้ทำการวัด และสิ่งที่จะวัด, แรงโน้มถ่วง และความเร่ง.

ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง  จะสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ในเรื่องของ ระยะทาง – ทิศทาง พิกัดตำแหน่ง และ เวลา – ความเร็ว.

กรอบอ้างอิงของเหตุการณ์  มี 4 แบบ คือ กรอบอ้างอิงโลก, กรอบอ้างอิงควอนตัม, กรอบอ้างอิงสัมพัทธภาพ-ความโน้มถ่วง, กรอบอ้างอิงจินตภาพ.

การสื่อสารข้อมูล  จากแหล่ง ก. ไปยังแหล่ง ข. อยู่ภายใต้เงื่อนไข พิกัด ตำแหน่ง, อัตราความเร็วในการเคลื่อน และ เสถียรภาพของข้อมูล.

 

เมื่อจะนำ มโนทัศน์สัมพัทธภาพไปใช้ ต้องแทนค่า องค์ประกอบทั้ง 4 ข้อ ให้ถูกต้อง เหมาะสม เสียก่อน. องค์ประกอบ 4 ข้อ ได้แก่ เวลา วัตถุ-บุคคล ตำแหน่ง-พิกัด ของผู้สังเกต และผู้ถูกสังเกต และ เหตุการณ์-อารมณ์ เหตุการณ์ที่จะทำให้ เวลา และ ผู้สังเกต ผู้ถูกสังเกต มีความสัมพันธ์กัน หรือความพัวพันกัน.

 

ตัวอย่างคำถาม เพื่อต้องการวัดมโนทัศน์ และ ทักษะการประมวลผล อันเกิดจาก การนำมโนทัศน์สัมพัทธภาพ มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ.

 

คำตอบที่ได้ อยู่ในเงื่อนไขต่อไปนี้ –

ความถูกต้อง สมเหตุสมผล,
ความละเอียดรอบคอบ ครบถ้วน,
ความเร็วในการตอบ,
ความสละสลวยของภาษา ในการเรียบเรียงข้อมูล
.

ให้ตอบโดย จำเป็นที่สุด หรือ มีจำนวนข้อขององค์ประกอบ น้อยที่สุด.

 

คำถามคือ “มีปัจจัยที่เป็น องค์ประกอบ อะไรบ้าง ที่จะทำให้เราได้กินมะพร้าว ?” [ คำว่า องค์ประกอบ หมายถึง กลุ่มของข้อมูลย่อย ที่มีจำนวนสมาชิกที่แน่นอน และมีระดับความสำคัญเท่ากันหมด จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้. กลุ่มของข้อมูลย่อยเหล่านั้น เมื่อนำมารวมกันแล้ว จะเกิดความหมาย เกิดคุณค่าที่ทรงพลัง. ]

 

“มีปัจจัยที่เป็น องค์ประกอบอะไรบ้าง ที่จะทำให้เราได้กินมะพร้าว ?”

ตอบ - จะต้องมีองค์ประกอบ อย่างน้อยที่สุดกี่ข้อ ที่จะทำให้เราได้กินมะพร้าว
...
...

เฉลย -

จะต้องมี องค์ประกอบ อย่างน้อยที่สุด 6 ข้อ ที่จะทำให้เราได้กินมะพร้าว คือ

1. มีต้นมะพร้าว

2. มีลูกมะพร้าว หรือทะลายมะพร้าว

3. ลูกมะพร้าว มีเมล็ดที่สมบูรณ์ (มีเยื่อ มีน้ำ)

4. มีแรงโน้มถ่วงของโลก

5. มีความอยากกิน หรือ ความอยากได้ไว้กิน หรือ ความอยากได้ให้คนอื่นไว้กิน

6. มีความชอบธรรมที่จะได้กิน หรือ มีการสละสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ (ให้) เช่น ถ้าต้นมะพร้าวมีเจ้าของ และเจ้าของอนุญาตแล้ว, ถ้าต้นมะพร้าวขึ้นเองในป่า หรือไม่มีเจ้าของ, ถ้าเราเป็นเจ้าของต้นมะพร้าวนั้น.

