igood media
หน้าแรก - ชุมชน คนคิดดีวรรณกรรม - วิชาการ - บทความ เรื่องสั้น ร้อยกรอง เพลงภาพยนตร์ - บทภาพยนตร์ ภาพยนตร์ตัวอย่าง วิดีโอ มิวสิควิดีโอ
นิเทศศาสตร์ - วิชาเรียน บรรยาย ตำรา เอกสารการเรียน สื่อการเรียน ถาม ตอบ

Blog film school

My Media channel

blog

1 หน้าแรก
2
บทความ
หนังสือเล่ม
ร้อยกรอง เพลง
3
บทภาพยนตร์
ภาพยนตร์สั้น
วีดิโอ มิวสิควีดิโอ
4
วิชาเรียน นิเทศศาสตร์
ตำราเอกสาร
สื่อการเรียน
 

 

 

 

บทนำ
สัตตะธัมมะธาตุ : องค์รวมชีวิต ภายใต้ทฤษฎีเดียวกัน

 

 

TOPIC

สสาร – พลังงาน, จิต – วิญญาณ, มิติ – กาลอวกาศ
กลไกชีวะ (bio-mechanics | bio-physiology)
มนุษย์กับการค้นพบ ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ศาสนา

[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]

 

 

สัตตะธัมมะธาตุ (ธัมมะธาตุ 7) คือ ปรากฎการณ์ของสรรพสิ่งสัมบูรณ์ ซึ่งมีความสัมพัทธ์กันระหว่างความจริงสองด้าน (ความจริงแท้ กับ ความจริงสมมุติ). สัตตะธัมมะธาตุ มี ลักษณะ–สมบัติ 7 ประการ ประกอบกันเป็นรูปนาม ที่มีความหลากหลาย ทั้งขนาดและรูปแบบ ตั้งแต่ อนุภาค อะตอม โมเลกุล เซลล์ วัตถุ สิ่งมีชีวิต ไปจนถึง ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ ระบบสุริยะ ดาราจักร จักรวาล (เอกภพ).

 

เราสามารถรับรู้ และเข้าถึงสัตตะธัมมะธาตุ ได้จากลักษณะ – สมบัติทั้ง 7 ประการ.

 

ลักษณะ–สมบัติ 7 ประการ ของ สัตตะธัมมะธาตุ ประกอบด้วย

(1)  มวล – อนุภาค (mass–particles)
(2)  แรง – คลื่น (force–wave)
(3)  อุณหภูมิ – พลังงาน (temperature–energy)
(4)  มิติ กาลอวกาศ – รูปทรง (dimension and spacetime–form)
(5)  วัฏจักร – อนันต์ (cycle–infinity)
(6)  นามรูป – วิญญาณ – สังขาร (mind and matter–consciousness–corporeality) และ
(7)  วิมุตติ – นิพพาน (integrity liberation | Nibbana).

 

 

 

การศึกษา สัตตะธัมมะธาตุ ก็คือ การศึกษา วัตถุธาตุ และ จิตธาตุ นั่นเอง. วัตถุธาตุ มี คุณสมบัติมูลฐาน 3 ข้อ (คุณสมบัติ ที่ไม่อาจแยกย่อยต่อไปได้) คือ ขนาด — มิติ, พื้นที่ – ความหนาแน่น, ตำแหน่ง – ความเร็ว. ส่วน จิตธาตุ ก็มีคุณสมบัติมูลฐาน 3 ข้อ เช่นกัน คือ ภพ – การอุบัติเกิด, สังขาร, วิมุตติ – นิพพาน. ซึ่งจะได้อธิบายรายละเอียดในบทต่อๆ ไป.

ตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธะ เรียกเอกภพว่า โลกธาตุ, ทรงแบ่งโลกธาตุ ออกเป็น 2 ระบบใหญ่ คือ สังขตธรรม (conditioned things) กับ อสังขตธรรม (unconditioned). ทำให้สรรพสิ่งในเอกภพ ถูกจำแนกคุณสมบัติออกเป็น 2 ระบบใหญ่เช่นกัน เรียกว่า ระบบสมมุติ หรือ สังขตธรรม กับ ระบบวิมุตติ หรือ อสังขตธรรม. ระบบสมมุติ จะให้คำนิยามแก่สิ่งต่างๆ ที่ปรากฎขึ้น – ดำรงอยู่ – ดับสลาย ไปตามเหตุปัจจัย. ระบบวิมุตติ จะให้คำนิยามคำว่า “นิพพาน” ซึ่งเป็นสิ่งพิเศษเพียงสิ่งเดียว ที่มีในเอกภพ และไม่สามารถนำกฎเกณฑ์ใดๆ ของระบบสมมุติ มาอธิบายได้.

 

การไม่หยุดนิ่งของเอกภพ ทำให้เอกภพกลายเป็น สิ่งเสมือนมีชีวิต (visual life), ชีวิตเสมือนของเอกภพ ช่วยให้เรามีมุมมองที่ชัดเจน และเข้าใจสรรพสิ่ง ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมองเห็นและเข้าถึงความจริงบางอย่าง ที่มนุษย์สัมผัสไม่ได้ หรือวิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้. กล่าวได้ว่า

 

สิ่งเสมือนมีชีวิต ที่อุบัติขึ้นในเอกภพ ต่างมีสมบัติและอาการพื้นฐานร่วมกัน 3 ประการ คือ

(1) มีการเกิด และมีการดับสลาย
(2) มีการดำรงอยู่ ในห้วงเวลาหนึ่ง และ มีการเสื่อมปรากฎ ในลำดับถัดมา
(3) มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา (ไม่มีสิ่งใดในเอกภพ หยุดนิ่ง ณ จุดเดียว).

 

 

สสาร – พลังงาน, จิต – วิญญาณ, มิติ – กาลอวกาศ

 

คำว่า สรรพสิ่ง (everything) หมายถึง ปรากฎการณ์ของ วัตถุ สสาร อนุภาค คลื่น รังสี แรง พลังงาน กาลอวกาศ ระบบ สิ่งมีชีวิต จิตวิญญาณ และรวมถึงลักษณะ – สมบัติต่างๆ. สรรพสิ่ง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็น รูปธาตุ และ นามธาตุ หรือ จิตธาตุ. หากเปรียบเทียบสรรพสิ่ง เหมือนข้อความประโยคหนึ่ง, สรรพสิ่ง ก็คือประโยคที่มีประธาน กริยา กรรม เป็นส่วนประกอบหลัก และมีส่วนขยาย เช่น คุณศัพท์ วิเศษณ์ วลี ซึ่งทำให้ประโยคสมบูรณ์ขึ้น. ส่วนที่เป็นประธาน และกรรม ก็คือรูปธาตุ ส่วนที่เป็นกริยาและส่วนขยาย เป็นนามธาตุทั้งหมด. สรรพสิ่ง มีลักษณะ – สมบัติ ร่วมกัน 7 ประการ ซึ่งต่อไปนี้ เรียกว่า สัตตะธัมมะธาตุ.

 

สัตตะธัมมะธาตุ แบ่งเป็น 3 กลุ่มมูลฐาน คือ
(1) ธาตุ สสาร แรง พลังงาน
(2) ชีวะ จิตวิญญาณ
(3) มิติ กาลอวกาศ.