 

 
[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

(ฉ)
มหัศจรรย์แห่งคำของตถาคต (พุทธวจน)

 

การแก้สมการได้สำเร็จ หรือผลการทดลองมีความเสถียร ได้ผลแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะทดลองกี่ครั้งก็ตาม. คำทำนายในอดีต ได้รับการพิสูจน์ว่าจริงในปัจจุบัน. สิ่งเหล่านี้ ถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุด ของการศึกษาค้นคว้า ทางด้านวิทยาศาสตร์. แต่ในทางพุทธศาสน์นั้น การได้ความหลุดพ้น ถือว่า เป็นเป้าหมายสูงสุด ของผู้ปฏิบัติธรรม.

 

ปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้ปฏิบัติจะรู้ได้อย่าไร ว่าตนเองบรรลุได้ธรรมะขั้นใด ระดับใด. ความรู้ชนิดนี้ เรียกว่า “รู้แจ้ง

 

การรู้แจ้ง ต้องได้รับการรับรองจากตถาคตเท่านั้น. เพราะพระองค์ เป็นต้นกำเนิด ของบทบัญญัติ ของการบรรลุธรรม. พระองค์จะอธิบายคุณลักษณะ คุณสมบัติ และอาการ ของการได้บรรลุธรรมไว้เป็นระบบ เป็นลำดับ เป็นขั้นตอน ดุจเดียวกับทางลาดขึ้น ทางลาดลงของภูเขา. การปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น จะไม่มี 'ทางลัด' แต่อาจมี 'ความเร็ว' สำหรับผู้ปฏิบัติบางคน (ที่มีพื้นฐานทางด้านปัญญา หรือสมาธิจิต มาเป็นอย่างดี).

 

ตถาคต จะวางรูปแบบโครงสร้างประโยค แบบเดียวกับ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์. โดยใช้กฎอิทัปปัจจยตา เป็นประโยคหลัก แล้วแทนค่าด้วย ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ-4 ขันธ์-5.

 

ตัวอย่างที่หนึ่ง, เมื่อ สิ่งนี้ มี, สิ่งนี้ จึงมี. เมื่อ สิ่งนี้ ดับไป, สิ่งนี้ จึงดับไป. คำว่า 'สิ่งนี้' ก็คือตัวแปร สำหรับให้คำอื่น มาวางแทนกันได้.

ตัวอย่างที่สอง, การนำ ปัจจัย การเกิด-ดับ ของปฏิจจสมุปบาท ไปเป็นตัวแปร ใส่ลงไปใน ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และ ทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ของอริสัจ-4.[04]

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ทั่วถึงซึ่ง ชาติ, รู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งชาติ, รู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชาติ, รู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งชาติ ...”  (ในกรณีของ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขาร อวิชชา ก็กล่าวในทำนองเดียวกัน ถัดจากนั้นก็อธิบายความหมายของปัจจัยใน ปฏิจจสมุปบาท ทุกอัน).

ตัวอย่างที่สาม, การนำ ญาณวัตถุ ไปเป็นตัวแปรใส่ลงไปใน ปฏิจจสมุปบาท และ อริยสัจสี่. (บาลี - นิทาน. สํ. 16/67/118.)

 


[04]  ดูรายละเอียดใน “พระโสดาบัน คือ ผู้เห็นชัดรายละเอียดแต่ละสาย ของปฏิจจสมุปบาทตลอดทั้งสาย โดยนัยแห่งอริยสัจสี่ (เห็นตลอดสาย นัยที่สอง).” พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 2. [ ซอฟต์แวร์ ].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 49-62. | บาลี - นิทาน. สํ. 16/51/91.

 

การวางคำที่เป็นตัวแปร แทนลงไปใน 'สิ่งนี้' บ้าง, แทนลงไปใน อริยสัจ-4 บ้าง จะทำให้ธรรมะชั้นลึกๆ ได้รับการขยายความชัดเจน. เกิดหัวข้อธรรม ที่ถูกจัดวางเป็นกลุ่ม มีความสอดคล้อง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน ซึ่งมีชื่อเรียกอีกมากมาย. เช่น ญาณวัตถุ 44, โพธิปักขิยธรรม 37, สติปัฏฐาน 4, เป็นต้น. นอกจากนี้ พระองค์ยังได้บัญญัติชื่อของข้อธรรม ให้เป็นส่วนขยาย อีกมากมายหลายชื่อ.

 

หัวข้อธรรม ทั้งที่เป็นประโยคหลัก ตัวแปร ส่วนขยายเหล่านี้ จะถูกจัดเป็นส่วนๆ สำหรับผู้ปฏิบัติ นำไปใช้อ้างอิงว่า ตนเองได้บรรลุธรรมขั้นใด ระดับใด.

 

คำของตถาคต (พุทธวจน) เป็นภาษาที่มีลำดับศักดิ์สูงสุด ยิ่งกว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือบทกฎหมายใดๆ. การดัดแปลงคำของพระองค์ ไม่ว่าจะแต่งขึ้นใหม่ ตัด เติม แก้ไข ก็เป็นสิ่งไม่ควรทำ. เพราะเท่ากับเป็นการละเมิด บทบัญญัติสูงสุด.

 

เหตุที่กล่าวว่าพุทธวจนะ เป็นบทบัญญัติที่มีศักดิ์สูงสุด ก็เพราะ

(1) มีรูปแบบโครงสร้างตายตัว เป็นอมตะ ไม่จำกัดกาล ส่งผลให้ทุกคำพูดมีความเป็นอมตะไปด้วย

(2) เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา ไม่มีผู้รู้คนใดจะอธิบายสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง ได้ดีไปกว่าผู้เป็นต้นบัญญัติ ซึ่งก็คือตถาคตนั่นเอง.

(3) เป็นเสมือนศาสดา ของพุทธศาสนา เมื่อศาสดาปรินิพพานแล้ว “ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”  (บาลี - มหา. ที. 10/178/141.)

(4) ธรรมะที่ตถาคตตรัสรู้ เป็นสิ่งที่ ไม่มีมนุษย์คนใดพบเห็นมาก่อน, แต่ก็ทำให้คนพ้นทุกข์ได้จริง จึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ที่ต้องได้รับการปกป้องเป็นอย่างดี.

(5) ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หลายเรื่อง ยังคงถูกปกปิดอยู่ แต่ธรรมและวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว จะต้องได้รับการเปิดเผย. “ตถาคต ย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งธรรมธาตุนั้น (ปฏิจจสมุปบาท) แล้ว, ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมตั้งขึ้นไว้ ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ.”

(6) ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หลายเรื่อง เป็นการศึกษา 'ความรู้ ในความรู้' และ 'ความจริง ในความรู้' แต่ธรรมและวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว เป็นการศึกษา 'ความรู้ ในความจริง' และ 'ความจริง ในความจริง' ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่า.

 

 
[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

(ช)
กงล้อธรรมจักร ยังคงหมุนต่อไป พร้อมกับการพัฒนาของ ปัญญาประดิษฐ์
(AI)

 

วิทยาการด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้เข้าไปตอบสนองความต้องการ ในการพัฒนาอุตสาหกรรม การสื่อสาร การคมนาคม ตลอดจนการแพทย์ อย่างไม่หยุดยั้ง. นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ มุ่งค้นหาดาวเคราะห์ดวงใหม่ ที่เอื้อต่อการมีชีวิต ทำให้โครงการ ทางด้านอวกาศสหรัฐอเมริกา ยุโรป รัสเซีย จีน มีการลงทุนเพื่อการพัฒนาการ ยานสำรวจและยานขนส่งอุปกรณ์ รวมทั้งมนุษย์ ออกสู่อวกาศ. โดยมีนัยแฝงว่า โลกมนุษย์ใบนี้น่าจะเป็น อุปสรรค ต่อการขยายเผ่าพันธุ์มนุษย์ ในอนาคต.