 

ธัมมะธาตุที่จัดอยู่ในกลุ่ม ธาตุ สสาร แรง พลังงาน คือ ปรากฎการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติ ของสสารทุกขนาด ตั้งแต่อะตอม ไปจนถึงดาราจักร. สสารทั้งสองขนาด เล็กหรือใหญ่ เกินกว่าที่มนุษย์จะรับรู้ได้ เรียกว่า อนุภาคมูลฐาน (particle) ของสสาร เช่น ควาร์ก –quarks อิเล็กตรอน –electron มิวออน –muon เทา –tau นิวตริโน –neutrino อนุภาคที่เป็นพาหะของแรง (Bosons) เช่น กลูออน –gluon, โฟตอน –photon, w z boson, กราวิตอน –graviton. อนุภาคทั้งหมดนี้ จะถูกเหนี่ยวนำด้วยพาหะของแรง ทำให้มันรวมตัวกันเป็น อะตอม (atom) ซึ่งเป็นสสารมูลฐาน ของทุกสรรพสิ่งในเอกภพ.

โมเลกุล และ เซลล์ ประกอบกันเป็นวัตถุ ธาตุต่างๆ ดวงดาว กาแล็กซี่ และเทห์วัตถุทุกชนิด (planet, asteroid, exoplanet, meteor, solar star, black hole, quasar). นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ จะเป็นผู้อธิบาย สรรพสิ่งที่จัดอยู่ในกลุ่ม วัตถุสสาร แรง พลังงานทั้งหมด ด้วยทฤษฎีและวิทยาการ ทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (physical science).

หากมอง ธาตุ สสาร แรง พลังงาน ในฝั่งพุทธศาสน์ สิ่งเหล่านี้ ก็คือ รูปขันธ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ขันธ์-5. ธัมมะธาตุที่จัดอยู่ในกลุ่ม ชีวะ จิตวิญญาณ ก็คือสิ่งมีชีวิต ทั้งหมด เช่น จุลินทรีย์ พืช สัตว์ มนุษย์ รวมทั้ง เหตุการณ์ และสิ่งแวดล้อม ที่เป็นปัจจัยในการดำรงอยู่ของชีวิต (bio–life). ชีวะ จิตวิญญาณ จัดอยู่ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (biological science) ซึ่งจำแนกเรื่องราวต่างๆ ของ สิ่งมีชีวิต พืช สัตว์ และ สาขามนุษยศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา.

ธัมมะธาตุ กลุ่มธาตุ สสาร แรง พลังงาน และกลุ่ม ชีวะ จิตวิญญาณ จะถูกจัดรวมเข้าอยู่ใน มิติ กาลอวกาศ ของเอกภพ ซึ่งมีหนึ่งเดียว. ปรากฎการณ์ของสรรพสิ่ง ในมิติ กาลอวกาศ มักเป็นเรื่องยากแก่การเข้าใจ จึงจำเป็นต้องใช้ หลักการวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (natural science) มาช่วยอธิบาย ความเชื่อมโยงระหว่าง มนุษย์กับปรากฎการณ์ต่างๆ ที่แวดล้อมอยู่. ทุกๆ สิ่ง ที่อยู่ภายใน มิติ กาลอวกาศ จะหลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันของธัมมะธาตุ ซึ่งอาจเรียกได้หลายชื่อ เช่น โลก โลกธาตุ จักรวาล ดาราจักร.

 

กล่าวโดยสรุป ธัมมะธาตุทั้ง 3 กลุ่มมูลฐานข้างต้น จัดอยู่ในระบบสมมุติ ซึ่งเรียกว่า สังขตธรรม. ส่วนธัมมะธาตุที่จัดอยู่ในระบบ อสังขตธรรม เป็นอีกสิ่งสิ่งหนึ่ง ที่ไม่อาจนำกฎเกณฑ์ หรือคำอธิบายของระบบสังขตธรรม มาอธิบายได้เลย ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียด ในบทที่ 4 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของ สัตตะธัมมะธาตุ : จิตธาตุ หัวข้อที่ 4.2 วิมุตติ-นิพพาน.

 

 

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่า เอกภพ มีขนาดอยู่ขนาดหนึ่ง แต่ไม่มีขอบเขต ตามข้อเสนอของ สตีเฟ่น ฮอว์กิง (Stephen Hawking : 1942 – 2018 A.D.) ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ทฤษฎี และจักรวาลวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. ภายในเอกภพ ไม่อาจนับจำนวนของ ดาราจักร ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และเทหวัตถุต่างๆ ได้ครบถ้วน.

นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ได้พยายาม สร้างแบบจำลองของเอกภพขึ้น เพื่ออธิบายรูปร่างลักษณะและขนาดของเอกภพ ตลอดจนบอกเล่าอดีตและอนาคตของเอกภพ แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้. แต่ที่นักวิทยาศาสตร์พอจะบอกได้ขณะนี้ ก็คือ วัตถุสสารที่ถูกค้นพบ และได้รับการยืนยันแล้ว ว่ามีอยู่จริง มีจำนวนเพียงเล็กน้อย คือ เป็นแก๊สต่างๆ มีเพียงร้อยละ 4 และที่เป็นดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ และวัตถุอื่นๆ ที่สังเกตได้ เพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกกว่าร้อยละ 95 นั้น ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดว่าคืออะไร. แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์-ดาราศาสตร์ กำลังได้รับการเปิดเผยตลอดเวลา จากภาพถ่ายดาวเทียม อันทรงพลังและทันสมัย นับสิบดวง และห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์.

มีพลังงานบางอย่าง ที่ดึงดูดให้ดาวต่างๆ และกาแล็กซี่ รวมตัวกันเป็นกระจุกได้ และในขณะเดียวกัน ก็ผลักให้เอกภพขยายตัวออกไปได้เรื่อยๆ. พลังงานลึกลับเหล่านี้ มีมากถึง ร้อยละ 71.5 และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถจับต้องได้ จึงเรียกมันว่า พลังงานมืด (dark energy) และ วัตถุมืด (dark matter). อีกร้อยละ 24 ที่เหลือ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า คือ พื้นที่ซ้อนทับกันของ เอกภพคู่ขนานกัน (multiverse). กลุ่มของดาวฤกษ์นับล้านดวง ที่เรียกว่า ดาราจักร หรือ แกแล็กซี (galaxy) นั้น เต็มไปด้วย สสาร แก๊ส ฝุ่น และ สสารมืด ที่แทรกอยู่ระหว่างดวงดาวต่างๆ. ในดาราจักรหนึ่งๆ ยังประกอบไปด้วยหลุมดำ ระบบดาวหลายดวง กระจุกดาวจำนวนมาก และเมฆระหว่างดาวหลายประเภท. นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ในเอกภพที่สังเกตได้ มีดาราจักรอยู่ประมาณ หนึ่งแสนล้านดาราจักร.

 

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ และเชื่อว่า เอกภพ มีอยู่อย่างไร้ขอบเขต นับประมาณไม่ได้นั้น สอดคล้องกับสิ่งที่ ตถาคต ตรัสรู้. สิ่งลี้ลับอย่างไร้ขอบเขต ที่นักวิทยาศาสตร์ ยังไม่รู้จักนั้น มีอยู่ในมิติ กาลอวกาศ ที่ไหนสักแห่ง อาจเป็นสิ่งที่พระองค์ เรียกว่า ภพภูมิเทวดา พรหม อบาย. รวมถึง หน่วยวัดระยะ วัดขนาด ในระดับเอกภพ (ปีแสง) ก็ยังน้อยกว่า หน่วยวัด ที่พระองค์ยกขึ้นมาเปรียบเทียบ เช่น หน่วยเวลา – กัป, หน่วยจำนวน – โกฏิ, หน่วยพื้นที่ – จักรวาล หรือ โลกธาตุ.