โครงการแรก ที่มนุษย์จะต้องทำให้ได้คือ การไปเยือนดาวอังคาร. ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ต่างระดม สร้างเครื่องมือ เครื่องจักรกล ห้องทดลอง ศูนย์วิจัยทางด้านอวกาศ ตลอดจนนักบินอวกาศ เพื่อค้นหาโลกอื่น, แต่ตถาคต ได้พบโลกใหม่ มากว่า 2,500 ปีแล้ว.

 

ทั้งนักวิทยาศาสตร์และพระพุทธเจ้า ต่างก็มีจุดหมายเดียวกัน ในการค้นหาโลก อันเป็นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ แต่การไปสู่โลกแห่งใหม่ อันศิวิไลซ์นี้ กลับมุ่งหน้ากันไปคนละทิศทาง ชนิดตรงกันข้าม. นักวิทยาศาสตร์ ต้องสร้างยานขนส่ง ที่มีความเร็วเท่ากับ หรือเร็วกว่าแสง พาคนไปยังเป้าหมาย ที่แสนไกล, แต่ตถาคต พาคนปฏิบัติตามวิถีทาง ที่พระองค์บัญญัติ เพื่อไปสัมผัสกับ เป้าหมายใกล้แค่เอื้อม ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่. ความสุขที่มนุษย์จะได้รับ ในโลกแห่งใหม่นี้ แตกต่างกันอย่างแน่นอน.

 

โลกใหม่แบบวิทยาศาสตร์ ต้องแบก ต้องขน ต้องตอบสนอง ด้วยวัตถุ เป็นความสุขที่หนักและเหนื่อย, แต่โลกใหม่แบบพุทธศาสน์ คือ โลกที่เป็นร่างกายของมนุษย์เรานี่เอง ไม่ต้องแบก ไม่ต้องขน ไม่ต้องตอบสนองด้วยวัตถุ เพียงแค่รู้จักปล่อยวางภาระบางอย่าง ก็เป็นความสุขที่เบา สว่าง สะอาด และสงบเย็น.

 

การพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอันทันสมัย ย่อมต้องพบกับอุปสรรค ด้านงบประมาณลงทุนสูง ต้องยอมสูญเสียเวลา ในการรอผลสำเร็จ จากการทดลอง ตลอดจน การสนับสนุนจากรัฐบาล.

พุทธศาสนา มุ่งแก้ปัญหา ความทุกข์ทางใจของมนุษย์ ส่วนหนึ่งมาจาก การตกเป็นทาสของเทคโนโลยี และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ไปในทางที่เป็นโทษ. การเผยแผ่พุทธศาสนา ก็พบกับอุปสรรคเช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่เรื่องงบประมาณ หรือเรื่องเวลา. อุปสรรคสำคัญก็คือ ปัญหาทางด้านความเชื่อ และวัฒนธรรม ขนบประเพณีทางสังคม ระหว่างผู้นับถือศาสนาแนวอนุรักษ์นิยม (ยึดถือความเห็นที่ทำตามๆ กันมา) กับผู้นับถือศาสนาแนวคลาสสิค (ยึดถือคำสอนดั้งเดิมของศาสดา).

ฝ่ายผู้นับถือศาสนา แนวอนุรักษ์นิยม มีทั้งอำนาจทางกฎหมาย การเมือง และมีจำนวนปริมาณ เหนือกว่า ผู้นับถือศาสนาแนวคลาสสิค มากมายหลายเท่า. ฝ่ายอนุรักษ์ มุ่งพิทักษ์คำสอน ตามแนวอาจารย์ของตน ซึ่งเป็นสาวก. ความต่างศักดิ์กัน ในด้านอำนาจและปริมาณ ก่อให้เกิดอุปสรรค ต่อการเผยแผ่ศาสนา ตามแนวคลาสสิค ที่มุ่งเน้นคำสอนดั้งเดิม ของพระศาสดา และก่อเกิดความขัดแย้ง ในทางการเมืองตามมา.

 

ปัญหาและอุปสรรค อันเกิดจากแรงต้าน ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทำให้ฝ่ายที่นับถือ ศาสนาแนวคลาสสิค จำเป็นต้องปฏิรูป วิถีปฏิบัติของตนเองเสียใหม่ เพื่อปกป้อง สวัสดิภาพของฝ่ายตน และเป็นการเผยแผ่ศาสนาเชิงรุก. จึงยกระดับ การเป็นผู้นับถือศาสนา แนวคลาสสิค ไปเป็น กลุ่มผู้ปฏิบัติศาสนาแนวปฏิรูป. (แต่ไม่ใช่ สัทธรรมปฏิรูป)

 

ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง 2 สำนัก ที่โดดเด่นในขณะนี้ คือ กลุ่มสมณะและชุมชนชาวอโศก และ กลุ่มผู้เผยแผ่พุทธวจน วัดนาป่าพง.

 

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ สมณะชาวอโศก (สันติอโศก) กับ การเผยแผ่พุทธวจน ของพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล วัดนาป่าพง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ปฏิบัติศาสนาแนวปฏิรูป ซึ่งต่างก็อ้างว่า เป็นเนื้อแท้ของพุทธศาสน์ ด้วยกันทั้งสองแห่ง. แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันบ้าง ในด้านวัฒนธรรม และวิถีปฏิบัติ ตลอดจนรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ แต่ทั้งสองแห่ง ก็ยังถือปฏิบัติธรรม และเผยแผ่พุทธศาสนา ทั้งในแนวกว้าง และแนวลึกมาตลอด กว่า 40 ปี.

ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา, ทั้งพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ และพระอาจารย์คึกฤทธิ์ ต่างก็เผชิญกับแรงกดดัน จากองค์กรปกครองสงฆ์ในประเทศไทย มาตลอด จากความเห็นที่แตกต่างกัน เกือบจะสิ้นเชิง. สมณะชาวอโศก ถือปฏิบัติเคร่งครัด ในศีลวัตรและการพากเพียรทางจิต ตลอดจน การสร้างสาธารณโภคี ก่อเกิด “สังคมบุญนิยม” ให้แก่ชาวคณะอโศก และประชาชนที่เลื่อมใส จนก่อเกิดชุมชนชาวพุทธขึ้น อย่างกว้างขวาง ในทุกภาคของประเทศไทย.

ขณะที่พุทธศาสนิกชน วัดนาป่าพง นำโดยพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล ถือปฏิบัติเคร่งครัดตามแนวพุทธวจน มุ่งปฏิบัติศีล สมาธิ ภาวนา ควบคู่ไปกับ การเผยแผ่คำของตถาคต จนกระทั่งก่อเกิด “สังคมพุทธวจน” อย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่นกัน.

 

จุดเด่นของสองสำนัก คือ สมณะและชาวชุมชนชาวอโศก มุ่งสร้างรูปธรรม ขึ้นมารองรับสังคมบุญนิยม ที่สามารถจับต้องได้ วัดค่าได้ ด้วยเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง. ส่วน กลุ่มผู้เผยแผ่พุทธวจน วัดนาป่าพง มุ่งอนุรักษ์และเผยแผ่คำสอน ที่เป็นต้นฉบับจริง ของพระพุทธเจ้า ด้วยการถือปฏิบัต ิอย่างเคร่งครัดตามพุทธวจน โดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสาร และการสื่อสารออนไลน์ มาเป็นช่องทางในการเผยแผ่.

 

สังคมบุญนิยม และ สังคมพุทธวจนะ ต่างก็มีองค์กรสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เช่น มูลนิธิ สมาคม บริษัท ชมรม กลุ่มฆราวาส สำหรับการสร้างความเสถียรภาพ ในการเผยแผ่ ตามวิถีทางของแต่ละแห่ง. สร้างผลกระทบอย่างมาก ต่อคณะสงฆ์กระแสหลัก ต่อองค์กรปกครองสงฆ์ในประเทศ เช่น มหาเถรสมาคม วัด สำนักสงฆ์ และกลุ่มองค์กรชาวพุทธอื่นๆ ที่ต่างไม่เห็นด้วย กับแนวทางของ พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ และ พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล.