 

 

•  พุทธวจน – อานิสงส์ของผู้มีจิตเลื่อมใสในตถาคต

อานนท์ ! ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ แผ่รัศมีส่องแสงให้สว่างไปทั่วทิศ กินเนื้อที่ประมาณเท่าใด โลกมีเนื้อที่เท่านั้น มีจำนวนพันหนึ่ง ในพันโลกนั้น มีดวงจันทร์พันดวง ดวงอาทิตย์พันดวง ภูเขาสิเนรุพันลูก ชมพูทวีปพันทวีป อมรโคยานพันทวีป อุตรกุรุพันทวีป ปุพพวิเทหะพันทวีป มหาสมุทรสี่พัน มหาราชสี่พัน จาตุมมหาราชิกาพันหนึ่ง ดาวดึงส์พันหนึ่ง ยามาพันหนึ่ง ดุสิตพันหนึ่ง นิมมานรดีพันหนึ่ง ปรนิมมิตวสวัตตีพันหนึ่ง พรหมพันหนึ่ง นี้เรียกว่า สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุ (โลกธาตุอย่างเล็ก มีพันจักรวาล) สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุ มีขนาดเท่าใด โลกธาตุขนาดเท่านั้น คำนวณทวีขึ้นโดยส่วนพัน นั้นเรียกว่า ทวิสหัสสีมัชฌิมิกาโลกธาตุ โลกธาตุอย่างกลาง มีล้านจักรวาล) ทวิสหัสสีมัชฌิมิกาโลกธาตุ มีขนาดเท่าใด โลกธาตุขนาดเท่านั้น คำนวณทวีขึ้นโดยส่วนพัน นั้นเรียกว่า ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ (โลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณแสนโกฏิจักรวาล)

ที่มา : พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 11 หน้า 501. | บาลี - ติก. อํ. 20 / 292 / 520.

 

 

ภาพที่ 1.01 กรวยเวลา แสดงวงจรชีวิตของเอกภพ (การก่อเกิด การดำรงอยู่ และการดับสลาย) ภาพจาก Cosmic Questions - NATIONAL GEOGRAPHIC (Copyright April 2014 by NATIONAL GEOGRAPHIC Society)

 

 

เอกภพ ประกอบด้วย อวกาศและเวลา ที่ไม่อาจแยกจากกันได้ นักฟิสิกส์ – ดาราศาสตร์สมัยใหม่ ค้นพบความจริงว่า อวกาศกับเวลา เป็นส่วนผสมที่มีลักษณะ สัมพัทธภาพ ซึ่งกันและกัน. ผู้สังเกตสองคน มองสิ่งที่ถูกสังเกต สิ่งเดียวกัน (สิ่งเดียวกัน มีสมบัติเป็น อวกาศ – เวลา) ย่อมได้ข้อสรุปแตกต่างกัน เพราะเหตุ อวกาศกับเวลา มีความสัมพัทธกัน.

ปัจจัยในด้านขนาดและระยะ ทำให้อวกาศและเวลา ของสิ่งที่ถูกสังเกต มีความไม่สัมบูรณ์ โดยเฉพาะ สิ่งที่มีขนาดใหญ่ระดับเอกภพ กับ สิ่งที่มีขนาดเล็กระดับอะตอม. มนุษย์ ไม่สามารถหยั่งรู้ขอบเขต ของเอกภพที่กว้างใหญ่นั้นได้ และถ้าจะเปรียบเทียบ ขนาดและระยะ ระหว่าง ตัวเรา (me) และ โลกของเรา (earth) กับ เอกภพ (universe) ไม่อาจเปรียบเทียบกันได้เลย.

 

สรรพสิ่งบนโลกมนุษย์ เกิดขึ้นและวิวัฒนาการ อย่างต่อเนื่อง ทำให้โลกกลายเป็นดาวเคราะห์ ที่เอื้อต่อการมีชีวิตและการดำรงอยู่ ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ภูมิอากาศ และอิทธิพลจากการแผ่รังสี. วัตถุสสาร และ สิ่งมีชีวิต มีระบบชีวิตที่หลากหลาย และแตกต่างกัน. ไวรัส จุลินทรีย์ พืช สัตว์ มนุษย์ ก็มีระบบชีวิต หรือ วงจรชีวิตอีกแบบหนึ่ง.

หากเปรียบเทียบมนุษย์และสัตว์ทั้งมวล เป็นโลกใบเล็กๆ ใบหนึ่ง (micro earth | micro world) ที่ดำรงอยู่ และโคจรอยู่บนผิวโลก ซึ่งเปรียบเหมือนระบบสุริยะ, มนุษย์แต่ละคน สัตว์แต่ละตัว ก็คือ ฝุ่นละออง ซึ่งภายในประกอบด้วย ธาตุชนิดต่างๆ และ จิตวิญญาณ. ตราบใด ที่นักวิทยาศาสตร์ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เกี่ยวกับหลุมดำ บิ๊กแบง และขอบเขตของเอกภพ, การค้นหา วิวัฒนาการของมนุษย์ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เพราะองค์ประกอบด้านจิตวิญญาณ การระลึกชาติ ของมนุษย์ และชีวิตหลังการตายของมนุษย์ ยังคงเป็นปริศนา สำหรับนักวิทยาศาสตร์เช่นกัน.

 

 

โลก เป็น อนุภาคฟุ้งฝอย (particles)
ที่ลอยวน (stability) อยู่ใน จักรวาล (universe)
โลก เป็น อะตอมหนึ่ง (atom)
ในแกแลกซี่ ทางช้างเผือก (Milky-way Galaxy)
โลก เป็น เซลล์หนึ่ง (cell) ของ ระบบสุริยะ (Solar system)
โลก เป็น ที่อยู่อาศัย (home) ของ ระบบชีวิต (Life system)
โลก เป็น อาณาจักร ของจิต วิญญาณ

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

กลไกชีวะ (bio-mechanics | bio-physiology)

 

จุลินทรีย์ พืช สัตว์ มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เราเข้าใจกันดี แต่ถ้าจะนิยามความหมายของชีวิต ในขอบเขตที่เล็กระดับอะตอม หรือใหญ่ระดับกาแล็กซี่ ก็คงจะเข้าใจยากขึ้นไปอีก. เพราะถ้าพูดในภาพรวมขนาดใหญ่ระดับเอกภพ เราจะต้องนิยามคำว่าชีวิต ให้กว้างกว่านี้. ผู้เขียน มีคำอธิบายเกี่ยวกับชีวิต ผ่านกรอบอ้างอิงชีวิต 4 ขนาด (Life system 4 references) [01] คือ ชีวิตจักรวาล – ควอนตัม ชีวิตจักรกล ชีวิตแบบโลก และ ชีวิตระบบขันธ์-5, ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้ครอบคลุม ทุกขอบเขตของจักรวาล.

 


[01]  อาจมีการโต้แย้งว่า สิ่งมีชีวิต แตกต่าง กับวัตถุ สสาร ชัดเจนอยู่แล้ว หากนิยาม สิ่งที่ไม่มีชีวิตอื่น ว่ามีชีวิต อาจสร้างความสับสน. ข้อนี้ให้เหตุผลว่า ระบบชีวิตระดับเอกภพ ประกอบด้วย ธาตุ ดวงดาว กาแลกซี่ ซึ่งมีการเคลื่อนไหว ในวงโคจรของตัวเอง เป็นระบบชีวิต ในกรอบอ้างอิงขนาดใหญ่ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ในความหมายระดับ กรอบอ้างอิงโลก.