ซึ่งผู้นำทั้งสองแห่ง ต่างถูกกล่าวโทษว่า ได้กระทำให้พุทธศาสนาผิดเพี้ยน (ผิดไปจากที่สงฆ์กระแสหลัก เคยยึดถือปฏิบัติกันมาแต่อดีต) ด้วยข้อหา อวดอ้างอุตตริมนุสธรรม ที่ไม่มีในตน และข้อหาอื่นๆ.

กระแสต้าน ที่มีต่อคณะผู้เผยแผ่พุทธศาสนาทั้งสองแห่งนี้ มีทั้งรุนแรงและหนักเบา แตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ คณะผู้เผยแผ่ทั้งสองแห่ง เลิกล้มหรือลดการพัฒนา ในวิถีปฏิบัติ ตามแนวทางของตนแต่อย่างใด. อุปสรรคเหล่านั้น กลับเป็นแรงหนุน ให้เกิดการพัฒนาองค์กรสงฆ์ภายใน อย่างต่อเนื่อง บังเกิดคุณภาพและปริมาณ ที่วัดค่าได้ อันเป็นผลมาจาก การถือปฏิบัติเคร่งในศีลวัตร ในพรหมจรรย์ และในพุทธวจนอย่างเคร่งครัด.

 

แนวทางพุทธวจน ได้ก่อให้เกิด การสังคายนา พระไตรปิฎกอีกครั้งหนึ่ง ส่วนแนวทางสันติอโศก ได้ก่อให้เกิด โมเดลสังคมอาริยะ (บุญนิยม) ที่แผ่ขยายไปสู่ การปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมแนวพุทธ และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเช่นกัน.

 

กล่าวได้ว่า แนวทางและวิถี แบบสังคมบุญนิยม และ แบบสังคมพุทธวจนะ เปรียบเหมือนการเข็นกงล้อธรรมจักรร่วมกัน. คณะสงฆ์ชาวอโศก และชุมชนบุญนิยม ได้ทำให้กงล้อธรรมจักร มีรัศมีของกงล้อใหญ่ขึ้น เพราะผลแห่งการปฏิบัติ และการเผยแผ่โครงสร้างในแนวกว้าง. คณะสงฆ์
วัดนาป่าพง และกลุ่มฆราวาส ได้ทำให้กงล้อธรรมจักร มีขนาดหน้ากว้าง เพราะผลแห่งการปฏิบัติ และการเผยแผ่ต้นธาตุต้นธรรม อันเป็นแก่นแท้ แห่งพุทธศาสน์ในแนวลึก.

 

กงล้อที่มีรัศมีขนาดใหญ่ ย่อมแล่นไปข้างหน้า ผ่านหลุมบ่อเล็กใหญ่ (อุปสรรค) ได้อย่างราบรื่นและนุ่มนวล มากกว่ากงล้อที่มีรัศมีขนาดเล็ก.

กงล้อที่มีหน้ากว้าง ย่อมตั้งอยู่และแล่นไปได้ อย่างมั่นคง ไม่โอนเอนหรือล้มได้ง่าย เพราะอิทธิพลแรงกระทบกระแทก ที่มากระทำ (อุปสรรค)

 

ส่งผลให้แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ดำเนินต่อไปได้ สมดังคำของตถาคตที่ว่า “ข้อนี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทั้งสิ้นทีเดียว คือความมีมิตรดี ความมีสหายดี ความมีเพื่อนผู้แวดล้อมดี”

 