 

องค์ประกอบของชีวิต ทั้งในระดับอะตอม และระดับจักรวาล มาจากธาตุต่างๆ ที่เป็นสสารและพลังงาน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเป็นวัฏจักร คือ เกิด เสื่อม ดับสลาย กลายเป็นธาตุอื่น ภายใต้แรงดัน และอุณหภูมิ. การเกิดขึ้น และการเปลี่ยนสถานะของธาตุต่างๆ ก็คือระบบชีวิตแบบหนึ่ง แต่เป็นชีวิตของสสารและการแลกเปลี่ยนพลังงาน. แนวคิด กลไกชีวิต 4 ขนาด สอดคล้องกับ ทฤษฎีกายา (Gaia theory). ทฤษฎีนี้กล่าวว่า โลกเป็นองค์รวม สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ภายใต้ระบบกลไกการควบคุมตัวเอง (self-regulating system). [02]

 

นี่คือกฎพื้นฐานของธรรมชาติ สอดคล้องกับ ไตรลักษณ์ และสังขตธรรม ในพุทธศาสนา. ธาตุต่างๆ มิได้อยู่นิ่ง หรืออยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ต่างอาศัยกันและกันเกิด เสื่อม เปลี่ยนแปลง วนเวียนเป็นวัฏจักร ตามกฎ อิทัปปัจจยตา. [03]

 


[02]
 ทฤษฎีนี้ เสนอโดย เจมส์ เลิฟลอค (James Lovelock: 1919 A.C.) ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของชั้นบรรยากาศ. ดู ณัฐฬส วังวิญญู. (2533). ทฤษฎีกายา (Gaia Theory) โลกมีชีวิตในตัวเอง. [ออนไลน์]. สุขใจดอทคอม แหล่งสืบค้น

http://www.sookjai.com/index.php?PHPSESSID=s 0 keg 42 ltaoq 8 mrik 5 q 7 dmhhi 7 &topic=2988.0 สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2561.

[03]  อิทัปปัจจยตา คือหลักความเป็นเหตุ เป็นผล (causality) ของธรรมชาติโดยแท้, เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป. สองเหตุการณ์ จะมีความสัมพันธ์กัน โดยที่อันนึ่งเป็น “เหตุ” อีกอันหนึ่งเป็น “ผล” และเกิดขึ้นตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ คือ เหตุ เกิดก่อน ผล.

 

 

สิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” (อาจไม่ใช่ สิ่งมีชีวิต ) มีคุณลักษณะพื้นฐาน 3 ข้อ คือ (1) มีการเกิดปรากฎ และ มีการตาย (2) มีการดำรงอยู่ ในห้วงเวลาหนึ่ง และระหว่างนั้น มีการเสื่อมปรากฎ (3) มีตัวขับเคลื่อน (กรรม) เป็นปัจจัยในการเกิด เสื่อม ดับสลาย ไปสู่การเกิดใหม่ ต่อเนื่องเป็นวัฏจักร

 

 

ชีวิต ในทุกกรอบอ้างอิง จึงเป็นปรากฎการณ์ที่มี “การเคลื่อนไหว” และผูกติดกับเวลาเสมอ. การเคลื่อนไหวดังกล่าว คือสิ่งที่ ตถาคต เรียกว่า สังขตลักษณะ 3 ประการ คือ (1) อุปฺปาโท ปัญฺญายติ – มีการเกิดปรากฎ, (2) วโย ปัญฺญายติ – มีการเสื่อมปรากฎ, (3) ฐิตสฺส อัญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ – เมื่อตั้งอยู่ มีภาวะอย่างอื่นปรากฎ (มีความแปรปรวน).

 

การเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้ ระบบชีวิต ในแต่ละกรอบอ้างอิง มี “ตัวขับเคลื่อน” แตกต่างกัน, กรอบอ้างอิงชีวิต 4 ขนาด ได้แก่.

 

(1) ชีวิตจักรวาล – ควอนตัม (extraterrestrial - extreme life system) เป็นระบบชีวิตที่มี ขนาด ระยะ และทิศทาง เกินกว่ามิติที่สาม ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถเข้าถึง หรือสัมผัสรับรู้ ด้วยประสาทสัมผัสแบบปกติได้, ได้แก่ ระบบชีวิตของ เอกภพ – กาแล็กซี – สุริยะ และระบบชีวิตของ อะตอม – อนุภาค. ชีวิตจักรวาล – ควอนตัม มี แรงโน้มถ่วงควอนตัม และ นิวเคลียส เป็นตัวขับเคลื่อน.

 

ภาพ - ชีวิตจักรวาล-ควอนตัม

 

เอกภพ มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา จัดเป็น สังขารธรรม อย่างหนึ่ง ที่มีชีวิต . วงจรชีวิตของ ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กาแลคซี่ หลุมดำ ควอซาร์ พัลซาร์ ยาวนานมาก เมื่อเทียบกับระบบชีวิตในกรอบอ้างอิงอื่นๆ. วงจรชีวิตของอนุภาคบางตัว สั้นมาก เช่น วงจรชีวิตของอนุภาค Higgs boson เท่ากับ 1.56 x 10 -22(ยกกำลัง -22) นาที.

 

(2) ชีวิตจักรกล (mechanical life system) ระบบชีวิต ของเครื่องจักรกล หุ่นยนต์ ซึ่งต้องอาศัย อุณหภูมิ อากาศ แรงกล แรงดัน ไฟฟ้า แม่เหล็ก เป็นตัวขับเคลื่อน ได้แก่ เครื่องจักรกล หุ่นยนต์ โปรแกรม. ในอนาคต ชีวิตจักรกล อาจได้รับการพัฒนาถึงขั้น การเชื่อมต่อระบบประสาทของสิ่งมีชีวิต เช่น เชื่อมมนุษย์เข้ากับเครื่อจักรกล ด้วยกระแสไฟฟ้าผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI). ในภาพยนตร์ แนววิทยาศาสตร์ – แฟนตาซี เรื่อง ฅนเหล็ก 2029 (The Terminator – 1984) สร้างและกำกับโดย เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) สร้างจากจินตนาการ ซึ่งอ้างอิงจากแนวคิด ชีวิตจักรกล.

 

ภาพ - ชีวิตจักรกล

 

 

(3) ชีวิตแบบโลก (earthly life system) เป็นระบบชีวิตที่เราเข้าใจกันดี. เป็นชีวิตที่ต้องอาศัย ธาตุที่เอื้อต่อการมีชีวิต [04] คือ ออกซิเจน น้ำ คาร์บอน และธาตุอื่นๆ. เมื่อนำชีวิตแบบโลก เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ กลไกชีวะ, โลกมนุษย์ (earth) ก็คือสิ่งมีชีวิตแบบหนึ่ง ประกอบด้วย ธาตุที่เอื้อต่อการมีชีวิต และ เป็นแหล่งกำเนิดสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย. ชีวิตแบบโลก มีปัจจัย 3 ประการ เป็นตัวขับเคลื่อน คือ ความต้องการพื้นฐาน ในการบริโภค เงื่อนไขและการตอบสนอง และ ความสัมพันธ์ของปัจจัยแวดล้อม.

 


[04]  ร่างกาย (body) ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย (พืช สัตว์ มนุษย์) ประกอบด้วยธาตุต่างๆ คือ นามรูป เช่น มหาภูตรูป (ดิน น้ำ ไฟ ลม) เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ (บาลี นิทาน . สํ . 16/51/91.)

 

การจัดกลุ่มระบบชีวิตของ มนุษย์ – สัตว์ – พืช, สังคม – วัฒนธรรม – สิ่งแวดล้อม. นักวิทยาศาสตร์ ใช้เกณฑ์การแบ่งกลุ่มของสิ่งมีชีวิต ตามลักษณะทางร่างกาย ที่มีร่วมกัน จากเกณฑ์กว้างๆ ไปจนถึงเกณฑ์เฉพาะเจาะจง ได้แก่ อาณาจักร (kingdom) ไฟลัม (phylum) คลาส (class) อันดับ (order) วงศ์ (family) สกุล (genus) และ ชนิด (species).

 

ภาพ - ชีวิตแบบโลก

 

 

(4) ชีวิตระบบขันธ์–5 (Khandha : The Group of Five-Existence) เป็นระบบชีวิตที่ระบุเฉพาะมนุษย์ และสัตว์บางจำพวก (เทวดา วินิบาต). ชีวิตระบบขันธ์–5 กล่าวถึงความสัมพันธ์และกลไก ระหว่างกาย (สรีระ ประสาท การรับรู้) กับ จิต (การปรุงแต่งทางใจ) ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 หน่วย คือ รูป (corporeality body) ส่วนที่เป็นร่างกาย และพฤติกรรม, เวทนา (feeling | sensation) ความรู้สึก อารมณ์ สุข ทุกข์, สัญญา (perception) ความจำได้ ในความหมายของสิ่งต่างๆ (จำอดีต), สังขาร (mental formations) ความคิดปรุงแต่งของจิต (คิดอนาคต), วิญญาณ (consciousness) เป็นหน่วยควบคุม รับรู้ การเกิดขึ้น การดำรงอยู่ และการดับสลาย ของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และตัวของมันเอง.

 

ภาพ - ชีวิตระบบขันธ์-5

 

 

ในภาพรวมทั้งหมด ของระบบชีวิตทั้ง 4 กรอบอ้างอิง, ระบบชีวิต ก็คือ กลไก ที่ประกอบด้วย โครงสร้าง 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นรูป (physical) กับส่วนที่เป็นอาการ หรือ ปรากฏการณ์ จากโครงสร้าง 2 ส่วน ดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่า กลไกชีวิต มี 2 ประเภท คือ กลไกชีวะ-ฟิสิกส์ และ กลไกชีวะ-ชีวิต.

 

 

ตารางที่ 1.01 โครงสร้าง และประเภท ของกลไกชีวะ (bio-mechanics |
bio-physiology)

โครงสร้าง

รูป | กายภาพ (physical)

นาม | อาการ

กลไกชีวะ – ฟิสิกส์
(bio-mechanics)

วัตถุ – สสาร (body–matter)
เกิดจาก การหลอมรวม ของ อนุภาค อะตอม โมเลกุล เป็นวัตถุ สสาร ชิ้นส่วน อุปกรณ์ กลไก เทคโนโลยี ไฟฟ้า

เกิดปรากฎ (designation) เป็น วัฏจักร ของ แรง คลื่น อุณหภูมิ พลังงาน มิติ และ เวลา ในรูปแบบต่างๆ

กลไกชีวะ – ชีวิต
(bio-physiology)

ร่างกาย (corporeality body) หรือ รูปขันธ์ เกิดจาก การหลอมรวม ของธาตุต่างๆ เช่น คาร์บอน ออกซิเจน น้ำ (มหาภูตรูป 4 – ดิน น้ำ ลม ไฟ) และ ระบบไฟฟ้า

จิตภาพ (mentality)
เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

 

 

กลไกลชีวะ ให้คำอธิบาย ครอบคลุมทุกสรรพสิ่งในเอกภพ ทั้งที่เป็น วัตถุ ดวงดาว ธาตุ สสาร พืช สัตว์ มนุษย์. กลไกชีวะ – ฟิสิกส์ มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ตลอดเวลานั้น ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับมนุษย์ เพราะเป็นกฎของธรรมชาติของวัตถุธาตุ ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วเช่นนั้นเอง. แต่สำหรับชีวิตมนุษย์ มีการเกิด แก่ ตาย และวนไปสู่การเกิดอีก แล้วก็ต้องประสบกับ แก่ เจ็บ ตาย อีกนับรอบเป็นอนันต์ นั่นคือปัญหาใหญ่ ที่มนุษย์ไม่ต้องการ.

 

ทำอย่างไร มนุษย์จึงจะไม่แก่และไม่ตาย, มีเพียงบุคคลเดียว ที่ให้คำตอบได้ชัดเจน คือ ตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธะ. พระองค์เกิดมา ก็เพื่อสิ่งนี้ และค้นพบความจริง (อริยสัจ-4) เพื่อบอกวิธีตัดวงจร เกิด แก่ ตาย (ปฏิจจสมุปบาท) ด้วยการทำลายกำแพงการ “เกิด” เพราะ ถ้ามีเกิด ก็ต้องมีตาย. พระองค์ค้นพบว่า ตราบใดที่มนุษย์ ไม่ปล่อยวาง ขันธ์-5 วงจรเกิดแก่ตาย ก็ยังคงมีอยู่ตลอดไป อาจยาวนานกว่า รอบเกิดดับของจักรวาล. พระองค์ ทรงนำหลัก อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท และอริยสัจ-4 มาร้อยเรียงกัน แล้วบอกสอนแก่มนุษย์และเทวดา ที่สั่งสอนได้.

 

อิทัปปัจยตา เปรียบเสมือน ต้นธาตุ – ต้นธรรม ของระบบการเกิด การตาย. ระบบการเกิด มี 3 แบบ คือ

(1) ระบบการเกิด ภูตรูป (ธาตุ สสาร วัตถุ พืช) ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศธาตุ ซึ่งก็คือ การเกิดปรากฎของกลไกฟิสิกส์กลศาสตร์

(2) ระบบการเกิด นามรูป (ขันธ์-5) ได้แก่ สัตว์นรก (อบาย ทุคติ วินิบาต) สัตว์เดรัจฉาน เปรต มนุษย์ เทวดา พรหม

(3) ระบบการเกิด วิญญาณ.

 

ระบบการตาย อยู่ภายใต้หลักสังขตธรรม คือ มีการเกิดปรากฎ (อุปฺปาโท ปญฺญายติ) มีการเสื่อมสลาย (วโย ปัญฺญายติ) และเสื่อมต่อเนื่อง (ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํปญฺญายติ) แล้วไปสู่จุดจบ คือ ดับสลาย. สังขารธรรม บางประเภท มีห้วงเวลาของการเสื่อมยาวนาน เช่น การเกิดดับของดาวฤกษ์ ดาราจักร หลุมดำ การสลายของสาร ที่เกิดจาก แรงนิวเคลียร์อย่างอ่อน อายุขัยอันยาวนานของพรหม ในชั้นสุทธาวาส เป็นต้น. แต่บางประเภท มีอายุดำรงอยู่สั้นมาก เช่น การเกิดดับของอนุภาคฮิกส์ การเกิดดับของวิญญาณ และ สัตว์ประเภท โอปปาติกะ เป็นต้น. ทุกระบบการเกิด จะต่อเนื่อง หลังจากการตาย ในทันที.