นับว่าเป็นการสมควรแล้ว ที่นักวิทยาศาสตร์ มีขอบเขตศึกษา แค่เรื่องของวัตถุธาตุ. ถ้านักวิทยาศาสตรคนใดคนหนึ่ง ออกมาประกาศว่า ตนเองตรัสรู้ธรรมอันวิเศษ หรือค้นพบอนุภาคพระเจ้าแล้ว, ก็ไม่ทราบว่า จะวางพระพุทธเจ้า และพระเจ้าองค์อื่นๆ ไว้ตรงไหน. ขณะเดียวกัน ถ้าพระพุทธเจ้า ประกาศทฤษฎีสัมพัทธภาพ แทนไอน์สไตน์ และทฤษฎีบิ๊กแบง, ก็ไม่ทราบว่า จะมีนักวิทยาศาสตร์ไว้ทำไม เช่นกัน.

ภารกิจร่วมระหว่างวิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างสันติ.

 

 

บทความ – สรรพสิ่งสัมบูรณ์ ด้วยสัตตะธัมมะธาตุ : สัมพัทธภาพ ของ ความจริงสมมุติ กับ ความจริงปรมัตถ์

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

บทนำ – สัตตะธัมมะธาตุ : องค์รวมชีวิต ภายใต้ทฤษฎีเดียวกัน

บทที่ 1 วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์ : นวัตกรรมทางปัญญา ของเผ่าพันธุ์มนุษย์

1.1 พันธกิจของ วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์
1.2 สิ่งที่พุทธศาสน์ ค้นพบ อาจเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ กำลังค้นหา
1.3 ความจริงที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ อาจถูกลบล้างได้ตลอดเวลา
แต่ความจริงที่พระตถาคตตรัสรู้ เป็นความจริงแท้ตลอดกาล

บทที่ 2 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : มวลสาร พลังงาน 

2.1 มวล – อนุภาค
2.2 แรง – คลื่น
2.3 อุณหภูมิ – พลังงาน

บทที่ 3 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : มิติ กาลอวกาศ

3.1 มิติ กาลอวกาศ – รูปทรง
3.2 วัฎจักร – อนันต์

บทที่ 4 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : จิตธาตุ

4.1 นามรูป – วิญญาณ – สังขาร
4.2 วิมุตติ – นิพพาน

บทที่ 5 ฟิสิกส์แห่งจิตวิญญาณ

5.1 กายภาพของจิตวิญญาณ
5.2 กระบวนการปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย
5.3 การหลุดพ้น การบรรลุธรรม

บทที่ 6 กฎมูลฐานของธรรมชาติ

6.1 ความจริงสัมบูรณ์ ของ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
6.2 กฎของเวลา
6.3 กฎแห่งนิรันดร์
6.4 กฎสมดุล
6.5 สัมพัทธภาพ (Relativity)
6.6 กฎการอนุรักษ์ (Conservation law)
6.7 มาตรวัด กรอบอ้างอิง

บทที่ 7 ปรากฏการณ์สัมบูรณ์ของสรรพสิ่ง

7.1 ปรากฏการณ์ร่วม วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์
7.2 สัมพัทธภาพของ วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์

บทสรุป – สัตตะธัมมะธาตุ : ทฤษฎีเดียว อธิบายทุกสรรพสิ่ง

ประมวลศัพท์และคำสำคัญ

บทความ (สรุปจากหนังสือทั้งเล่ม)

 

 

 

  thinking focus new idea today
คำคม คำคิด แง่คิด ชีวิตดี
igood media
หน้าแรก - ชุมชน คนคิดดีวรรณกรรม - วิชาการ - บทความ เรื่องสั้น ร้อยกรอง เพลงภาพยนตร์ - บทภาพยนตร์ ภาพยนตร์ตัวอย่าง วิดีโอ มิวสิควิดีโอ
นิเทศศาสตร์ - วิชาเรียน บรรยาย ตำรา เอกสารการเรียน สื่อการเรียน ถาม ตอบ
 


igood media copyright
 
SUDIN CHAOHINFA, igoodmedia.net : Administration and Producer
Copyright © 2010-2021 intelligence good media homeschool.
All rights reserved. me@igoodmedia.net