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

มนุษย์กับการค้นพบ ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ศาสนา

 

 

มนุษย์ค้นพบความจริง ทางธรรมชาติ ผ่าน มโนทัศน์ การสัมพัทธ์ และ ความสัมบูรณ์. คำทั้งสามนี้ จะช่วยให้การเข้าถึงธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ และศาสนา เป็นไปได้โดยไม่ยาก. การศึกษา สัตตะธัมมะธาตุ ก็อาศัยกรอบคิดของ มโนทัศน์ การสัมพัทธ์ และ ความสัมบูรณ์ เช่นกัน.

 

มโนทัศน์ (concept) มีบทบาทสำคัญต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก ต่อการรับรู้ การเรียนรู้ ประสบการณ์ทั้งเก่าและใหม่. มุมมองของบุคคลคนหนึ่ง ณ เวลาหนึ่ง กำลังมอง ‘สิ่งหนึ่ง' แล้วได้ข้อสรุปเกี่ยวกับ สิ่งนั้น ในขณะที่อีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งยืนอยู่ต่างสถานที่กัน อาจจะต่างเวลากันหรือไม่ก็ได้ ก็มองสิ่งนั้นอยู่ แล้วได้ข้อสรุปในมุมมองที่ตนได้รับ.

สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ความจริง ที่บุคคลทั้งสองได้รับ มีความแตกต่างกัน (เหมือนมีความจริงเกิดขึ้น 2 - Your thruth and my truth may not be the same.) ขณะที่ความจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้น มีเพียงความจริงเดียว คือ ความจริงสัมบูรณ์ (absulutely). มุมมองเช่นนี้ เรียกว่า มโนทัศน์แบบสัมพัทธภาพ (conceptual relativity).

 

 

 

คำว่า สัมพัทธ์ (relatively) หมายถึง การเปรียบเทียบกันของ 2 สิ่ง. ของ 2 สิ่งนั้น อาจเป็นวัตถุธาตุ นามธาตุ หรือจิตธาตุก็ได้, สิ่งหนึ่ง เรียกว่า ผู้ถูกสังเกต (things) อีกสิ่งหนึ่ง เรียกว่า ผู้สังเกต (observer | spectator | watcher). เหตุการณ์ที่จะเรียกว่า มีความสัมพัทธ์กัน จะต้องมีองค์ประกอบ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ถูกสังเกต และฝ่ายผู้สังเกต. ฝ่ายผู้สังเกต จะมีมุมมองที่แตกต่างกับ ฝ่ายผู้ถูกสังเกต เช่น ความเร็วสัมพัทธ์ จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ มีความเร็ว 2 ขนาด เกิดขึ้นพร้อมกัน โดยที่ ความเร็ว ก. ถูกสังเกตโดย ผู้ถูกสังเกต ก – ก. ซึ่งอยู่ ณ จุดเดียวกับ ความเร็ว ก. กับ ความเร็ว ข. ซึ่งถูกสังเกตโดย อีกผู้หนึ่ง (ผู้สังเกต ข – ข) ซึ่งอยู่ห่างจาก ความเร็ว ก และ อยู่ห่างจาก ความเร็ว ข ผลที่ได้คือ มุมมองของ ก – ก กับ ข-ข ที่มีต่อ ความเร็ว ก และ ความเร็ว ข มีความแตกต่างกัน. ไม่อาจบอกได้ว่า มุมมองของฝ่ายใดถูกหรือผิด และแต่ละฝ่ายยืนอยู่ ณ ความจริง คนละสถานที่กัน.

 

ความสัมบูรณ์ (absolute) เป็นความจริงที่จบในตัวเอง ไม่ต้องเปรียบเทียบกับสิ่งใดๆ ไม่ต้องอธิบายขยายความเพิ่ม ไม่ต้องพิสูจน์การมีอยู่ ตัวตน คุณสมบัติใดๆ อีกแล้ว, มีความถูกต้อง ชัดเจน มั่นคง ไม่อาจทำลาย หรือลบล้างได้. ความสัมบูรณ์นี้ ปรากฏอยู่แล้วใน ปฏิจจสมุปบาท คือ เป็นสิ่งที่มีอยู่เช่นนั้นเอง (ตถตา), ไม่ผิดแผกไปจากสิ่งที่เคยเป็น (อวิตถตา), เมื่อเวลาผ่านไป ก็ไม่ผิดเพี้ยนแปรไปเป็นอย่างอื่น (อนัญญถตา), เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นปกติแล้ว ตามธรรมชาติ (ธัมมัฏฐิตตา), เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติ (ธัมมนิยามตา), เป็นสิ่งที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ดับไป (อิทัปปัจจยตา) เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น. การมี มโนทัศน์แบบสัมพัทธภาพ จะทำให้ผู้ศึกษา มองเห็นและเข้าถึง ความจริงสัมบูรณ์ได้ โดยไม่ยาก.

 

มโนทัศน์สัมพัทธภาพ จึงมีความเป็นอิสระ ที่จะไม่ทำให้บุคคลสองฝ่าย ซึ่งมีมุมมองต่อสิ่งเดียวกัน ปรากฎการณ์เดียวกัน ไปตัดสิน ถูก – ผิด ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เพราะเหตุที่มีมุมมองต่างกัน มีข้อสรุปแตกต่างกัน. และมุมมองของทั้งสองฝ่าย ไม่มีอิทธิพล ที่จะทำให้สิ่งนั้น เปลี่ยนแปลง ตามมุมมองของตน. ด้วยเหตุนี้ ถ้อยคำที่ว่า “ความจริง คือสิ่งสัมพัทธ์ (truth is relative)” นั้น เท่ากับรับรองว่า ความจริง กับ ความสัมบูรณ์ เป็นสิ่งเดียวกันนั่นเอง.

ไม่มีสัตว์ใดในโลก ที่มีภูมิปัญญาเท่ามนุษย์ และก็ไม่มีมนุษย์คนใด จะมีภูมิปัญญาเท่า ตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธะ. คำกล่าวนี้ ไม่เกินจริง และมิใช่เป็นการเหยียดศาสดาของศาสนาอื่น. ชีวิตหลังการตาย ของผู้นับถือศาสนาแนวเทวนิยม ขึ้นอยู่กับพระเจ้าบันดาล แต่พุทธศาสนา เป็นศาสนาแนวอเทวนิยม ไม่มีพระเจ้าบันดาล. เงื่อนไขการเกิดการตาย ขึ้นอยู่กับการปล่อยวาง ปัจจัยที่เป็นต้นเหตุการเกิดของแต่ละคน (ไม่มีการเกิด ก็ไม่มีการตาย). การค้นพบความจริงข้อนี้ พระองค์เรียกว่า อริยสัจ-4 , ทำให้พระองค์ได้รับการขานพระนามว่า “อรหันตสัมมาสัมพุทธะ”. การตรัสรู้อริยสัจสี่ เป็นความรู้ ความจริง ในปริมาณอันน้อยนิด จากความรู้ความจริงทั้งมวล ที่มีในจักรวาล และเป็นความจริงแท้ตลอดกาล ไม่มีผู้รู้ใดๆ สามารถคัดค้านได้.

 

 

•  พุทธวจน – อะไรคือใบไม้ในป่า อะไรคือใบไม้ในกำมือ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำใบไม้สีสปา ที่ร่วงอยู่ตามพื้นดินขึ้นมาหน่อยหนึ่งแล้ว ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายเข้าใจว่าอย่างไร ใบไม้สีสปาที่เรากำขึ้นหน่อยหนึ่งนี้มาก หรือว่าใบไม้สีสปาที่ยังอยู่บนต้นเหล่านั้นมาก.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ใบไม้ที่พระผู้มีพระภาคทรงกำขึ้นหน่อยหนึ่งนั้นเป็นของน้อย ส่วนใบไม้ที่ยังอยู่บนต้นสีสปาเหล่านั้นย่อมมีมาก.

ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ธรรมะส่วนที่เรารู้ยิ่งด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ไม่กล่าวสอนนั้น มีมากกว่าส่วนที่นำมากล่าวสอน.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุไรเล่าเราจึงไม่กล่าวสอนธรรมะส่วนนั้นๆ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่า ธรรมะส่วนนั้นๆ ไม่ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด.

ที่มา : พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 12. หน้า 109. | บาลี - มหาวาร. สํ. 19/548/1712.

 

 

ในเอกภพนี้ มีสิ่งลี้ลับซ่อนอยู่มากมาย ที่มนุษย์ทั่วไปไม่รู้, แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ทุกเรื่อง. แต่การ “ตรัสรู้” ของตถาคต เปิดเผยให้เห็นความจริงแท้ ทุกซอกมุมในเอกภพ. พลังการหยั่งรู้ของพระองค์ เป็นสิ่งลึกซึ้ง เป็นความรู้ยิ่ง ดังที่พระองค์ต รัสแก่ภิกษุสาวก เรื่องบริษัทสองจำพวก ไว้ว่า “... ตถาคตภาสิตา-อันเป็นตถาคตภาษิต ; คมฺภีรา - อันลึกซึ้ง, คมฺภีรตฺถา - มีอรรถอันลึกซึ้ง, โลกุตฺตรา - เป็นโลกุตตระ, สุญฺญตปฏิสํยุตฺตา - ประกอบด้วยเรื่องสุญญตา ...”. [05]  แท้จริง พระองค์ไม่ได้เก็บสิ่งที่ตรัสรู้ทั้งหมด ไว้ในหน่วยความจำของสมอง แต่พระองค์ใช้กระบวนการหยั่งรู้ (สมาธิ) เข้าถึงความจริงทั้งหลาย ที่มันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แล้วนำออกมาอธิบาย เป็นคราวๆ ไป และเมื่อเมื่อใช้เสร็จแล้ว พระองค์ก็ปล่อยวาง ให้ความจริงนั้น กลับคืนสู่ธรรมชาติ.

 

[05]  อริยสัจจากพระโอษฐ์ 1. [ซอฟต์แวร์ ].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 505–506.

 

พลังการหยั่งรู้ (ตรัสรู้) ของตถาคต

มีความคมชัด ยิ่งกว่าลำแสงเลเซอร์ ที่นักวิทยาศาสตร์
ประดิษฐ์ขึ้น

มีพลังยิ่งกว่ารังสีเอ็กซ์ ที่พวยพุ่งออกจากพัลซาร์ หรือ ศูนย์กลางของหลุมดำ

มีทัศนะแล่นไปในเอกภพ ได้ไกลยิ่งกว่าแสง

มีความเล็กละเอียด ยิ่งกว่าอนุภาคใดๆ สามารถชอนไชไปได้ ทั่วทุกอณูในจักรวาล

มีความสะอาดและว่างเปล่า ยิ่งกว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ เรียกว่า สสารมืด

ความสะอาดและว่างเปล่านั้น เสมือน “หน่วยความจำ” ที่มีปริมาตรความจุ มากมายมหาศาล.

 

 

ถ้านำอักขระ ที่เป็นคำสอนทั้งหมดของตถาคต มาต่อเรียงกัน จะมีปริมาณ น้อยกว่าทฤษฎีหลักการ ของนักวิทยาศาสตร์รวมกัน มากมายหลายเท่า. แต่สิ่งที่ตถาคตตรัสรู้ และนำมาเปิดเผย กลับมีประโยชน์ ต่อมนุษยชาติเป็นอย่างยิ่ง เป็นวิถีทางเดียวที่ทำให้มนุษย์ หลุดพ้น จากวงจร ความทุกข์ [06] ที่ร้อยรัดมนุษย์เอาไว้อย่างแน่นหนา. ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ พยายามศึกษาค้นคว้า และสร้างสรรค์ สิ่งตอบสนองความความสุข ความต้องการ ของมนุษย์ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ความทุกข์) อย่างไม่หยุดยั้ง, ในมุมมองของตถาคตเห็นว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีประโยชน์. สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ กำลังศึกษาค้นคว้า ทดลอง, สิ่งที่สถาปนิกสร้างขึ้น, กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่นักปกครองกำหนดขึ้น รวมทั้งสิ่งที่นักปราชญ์ ศิลปิน กำลังประดิษฐ์คิดสรรสร้าง, เหล่านี้.

ตถาคตก็ยังเห็นว่า “ ... ไม่ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด.”  พระองค์ยังกล่าวอีกว่า สิ่งเหล่านั้นเป็น มิจฉาทิฏฐิ เป็นเดรัจฉานวิชา. ความรู้ใด ที่ไม่สามารถ แก้ปัญหาการเกิดของมนุษย์ ได้, ความรู้นั้น พระองค์เรียกว่า “อวิชชา”. การเรียนรู้อวิชชา มีประโยชน์เพียงแง่เดียว คือ เรียนรู้อวิชชาเพื่อจะปล่อยวางมัน แล้วก้าวไปสู่ทางหลุดพ้น (นิพพาน).

 

[06]  ตถาคต มอง “ความทุกข์” คือ ปรากฎการณ์การเกิด การเสื่อม ของวัตถุ บุคคล และเกิดการเสื่อมต่อเนื่องไปจนดับสลาย. และรวมทั้ง สิ่งใดก็ตาม ที่ทำให้มนุษย์ หลงติด มัวเมา เศร้าโศก ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คือ ความทุกข์ ทั้งสิ้น.

 

กล่าวได้ว่า อวิชชา ก็คือสิ่งที่รู้และความรู้ทั้งหมดทั้งมวลนั่นเอง ซึ่งรวมเอาสิ่งลี้ลับต่างๆ ในจักรวาลไว้ในนั้นด้วย. มนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับ สิ่งลี้ลับเหล่านั้น (ถ้ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับมัน จะเรียกมันว่า สิ่งลี้ลับได้อย่างไรกัน). มนุษย์เสียเวลากับการสืบค้น พิสูจน์ ติดต่อกันมาเป็นระยะ เวลาอันยาวนาน ยาวนานเท่าๆ กับ วิวัฒนาการของมนุษยชาติ เลยทีเดียว.

 

 

“สิ่งลี้ลับ (dark matter) หมายถึง สิ่งที่อยู่นอกเหนือ การรับรู้ของประสาทสัมผัสมนุษย์. นักวิทยาศาสตร์ เข้าถึงสิ่งลี้ลับเหล่านั้นด้วยการใช้เทคโนโลยี ร่วมกับ จินตนาการ. สิ่งลี้ลับ ที่ถูกค้นพบ พิสูจน์ และยืนยันแล้ว ก็ไม่ใช่สิ่งลี้ลับอีกต่อไป. ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ เกี่ยวกับ จิต วิญญาณ ได้บ้างแล้ว เช่น การระลึกชาติ แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร. เอกภพ และ จิตวิญญาณ ยังคงเป็นสิ่งลี้ลับ สำหรับโลกวิทยาศาสตร์อีกยาวนาน.”

 

 

สรรพสิ่งในเอกภพนี้ ได้ถูกแบ่งไว้แล้ว 2 ประเภท คือ วัตถุธาตุ ซึ่งเรียกขานได้หลายชื่อ เช่น ธาตุ สสาร วัตถุ ภูตรูป และ จิตธาตุ ซึ่งเรียกขานได้หลายชื่อเช่นกัน เช่น จิต มโน วิญญาณ สังขาร นามรูป เจตนา ทิฏฐิ. เป้าหมายของการนำเสนอ ปรากฎการณ์ สัตตะธัมมะธาตุ หรือ ธัมมะธาตุ 7 ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์ มองสิ่งเหล่านี้ ด้วยความลุ่มลึกต่างกันอย่างไร (บทที่ 1 วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์ นวัตกรรมทางปัญญา ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ) และมีส่วนสนับสนุนกันอย่างไร. เพื่อศึกษาคุณสมบัติ และพฤติการณ์ต่างๆ ของวัตถุธาตุ ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ และตถาคตมองเห็น เหมือนหรือแตกต่างกัน มากน้อยเพียงใด โดยแบ่งประเด็น ลักษณะและคุณสมบัติที่ศึกษา ออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่ม มวลสาร พลังงาน (บทที่ 2) ว่าด้วยคุณสมบัติความเป็น มวล-อนุภาค, แรง – คลื่น, และ อุณหภูมิ – พลังงาน. กลุ่ม มิติ กาลอวกาศ (บทที่ 3) ว่าด้วยคุณสมบัติ มิติ กาลอวกาศ – รูปทรง และ คุณสมบัติ วัฎจักร-อนันต์.

 

ขอบเขตการศึกษาค้นคว้า ด้านวิทยาศาสตร์ ไปได้ไกลแค่วัตถุธาตุเท่านั้น จะไม่ข้ามเลยไปถึงจิตธาตุ. ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของฝั่งพุทธศาสน์ ที่จะรับช่วงต่อ ในการอธิบายลักษณะและคุณสมบัติของ จิตธาตุ (บทที่ 4) ว่าด้วยคุณสมบัติที่เป็น นามรูป – วิญญาณ – สังขาร และ คุณสมบัติ วิมุตติ – นิพพาน. โดยลงลึกในรายละเอียด เรื่องฟิสิกส์แห่งจิต (บทที่ 5) ว่าด้วยบทบาท ขันธ์-5 สังขารธรรม-6 วิญญาณ สัตตา และวิมุตติญาณทัสสนะ.

 

นักวิทยาศาสตร์ พยายามจะควบคุมธรรมชาติ ด้วยการคิดค้นกฎทางด้านฟิสิกส์ต่างๆ ขึ้นมามากมาย แต่กฎเหล่านั้น ก็มีข้อจำกัด, เนื่องจาก ใช้ได้เฉพาะวัตถุธาตุเท่านั้น ไม่สามารถอธิบายจิตธาตุได้. การนำเสนอ กฎมูลฐานของธรรมชาติ (บทที่ 6) เพื่อหาทางออก ให้แก่กฎทางด้านฟิสิกส์ ที่ยังไม่ลงตัว เช่น กฎการรวมแรงทั้งสี่ ของกลศาสตร์. และความไม่แน่นอน ที่กลศาสตร์ควอนตัม ต้องเผชิญ (หลักความไม่แน่นอน, คุณสมบัติคู่ อนุภาค/คลื่น และ การกระเพื่อมของที่ว่าง).

ปรากฎการณ์ต่างๆ ของธัมมะธาตุทั้งหมดทั้งมวล ที่เป็นวัตถุธาตุและจิตธาตุ สามารถอธิบายได้ด้วย ลักษณะ–สมบัติของธัมมะธาตุ 7 ประการ. นำไปสู่บทสรุป (บทที่ 7) อันอาจเป็นข้อยุติ ในการค้นหาความจริง ของธรรมชาติฝ่ายสมมุติ กับ ธรรมชาติฝ่ายปรมัตถ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ เป็นนวัตกรรมการสื่อสาร สู่การรู้แจ้งเห็นจริง.

 

 

[อ่านต่อ] บทที่ 1 วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์ : นวัตกรรมทางปัญญา ของเผ่าพันธุ์มนุษย์

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

บทนำ – สัตตะธัมมะธาตุ : องค์รวมชีวิต ภายใต้ทฤษฎีเดียวกัน

บทที่ 1 วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์ : นวัตกรรมทางปัญญา ของเผ่าพันธุ์มนุษย์

1.1 พันธกิจของ วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์
1.2 สิ่งที่พุทธศาสน์ ค้นพบ อาจเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ กำลังค้นหา
1.3 ความจริงที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ อาจถูกลบล้างได้ตลอดเวลา
แต่ความจริงที่พระตถาคตตรัสรู้ เป็นความจริงแท้ตลอดกาล

บทที่ 2 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : มวลสาร พลังงาน 

2.1 มวล – อนุภาค
2.2 แรง – คลื่น
2.3 อุณหภูมิ – พลังงาน

บทที่ 3 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : มิติ กาลอวกาศ

3.1 มิติ กาลอวกาศ – รูปทรง
3.2 วัฎจักร – อนันต์

บทที่ 4 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : จิตธาตุ

4.1 นามรูป – วิญญาณ – สังขาร
4.2 วิมุตติ – นิพพาน

บทที่ 5 ฟิสิกส์แห่งจิตวิญญาณ

5.1 กายภาพของจิตวิญญาณ
5.2 กระบวนการปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย
5.3 การหลุดพ้น การบรรลุธรรม

บทที่ 6 กฎมูลฐานของธรรมชาติ

6.1 ความจริงสัมบูรณ์ ของ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
6.2 กฎของเวลา
6.3 กฎแห่งนิรันดร์
6.4 กฎสมดุล
6.5 สัมพัทธภาพ (Relativity)
6.6 กฎการอนุรักษ์ (Conservation law)
6.7 มาตรวัด กรอบอ้างอิง

บทที่ 7 ปรากฏการณ์สัมบูรณ์ของสรรพสิ่ง

7.1 ปรากฏการณ์ร่วม วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์
7.2 สัมพัทธภาพของ วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์

บทสรุป – สัตตะธัมมะธาตุ : ทฤษฎีเดียว อธิบายทุกสรรพสิ่ง

ประมวลศัพท์และคำสำคัญ

บทความ (สรุปจากหนังสือทั้งเล่ม)

 

 

 

  thinking focus new idea today
คำคม คำคิด แง่คิด ชีวิตดี
igood media
หน้าแรก - ชุมชน คนคิดดีวรรณกรรม - วิชาการ - บทความ เรื่องสั้น ร้อยกรอง เพลงภาพยนตร์ - บทภาพยนตร์ ภาพยนตร์ตัวอย่าง วิดีโอ มิวสิควิดีโอ
นิเทศศาสตร์ - วิชาเรียน บรรยาย ตำรา เอกสารการเรียน สื่อการเรียน ถาม ตอบ
 


igood media copyright
 
SUDIN CHAOHINFA, igoodmedia.net : Administration and Producer
Copyright © 2010-2021 intelligence good media homeschool.
All rights reserved. me@igoodmedia.net